ความจริงเกี่ยวกับ บทสวดโพชฌังคปริตร คาถาที่ไม่เหมาะกับการสวด (อย่างเดียว) !
Secret เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินได้ฟังว่า หากเจ็บป่วยหนักให้สวดมนต์ บทสวดโพชฌังคปริตร แต่ท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวว่า บทสวดบทนี้เป็นบทสวดที่ไม่เหมาะสำหรับการสวด
ท่าน ว.วชิรเมธี อธิบายว่า “ โพชฌงค์นั้นไม่เหมาะสำหรับการสวด แต่เหมาะสำหรับการปฏิบัติ เพราะเป็นหลักธรรมสำหรับการฝึกเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง ลำพังการสวดโดยที่ไม่เข้าใจ และไม่ได้ลงมือปฏิบัติ จะไม่มีผลมาก แต่การที่ในสมัยพุทธกาล เวลามีพระอาพาธ ท่านสวดบทนี้ ฟังแล้วหายป่วย ก็เพราะท่านเหล่านั้นเข้าใจเนื้อหาที่เป็นภาษาบาลีเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว การฟังสวดก็คือการทบทวนแก่นธรรม พาใจมาเกาะอยู่ที่ธรรม ทำให้เกิดความสดชื่นรื่นเริงในธรรม เป็นการย้ายจิต จากการเกาะติดอยู่กับความเจ็บไข้มาไว้ที่ธรรม ก็จะทำให้จิตเกิดมีความเบาสบาย เมื่อจิตสดชื่นรื่นเริง โอกาสหายป่วยก็เป็นไปได้ เพราะจิตกับกายอาศัยกัน
เรื่องนี้ผู้เขียนเคยทดลองปฏิบัติดูด้วยตนเอง ก็รู้สึกว่าได้ผลมาก เช่น (ขออภัยที่เล่าเรื่องของตัวเอง) คราวหนึ่งระหว่างเดินทางอยู่ต่างประเทศ ผู้เขียนไม่สบาย นอกจากนอนพักแล้ว จึงให้ลูกศิษย์อ่านหนังสือธรรมะให้ฟัง (เรื่องอริยสัจ 4 ของท่านสุเมโธ) ก็ปรากฏว่า จิตตื่นตัวมาเกาะเกี่ยวอยู่กับธรรมะที่ได้ฟัง และมีอาการสดชื่นรื่นเริงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เพราะจิตได้กินอาหารใจคือธรรมะนั่นเอง
ดังนั้นแทนที่จะสวดเพื่อฟังอย่างเดียว ควรหาหนังสือธรรมะที่มีแก่นธรรมดี ๆ มาอ่านให้ผู้ป่วยฟัง ก็จะทำให้เข้าใจในธรรม เมื่อมีความเข้าใจในธรรม ความสว่างก็เกิดขึ้น จิตจะสดชื่นรื่นเริงและสว่างไสว คราวนี้พอใจไม่ป่วย กายก็อาจหายป่วยได้ง่าย ๆ หรือแม้ไม่หายป่วย แต่ก็ได้ปัญญาที่จะทำให้อยู่กับความป่วย อย่างคนที่ไม่ป่วย เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “กายป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วย” นั่นเอง”
ที่มา : นิตยสาร Secret
ภาพ : https://pixabay.com
หนังสือแนะนำดีๆ เกี่ยวกับ โพชฌงค์
- ธรรมะติดปีก โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
- โพชฌงค์ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
บทความน่าสนใจ
พลานุภาพของการสวดมนต์ จากพระไตรปิฎก
ปาฏิหาริย์จากการสวดมนต์ เติมเต็มความสุขของลมหายใจสุดท้าย
สวดมนต์ทำไม และสวดอย่างไรไม่เป็น “มนต์คาถา” ท่านว.วชิรเมธีมีคำตอบ
อิติปิโส : สวดกี่จบก็คบได้ | ท่าน ว. คลายความสงสัยเรื่องการสวดมนต์