อานาปานสติ

“อานาปานสติ” กรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

ท่านพุทธโฆสะ ปราชญ์เลื่องชื่อทางพุทธศาสนา ประมวลแนวปฏิบัติที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ 40 อย่าง หรือกรรมฐาน 40 เมื่อเปรียบเทียบกรรมฐานทั้ง 40 แล้ว อานาปานสติ หรือการพิจารณาลมหายใจ คือแนวปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญมากกว่ากรรมฐานใด ๆ

ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญอานาปานสติว่าดีกว่าแนวปฏิบัติอื่น ๆ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ปฏิบัติง่าย

ไม่ต้องเตรียมการหรือพกพาเหมือนการฝึกกสิณ เช่น การใช้กสิณที่ต้องเพ่งลูกแก้วใส ผู้ปฏิบัติต้องเตรียมซื้อลูกแก้ว เตรียมที่วางให้เหมาะสม เตรียมห้องให้สงบเงียบ เวลาเปลี่ยนสถานที่ปฏิบัติ ก็ต้องพกพาติดตัวไปด้วย เหล่านี้ล้วนยุ่งยากและเป็นภาระ ฯลฯ

แต่ลมหายใจนั้นมีอยู่กับตัวผู้ปฏิบัติตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย อยู่ที่ไหน ไปที่ใด ลมหายใจก็ติดตามไปเสมอ ไม่ต้องเตรียมการ ไม่ต้องพกพา ผู้ปฏิบัติเพียงแค่น้อมจิตเข้าไปกำหนดรู้ลมหายใจเท่านั้น

2. สุขสบาย

เมื่อจิตเป็นหนึ่งเดียวกันกับลมหายใจ และความคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ จางหายไป จะรู้สึกเบากาย – เบาใจเหมือนตัวลอยอยู่กลางอากาศ มีความรู้สึกดื่มด่ำ เอิบอิ่ม อยู่ก็เป็นสุข ไปก็สบาย

พระพุทธองค์ พระมหาสาวก พระอรหันตสาวก และพระปัจเจกพุทธเจ้า ต่างใช้ลมหายใจเป็นที่พักจิต เพื่อให้หายจากความเหน็ดเหนื่อย ลมหายใจจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุขวิหารี” อยู่ก็เป็นสุข ไปก็สบาย

3. กว้างใหญ่

เมื่อลมหายใจดับ ความคิดดับ และจิตดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์ภายในที่ละเอียดเบาบาง ขณะนั้นจิตจะเป็นจิตที่กว้างใหญ่ ไม่คับแคบ ไม่มีขีดจำกัดเหมือนแต่ก่อน เหมือนกับอยู่ในอวกาศที่เวิ้งว้าง มองไปทางใดก็เห็นได้ชัดเจน ทะลุทะลวง

4. ลึกซึ้ง – ลึกล้ำ

จิตที่รวมตัวเพราะลมหายใจ เมื่อเข้าสู่ความสงบที่ลึกซึ้ง จนถึงลึกซึ้งที่สุดแล้ว จิตจะดับจากอารมณ์หยาบ ๆ เข้าไปสู่อารมณ์ภายในที่ละเอียดสูงขึ้นไปตามภูมิตามชั้น เช่น จิตดับการรับรู้กายประสาททั้งหมด เหลือแต่รับรู้อารมณ์ที่เป็นนามธรรมภายใน จากนั้นจิตจะดับการรับรู้อารมณ์ที่เป็นนามธรรมภายในที่หยาบ เข้าไปสู่อารมณ์ที่เป็นนามธรรมภายในที่ละเอียดไปตามลำดับ

เมื่อจิตละเอียดขึ้น อารมณ์ต่าง ๆ ที่เป็นอาการของจิตก็จะละเอียดขึ้นตามไปด้วย กระทั่งถึงจุดที่ทั้งจิตและอารมณ์ทั้งหมดดับไปไม่มีเหลือ อาการอย่างนี้เป็นผลของสมาธิขั้นสูงสุดในทางสมถภาวนาในพุทธศาสนาเรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” ซึ่งผู้ปฏิบัติจะมีลักษณะเหมือนคนตาย ลมหายใจดับไปทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่คนตาย เพราะกายยังมีอุณหภูมิรักษาไว้ไม่ให้แตกสลาย

 

อานาปานสติ
Photo by Kevin Bluer on Unsplash

5. ช่วยจิตเข้าสู่ความว่างได้ไว

แนวปฏิบัติอื่น ๆ นำจิตเข้าสู่ความว่างได้ช้า ผู้ปฏิบัติต้องเสียเวลาดับนิมิต ก่อนจะเข้าสู่ความว่างได้ เช่น เพ่งกสิณ หรือเพ่งอสุภะที่เมื่อเพ่งไปแล้วเกิดนิมิต ผู้ปฏิบัติต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่จะดับนิมิตอันเป็นผลจากการเพ่งให้ได้ก่อน เพื่อนำจิตเข้าไปสู่ความว่าง หากดับนิมิตออกจากจิตไม่ได้ จิตก็จะติดยึดอยู่กับนิมิตชนิดนั้น ๆ ไม่ดิ่งตัวเข้าไปสู่ความว่างซึ่งเป็นสมาธิลึกซึ้งกว่าได้

ส่วนการดูลมหายใจเข้า – ออกไม่จำเป็นต้องเสียเวลาดับนิมิตเพื่อเข้าสู่ความว่างเหมือนกสิณและอสุภะ เพราะลมหายใจเป็นธรรมชาติที่ว่างอยู่ในตัวแล้ว จิตผู้ปฏิบัติจะว่างเข้าไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ลงมือกำหนดลมหายใจเข้า – ออก จนกระทั่งเข้าสู่ความว่างสุด ๆ ความว่างที่ไม่มีอะไรจะให้ว่างอีก

หากผู้ฝึกลมหายใจได้นิมิต เช่น เห็นเป็นเหมือนดวงดาวหรือกลุ่มเมฆหมอก ก็ดับนิมิตเข้าสู่ความว่างได้ไม่ยาก เพราะนิมิตส่วนใหญ่ที่ได้จากการดูลมจะมีลักษณะไม่ต่างจากความว่างเลย

แต่นิมิตที่เกิดจากการเพ่งกสิณและอสุภะดับได้ยากมากเมื่อเปรียบกับนิมิตในการพิจารณาลมหายใจ เพราะนิมิตจากการเพ่งกสิณและเพ่งอสุภะเป็นนิมิตที่หยาบ และผู้ปฏิบัติต้องใช้ความยึดมั่นถือมั่นอย่างรุนแรง เพื่อให้นิมิตเกิดขึ้นในจิต เวลาจะกำจัดนิมิตออกจากจิตจึงต้องเสียเวลามากและไม่ง่าย ผู้ปฏิบัติที่ดับนิมิตไม่ได้ เป็นบ้าไปก็มาก

6. เปลี่ยนจิตได้หลายทาง

ผู้ฝึกลมหายใจจนชำนาญจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสมาธิ หรือชำนาญในการเปลี่ยนอารมณ์ตัวเอง ปล่อยวางอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่งได้ไว เช่น ทำให้รู้สึกอิ่มเอิบก็ได้ เปลี่ยนจิตที่กำลังอิ่มเอิบให้นิ่งเฉยเหมือนคนตายก็ได้ กำหนดดับอารมณ์ทั้งหมด ปล่อยให้จิตอยู่กับความว่างที่เวิ้งว้างก็ได้ ผู้สับเปลี่ยนอารมณ์ตัวเองได้อย่างฉับไวจะเป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ มีบุคลิกภาพหลากหลายในตัวเอง จะแสดงอาการให้คนเห็นอย่างใดก็ได้ตามที่ตัวเองต้องการ คนอื่นจับทางได้ยาก พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

7. เป็นทั้งสมถะ – วิปัสสนา

สมถะ คือ วิธีทำจิตให้สงบ มีความสุขสบายหายกังวัล

ส่วน วิปัสสนา คือ วิธีทำจิตให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็น ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด หลุดพ้นจากทุกข์ จิตสงบทำให้รู้สึกเป็นสุข การเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็น ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหมด หลุดพ้นจากทุกข์ จิตสงบทำให้รู้สึกเป็นสุข การเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่มันเป็นทำให้เกิดปัญญา ลมหายใจจึงให้ทั้งสุขและปัญญาในเวลาเดียวกัน กรรมฐานที่เป็น two in one อย่างอานาปานสติจึงไม่มี อานาปานสติดีอย่างนี้นี่เอง

พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญอานาปานสติมากกว่ากรรมฐานอื่น ๆ

 

ที่มา  อานาปานสติ…ลึกแต่ไม่ลับ โดย ส.ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

อานาปานสติ แบบฉบับ ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ทำสมาธิแบบ อานาปานสติภาวนา “ลมหายใจแห่งปัจจุบันขณะ”

ทำไมต้อง เจริญอานาปานสติ

อานาปานสติ ใช้ลมหายใจนี้จัดการความเครียดกันเถอะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.