ครูยอดธง เสนานันท์ ทั้งชีวิตอุทิศเพื่อมวยไทย
ยกเขาพระสุเมรุ ตาเถรค้ำฟัก มอญยันหลัก ปักลูกทอย คนไทยรวมถึงคนในวงการมวยไทยหลายคนแทบจะลืมเลือนไปแล้วว่าชื่อเหล่านี้คืออะไร แต่ไม่ใช่ ครูยอดธง เสนานันท์ หรือ ครูตุ๊ย เจ้าของค่ายมวยนานาชาติ บรมครูของวงการมวยไทยที่ติดคำปฏิญาณตนไว้บนจั่วของบ้านว่า “ข้าจะเทิดทูนศิลปะมวยไทยด้วยจิตวิญญาณ ด้วยความกตัญญูต่อชาติและแผ่นดินไทย”
“ไหนบอกครูซิว่า จบ ป.4 ไปแล้วอยากทำอาชีพอะไรกัน” เด็กๆ ต่างยกมือขึ้นตอบ บ้างอยากเป็นทหาร บ้างอยากเป็นครู เด็กชายตุ๊ยยกมือขึ้นตอบบ้าง
“ผมจะไปชกมวยกินครับ”
เมื่อเรียนจบ ป.4 เด็กชายตุ๊ยจึงเลิกเรียนหนังสือ เก็บสมุดดินสอเข้าตู้ หันมาเรียนในโรงเรียนมวยไทย ณ ลานดินหน้าบ้าน ใต้ต้นมะขามและต้นมะม่วง
นอกจากหนึ่งสมองและสองมือ อุปกรณ์การเรียนของเด็กชายตุ๊ยมีเพียงกางเกงหนึ่งตัว นานๆ ทีอาจจะมีอุปกรณ์เสริมเป็นกระสอบผ้าใบใส่ทรายหรือขี้เลื่อยเพื่อฝึกออกหมัดชกลูกมะนาวที่แขวนอยู่บนกิ่งไม้เพื่อฝึกสายตาและฝึกการหลบหลีก หรือเตะต้นกล้วยในสวนหลังบ้าน (ที่หากเตะแล้วตายเมื่อใด เด็กชายตุ๊ยเป็นต้องโดนแม่ด่าเมื่อนั้น!) ยามใดในเมืองมีงานวัดหรือมีการจัดงานประจำปี เด็กชายตุ๊ยจะมีมวยวัดเป็นสื่อการเรียนให้ดูฟรีติดขอบเวทีเกือบทุกครั้ง
“เสน่ห์มวยไทยอยู่ที่ศิลปะการชก ซึ่งมีทั้งหมัด เท้า เข่า ศอก เป็นอาวุธ มีอาวุธครบเครื่อง สมัยก่อนมีทุ่มทับจับหัก แต่พอมวยกลายมาเป็นกีฬา เลยเอาท่าเหล่านี้ออกไปเพราะอันตราย นอกจากนี้ยังมีจังหวะเข้า จังหวะรุก จังหวะรับ สวยงาม มีลูกทำและมีลูกแก้เสมอ”
เวลาผ่านไปเด็กชายตุ๊ยได้กลายเป็นไอ้ตุ๊ยนักชกมือทอง หากชีวิตที่พลิกผันทำให้ชายบนสังเวียนต้องผันตัวไปเป็นไต้ก๋งบ้าง ช่างตัดผมบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ความคิดและจิตใจของเขายังคงหวนกลับมาคิดถึงมวยไทยอยู่เสมอ และสุดท้าย เขาก็หนีหัวใจตัวเองไม่พ้นต้องกลับมายังเวทีผืนผ้าใบอีกรอบในฐานะ “ครูมวย”
“สมัยก่อนอายมากที่มีคนเรียกเราว่าครู เราไม่ใช่ครูสอนหนังสือเสียหน่อย ทำไมถึงเรียกครู แต่นานเข้าก็ยอมรับได้ เพราะเราเป็นครูมวย…คำว่าครูต้องเป็นผู้ให้ ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง และต้องทำตัวเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ เห็นเขาทำผิดต้องเตือน ครูจะไปเกเรหรือไม่มีเหตุผลไม่ได้ ไม่งั้นคนไม่ศรัทธา…”
“เด็กที่พ่อแม่หรือญาติๆ มาฝากไว้ให้อยู่ที่ค่ายเรา ทุกคนกินอยู่และเรียนหนังสือฟรี คนไหนอยากเรียนต่อเราก็ส่งจนจบ ใครอยากต่อยมวยก็ให้ต่อย ไม่อยากต่อยก็ให้มาช่วยดูแลนักมวย อยู่กันเหมือนพี่น้อง”
กฎการอยู่ร่วมกันของที่นี่มีเพียงข้อเดียวคือ ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ คนไหนมีปัญหาหรืออยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ก็จะถูกส่งกลับบ้าน!
เงินจำนวนไม่ใช่น้อยเสียไปกับการชุบเลี้ยงนักมวยและเลี้ยงดูเด็กที่พ่อแม่ฝากไว้ มื้อหนึ่งๆ ใช้ข้าวถึงสามกระสอบและกับข้าวนับสิบรวมถึงน้ำดื่มและของหวาน หากเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักของครู
“…เราไม่จำเป็นต้องเสียดายเงิน รวยก็ตาย ไม่รวยก็ตาย 5 บาท คนยังงัดออกจากปากศพเลย ตายไปเอาอะไรไปไม่ได้ เข้าเตาเผา เสื้อผ้าไหม้หมด บางคนเผาเสร็จยังเอากระดูกไปให้ปลากินอีก ไม่เหลือสักอย่าง เพราะฉะนั้นสู้เราสร้างประโยชน์ สร้างคนดีกว่า อย่างถ้าเราเลี้ยงร้อยคน ให้คน 30 คนได้รับอะไรจากเราก็ถือว่าดีแล้ว”
ชีวิตของครูตุ๊ยคลุกวงในอยู่กับวงการมวยมาทั้งชีวิต ทุกลมหายใจและสายเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของครูตุ๊ยจึงต้องการอนุรักษ์ประเพณีเก่าแก่นี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป…
“มวยไทยคือมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรษของไทยได้รักษาเอาไว้ดังนั้นคนไทยต้องสืบสาน เผยแพร่ และอนุรักษ์ต่อ ไม่ใช่ทำลายไม่อย่างนั้นมวยไทยจะสูญหายและถูกชาติอื่นกลืนไป”
คนไทยรู้จักท่าแม่ไม้มวยไทยเก่าๆ อย่าง หนุมานถวายแหวนจระเข้ฟาดหาง น้อยลงเรื่อยๆ เพราะครูมวยสมัยนี้ไม่สนใจที่จะสอนและคนไทยไม่สนใจที่จะรับรู้ บางคนเอาการพนันมาสอดแทรก ทำให้มวยไทยเสื่อมคุณค่าไป ซึ่งครูเสียใจ เพราะครูอนุรักษ์ เชื่อไหมว่าอีกหน่อยหลังรุ่นครูไป คนไทยจะไปเรียนมวยไทยต้องไปเรียนกับชาวต่างชาติ เพราะคนไทยไม่อยากเรียนมวยไทย จะไปเรียนกังฟู คาราเต้
“เด็กบางคนหันหลังให้มวยไทยไปเรียนคาราเต้ กังฟู เทควันโด ทั้งที่แค่เริ่มสมัครก็ต้องจ่ายแล้ว 2,000 บาท ซื้อเสื้อผ้าอีกหลายร้อย ในขณะที่มวยไทยมีแค่กางเกงขาก๊วยหนึ่งตัวหรือผ้าขาวม้าหนึ่งผืนก็เรียนได้แล้ว”
ในขณะที่คนไทยกำลังยกยอปอปั้นวัฒนธรรมต่างชาติ ครูเปิดค่ายมวยให้คนไทยได้เข้ามาใช้ฝึกซ้อมและเล่าเรียนมวยฟรี
ในขณะที่หลายคนฝึกพูด เรียน เขียน อ่านภาษาต่างประเทศครูเริ่มเขียนแบบเรียนและหลักสูตรมวยไทยส่งมหาวิทยาลัยทางภาคตะวันออกให้เปิดวิชา มวยไทยศึกษา
และในขณะที่หลายคนกำลังรอคอยห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ขายของอิมพอร์ตราคาแพง ครูกำลังตั้งพิพิธภัณฑ์มวยไทยขึ้นที่ค่ายมวยของครูเอง…
“บรรพบุรุษของเรากว่าจะดำรงซึ่งมวยไทยมาได้ใช้เวลาตั้งร้อยปีพันปี ให้มวยไทยพัฒนามาได้จนถึงทุกวันนี้ น่าเสียดายที่คนไทยลูกหลานไทยกลับไปบ้าอย่างอื่น…”
“ครูเชื่อว่า ส่วนหนึ่งที่คนไม่นิยมมวยไทย เพราะขาดการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐและเอกชน
“ในแต่ละปีมวยไทยโกยเงินเข้าไทยไม่ใช่น้อย คนเข้ามาดูมวยในไทยทำเงินเข้าไทยได้เท่าไร…เขาไม่ได้มาดูมวยไทยอย่างเดียว บางคนเอาเงินมาทิ้งในไทยด้วย อย่างมาซื้ออุปกรณ์ นวม กางเกง กระสอบทรายกลับไปยังบ้านเขา เงินเข้าประเทศเรา บางคนดูแล้วมาบอกให้ไปต่อยที่ต่างประเทศ เงินก็เข้าประเทศอีก แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยไม่สนับสนุนมวยไทย กลับไปทุ่มเงินให้กับกีฬาของต่างชาติมากมาย”
เสียงมอเตอร์ไซค์ดังแว่วเข้ามาเป็นระยะๆ มองไปทางหน้าต่างเห็นชาวต่างชาติผมสีทองเดินไปไหว้ครูมวยคนอื่นและจ่ายสตางค์ค่าเรียนที่โต๊ะเก็บเงิน
“ฝรั่งที่นี่อย่าไปจับมือเขาเช็กแฮนด์นะ เขาอยู่เมืองไทย เรียนมวยไทย ต้องรู้จักสวัสดีและต้องพูดภาษาไทย มาทั้งทีเขาต้องได้ประเพณีไทยกลับไปด้วย…ค่ายมวยนานาชาติมีคนมาจากทั่วโลกเพื่อขอฝึกมวยไทย อเมริกา เขมร จีน อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ ตอนนี้ครูเลยทำเป็นมูลนิธิค่ายมวยยอดธงนานาชาติไป”
ดูจากสถานการณ์มวยไทยในตอนนี้ ครูตุ๊ยได้แต่หวัง…หวังให้มวยไทยอยู่ต่อไปได้อีกหลายๆ ปี
“หากชาติหน้ามีจริง ครูขอเกิดมาเป็นผู้สืบสานมวยไทยต่อไป…ครูไม่ใช่แค่คนชอบมวย ครูเป็นโรคบ้ามวย รักษาไม่หาย ครูกล้าพูดเลยว่า เลิกเมียดีกว่าเลิกมวย เมียหาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่มวยกว่าจะหาคนเก่งๆ สักที 4 – 5 ปีกว่าจะเจอ” ครูพูดจบก็หัวเราะขันคำพูดของตัวเอง
เชือกฟั่นเส้นยาวค่อยๆ ถูกนำมาพันเข้าที่ข้อมือไล่ลงมายังซองมือก่อนคาดทับเข้าร่องนิ้วแต่ละข้อเป็นเส้นแน่น หางเชือกถูกถักเป็นเกลียวและขมวดเป็นก้นหอยร้อยรัด “หมัด” ให้แน่นยิ่งขึ้น
ผ้าประเจียดลงยันต์ม้วนเป็นวงรัดรึงบริเวณต้นแขนเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันตัว
เชือกหลายเส้นนำมาถักรวมกันเป็นเส้นใหญ่ ก่อนขดเป็นวงแล้วทิ้งหางยาวไว้เบื้องหลัง คือมงคลสวมศีรษะ
ครูตุ๊ยแต่งเนื้อแต่งตัว (กางเกง เสื้อกล้าม และผ้าขาวม้า!) เตรียมตัวพร้อมขึ้นสังเวียน หากแต่การขึ้นสังเวียนครั้งนี้ของครูตุ๊ยไม่ได้ขึ้นไปเพื่อชกมวย แต่ขึ้นไปต่อสู้…เพื่ออนุรักษ์มวยไทยให้คงอยู่ต่อไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน
บทความน่าสนใจ
True Story: รักนี้จัดหนัก ชีวิตคู่ที่แตกยับของเมียนักมวย
นัท มีเรีย เบนเนเดดตี้ กับ “น้องฟ้าโปรด” ใจดวงเล็ก ๆ ที่แสนเปี่ยมสุขของเธอ
ความสุขจากคำขอบคุณ บทความที่คนกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงานควรอ่าน
การให้โอกาสเป็นสิ่งที่ดี – ข้อคิดชีวิตเป็นสุข โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ