หลวงปู่จูม พันธุโล “ผู้สร้างความเข้มแข็งให้พระกรรมฐาน”
หลวงปู่จูม พันธุโล
วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี
หลวงปู่จูม พันธุโลหรือพระธรรมเจดีย์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ.2431 ณ บ้านท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นบุตรคนที่ 3 (ในจำนวนทั้งหมด 9 คน) ของนายคำสิงห์ และนางเขียว จันทรวงศ์ ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ เด็กชายจูม จันทรวงศ์ มีอุปนิสัยเรียบร้อย สนใจในการทำบุญทำกุศลตั้งแต่เด็ก ชอบติดตามบิดามารดา หรือคุณตาคุณยายไปวัดสม่ำเสมอ จึงได้มีโอกาสพบเห็นพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ
หลังจากเรียนจบระดับประถมศึกษา เด็กชายจูมได้บรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ.2442 เมื่ออายุ 11 ปี ท่านจำพรรษาที่วัดโพนแก้ว จังหวัดนครพนม และได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม รวมทั้งระเบียบปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีของวัดโพนแก้วเป็นเวลา 3 ปี
การศึกษาเล่าเรียนของพระสงฆ์ในสมัยนั้นเป็นการเรียนอักษรสมัย คือ อักษรขอม อักษรธรรม และภาษาไทย สามเณรจูม จันทรวงศ์ สามารถเขียนอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม เป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ ท่านยังได้ฝึกหัดเทศน์มหาชาติ (เวสสันดรชาดก) เป็นทำนองภาคอีสาน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาญาติโยมทั้งบ้านใกล้และบ้านไกล
ต่อมา สามเณรจูม จันทรวงศ์ ได้ติดตามพระเทพสิทธาจารย์ (พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย) และคณะสานุศิษย์ ออกเดินทางรอนแรมด้วยเท้าเปล่าไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ณ สำนักวัดเลียบ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและแนวกรรมฐาน
สามเณรจูมได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง จนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัตรปฏิบัติและแนวทางเจริญกรรมฐานเป็นที่น่าพอใจ สามเณรจูมมีอุปนิสัยยึดมั่นในพระธรรมวินัยประพฤติดีปฏิบัติชอบสร้างสมบารมีเรื่อยมา จนได้เป็นพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นปูชนียบุคคลของชาวอีสานในเวลาต่อมา
หลังจากที่ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น เป็นเวลา 3 ปี พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ได้กราบลาพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง แล้วพาคณะสานุศิษย์รวมทั้งสามเณรจูมเดินทางกลับจังหวัดนครพนมด้วยเท้าเปล่าเหมือนตอนเดินทางมา
สามเณรจูมอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ.2450 และในปีถัดมาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ให้มีความรู้ทางด้านนักธรรมและบาลีให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนั้นยากลำบาก ต้องอาศัยพ่อค้าหมูเป็นผู้นำทาง ผ่านจังหวัดสกลนครขึ้นเขาภูพาน และต้องนอนค้างคืนบนสันเขาภูพานถึง 2 คืน ผ่านจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น อำเภอชนบท และหมู่บ้านต่างๆ จนกระทั่งถึงจังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นรวม 24 วัน จากนั้นโดยสารรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพฯ เพราะในสมัยนั้นทางรถไฟมาถึงแค่เมืองโคราชเท่านั้น
พระภิกษุจูม พนฺธุโล ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ณ สำนักวัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลาหลายพรรษา โดยตั้งใจศึกษาด้วยความวิริยะและอุตสาหะ นอกจากนั้นท่านยังเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีผลงานด้านการปกครองคณะสงฆ์ ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมและวางรากฐานการปฏิบัติกรรมฐานโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน ท่านสอนปริยัติด้วยตนเอง ลูกศิษย์ของท่านสอบได้ทั้งนักธรรมและเปรียญธรรมจำนวนมาก
หลวงปู่จูมอาพาธและได้รับการผ่าตัดก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2505 เมื่ออายุ 74 ปี ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
เรื่องเล่า “ผู้สร้างความเข้มแข็งให้พระกรรมฐาน”
หลวงปู่จูมจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เป็นเวลานานถึง 15 ปี จึงได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ชื่น สุจิตโต) และพระสาสนโสภณ ให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งเป็นวัดคณะธรรมยุตวัดแรกในจังหวัดอุดรธานี ท่านได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งการทำนุบำรุงด้านการศึกษาและวางรากฐานการปฏิบัติกรรมฐาน
ครั้งหนึ่งท่านเคยอาราธนาหลวงปู่มั่นอาจารย์ของท่าน ซึ่งตอนนั้นจำพรรษาอยู่ที่ทางภาคเหนือ ให้ลงมาที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อช่วยเป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้วงการพระกรรมฐาน ถือเป็นการฟื้นฟูคณะธรรมยุตครั้งใหญ่ในจังหวัดแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รายนามครูบาอาจารย์ที่หลวงปู่จูมเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้นั้นมีจำนวนมาก เช่น หลวงตามหาบัว หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่พรหม หลวงปู่หลุย หลวงปู่เหรียญ หลวงปู่หลอด หลวงตาแตงอ่อน หลวงปู่หล้า หลวงตาพวง หลวงปู่อ่ำ และหลวงตาทองคำ เป็นต้น

แถวหลัง จากซ้าย : พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน), พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่สวัสดิ์ ขนฺติวิริโย), พระพ.ต.พักตร์ ญาณิสฺสโร (มีนะกนิษฐ) และจ่าคำมูล สีดาลาด นายทหารคนสนิท
คำสอน
คนเราจะได้ดีมันต้องมีหลัก ถ้ามีหลักภายนอกเรียกว่าหลักฐาน
คนที่ไร้หลักฐานก็อยู่อย่างเลื่อนลอย คือไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน
แม้หลักฐานข้างในก็จำเป็นต้องมี คือ
ต้องให้จิตใจอยู่อย่างมีอุดมคติที่มั่นคงและแน่วแน่
อย่าให้ใจโลเลเหลาะแหละเหลวไหล…
และจะอดทนเพียรพยายามในการจำกัดราคะ โทสะ โมหะ
ให้สุดความสามารถ เพราะไหน ๆ เราก็รู้อยู่แล้วว่า
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น
ต้นเหตุที่สิ่งเหล่านี้เกิดมี เพราะตัณหาดังนั้น
เมื่อรู้ตัวการที่ก่อให้เกิดทุกข์ฉะนี้แล้ว
จะมัวรีรอให้เสียชาติเกิดอยู่ทำไม
ที่มา :
๑๐๐ พระสงฆ์ ๑๐๐ เรื่องเล่า ๑๐๐ คำสอน – สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ : ลานธรรมจักร
บทความน่าสนใจ
“เทวดากับการสวดมนต์” เรื่องเล่าถึงเทวดาของ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
“ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน” หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล อาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต