มองใจต้องมองให้ถูกตัว ใจจึงจะดับทุกข์ได้ หากมองไม่ถูกก็ไม่หายทุกข์ เวลามีคนมาตำหนิแล้วเราทุกข์ นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้มองความรู้สึกที่กำลังทุกข์ขณะนั้น แต่เราไปมองคนที่ตำหนิเราแทน เราก็เลยทุกข์ไม่หยุด เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำ คนที่ทำให้เราทุกข์อยู่ข้างนอก ใจที่ทุกข์อยู่ข้างใน ดูใจทุกข์ต้องดูข้างใน ถ้าดูถูก ตัวทุกข์ก็ดับ แต่ถ้าเราส่งใจออกข้างนอกไปดูคนนั้นต่อ ความทุกข์ก็จะดำเนินต่อไปเช่นกัน แบบนี้เขาเรียกว่าดูผิดตัว (มองใจให้ถูก)
อาการดูผิดตัวเกิดขึ้นเพราะเรามองไม่เห็นความเป็นจริง ความเป็นจริงถูกซ่อนไว้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “อวิชชา”
อวิชชา คือ สิ่งปิดบังใจ ไม่ให้ใจของเราได้รับรู้ความจริง พูดง่าย ๆ ว่า อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะเราไม่รู้ความจริง จึงเข้าใจผิดว่า สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้หมดไปไหน ยังมีอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน ตรงนี้เองเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดความยินดียินร้ายตามมา ที่สำคัญก็คือ เป็นการยินดียินร้ายที่ผิดฝาผิดตัวเสียด้วย ที่เราทุกข์ใจจึงไม่ใช่อื่นไกลเลย แต่ทุกข์เพราะรักผิดตัว เกลียดผิดตัว สิ่งที่เราเห็นเราไม่ชอบ แต่เราไปชอบใจในสิ่งที่เราไม่ได้เห็น ปัญหาใจจึงเกิดขึ้นง่าย ๆ เท่านี้เอง ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว
ผิดตัวอย่างไร ตาเป็นอายตนะภายใน รูปเป็นอายตนะภายนอก ตากับรูปต้องกระทบกัน จากนั้นใจก็รับรู้ เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้นมาแล้ว รูปที่กระทบตานั้นก็จบไป รูปที่มาปรากฏขึ้นให้ใจรับรู้ก็จบไปแล้วเช่นกัน ทุกอย่างผ่านไปหมดแล้ว และไม่มีอะไรเหลือให้เราได้ยินดียินร้ายอีกแล้ว การที่เราไปรัก ไปเกลียดสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็น จึงเป็นการไปรักไปเกลียดความว่างเปล่า ไปชอบใจ ไปขัดใจในความไม่มีอะไร แล้วอย่างนี้จะสมความปรารถนาได้หรือ
หากมีนักร้องคนหนึ่งร้องเพลงเพราะ เราได้ฟังเพลงเพราะ ๆ แล้วก็ชอบใจ ถามว่าจริง ๆ แล้วเราชอบใจอะไรกันแน่ ชอบใจเสียงเพราะ ๆ หรือชอบใจเจ้าของเสียง เจ้าของเสียงกับเสียงเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ คนละสิ่งกัน แต่เวลาชอบใจเรากลับไปชอบใจเจ้าของเสียง ไม่ได้ชอบเสียง และวันดีคืนดีหากนักร้องคนนั้นเสียงเสียขึ้นมา ร้องเพลงเพราะ ๆ ให้เราฟังไม่ได้อีกเหมือนเดิม แทนที่เราจะไม่ชอบใจเสียง เรากลับไปไม่ชอบใจเจ้าของเสียงแทน นี่แหละคือการเกลียดผิดตัว เราได้ยินเสียง แต่กลับไปใส่ใจดูเจ้าของเสียงแทน แล้วแบบนี้จะไม่เกิดทุกข์ได้อย่างไร
ลองดูกันอีกสักหนึ่งตัวอย่าง เวลามีกลิ่นเหม็นโชยมากระทบจมูก ใจรู้สึก แทนที่เราจะดูไปที่ตัวกลิ่นนั้น เรากลับไปหาอะไรรู้ไหม เรากลับไปหาว่าที่มาของกลิ่นคืออะไรกันแน่ แล้วก็ไปรังเกียจที่มาของกลิ่น ถามว่า จริง ๆ แล้วกลิ่นหรือที่มาของกลิ่นกันแน่ที่มากระทบจมูกเรา กลิ่นใช่ไหม ไม่ใช่ที่มาของกลิ่นเสียหน่อย แต่เวลาเรารำคาญหรือขัดใจ เรากลับไปขัดใจในเจ้าของกลิ่นแทน นี่เป็นเพราะว่าเราไม่ได้มองดูตัวกลิ่นที่มากระทบจมูกให้ใจรู้ เพราะถ้าเราใส่ใจมองดูตัวกลิ่นที่มากระทบจมูก เราก็จะเห็นว่ากลิ่นนั้นหมดไปแล้ว
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจค้านว่าหมดไปแล้วได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่กลิ่นบางกลิ่นเราต้องทนดมอยู่ตั้งนานก็ยังไม่หายเหม็น
ในความเป็นจริงแล้ว ต้องบอกว่าทันทีที่กลิ่นมากระทบจมูกเราแล้ว มันก็หมดไป แต่ที่เรายังรู้สึกว่ากลิ่นยังอยู่ก็เพราะที่มาของกลิ่นยังอยู่ จึงมีกลิ่นตัวใหม่มากระทบใจอีกเรื่อย ๆ กระทบแล้วหมดไป ๆ ดังนั้น หากเราไม่ตั้งใจดูกลิ่นที่มากระทบให้ดี มัวแต่ดูที่มาของกลิ่นอยู่ เราก็จะรู้สึกว่ากลิ่นไม่เคยหมดไปเลย
เช่นเดียวกับความทุกข์ ความขัดใจ ความไม่ชอบใจของเรานั่นเอง
(มองใจให้ถูก)
ที่มา ใช้ทุกข์ดับทุกข์ โดย พระอาจารย์มานพ อุปสโม สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
“ไม่ยึด ไม่ทุกข์” – อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
บุคคลจะล่วงทุกข์ได้ก็เพราะทุกข์ ธรรมะโดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
“อายุ วรรณะ สุขะ พละ…ก็ใช่ว่าจะไม่ทุกข์” ธรรมะโดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล