กลิ่นบำบัด ช่วยคลายกาย คลายใจ
หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยว่า กลิ่นบำบัด สามารถช่วยบำบัดร่างกายและจิตใจเราอย่างไร วันนี้ชีวจิตได้มาคุยกับคุณเกรส – ภัทรนิษฐ์ เตชะชัยพรพจน์ เจ้าของ Cafe Goer Studio ผู้หลงใหลในกลิ่นหอม และมองว่ากลิ่นคือส่วนเติมเต็มในทุกเรื่องราว และในทุกพื้นที่ โดยในครั้งนี้คุณเกรสจะพาเราไปรู้จักกับกลิ่นแต่ละชนิดและค้นหาส่วนผสมที่ลงตัว
กลิ่นบำบัด ส่วนผสมที่เติมเต็ม
คุณเกรส หรือครูเกรส ที่หลายคนคุ้นเคย เริ่มสนใจในกลิ่มหอมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตสาวในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพราะไม่เพียงแค่ แสง สี เสียง เงา เท่านั้น แต่กลิ่น ยังเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเติมเต็มบรรยากาศ ให้สถานที่หนึ่ง สถานที่ใด ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่พบเห็น และแวะเวียนผ่านเข้ามา
และจากความสนใจนี้เอง ทำให้เธอทำความรู้จัก และจริงจังจนศึกษา และทดลองสร้างกลิ่นต่างๆ จนสามารถถอดกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานที่มาถ่ายทอด เป็นกลิ่นบำบัดในสไตล์ของ Cafe Goer Studio ที่เชื่อมโยงพื้นที่ และบรรยากาศที่ประทับใจเข้าไว้ด้วยกัน
กลิ่นหอม เตือนใจ ไม่รู้คลาย
หากกล่าวได้ว่า สถานที่ใด ที่อบอวลด้วยกลิ่นหอม สถานที่นั้นจะตราตรึงในความทรงจำไม่รู้คลาย คงไม่เกินจริง เพราะคุณเกรสได้กล่าวถึง ในฐานะของทั้งผู้มีความในรู้ในเชิงสถาปัตย์ และกลิ่นบำบัดว่า “กลิ่นนั้น มีผลต่อการสร้างบรรยากาศ และอารมณ์ต่างๆ ในพื้นที่อย่างมาก”
ในพื้นต่างๆ ต่างก็มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น กลิ่นหอมในร้านกาแฟที่สร้างความอบอุ่น หรือกลิ่นสดชื่นในสปาที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย กลิ่นแต่ละที่สามารถช่วยสร้างความทรงจำและอารมณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้บางคนสามารถระลึกถึงสถานที่หรือ เหตุการณ์เมื่อได้รับกลิ่นที่คุ้นเคยขึ้นมาได้หลังจากได้กลิ่นแบบเดียวกัน
นอกจากนั้นแล้ว กลิ่นยังช่วยในการบำบัดในทั้งกาย และใจ ตามศาสตร์ของ อโรมา เธอราปี (Aroma Therapy)
กลิ่นบำบัด คลายทั้งกาย และใจ
เชื่อว่าทุกคนรู้จักศาสตร์ อโรมา เธอราปี หรือ กลิ่นบำบัด โดยจะต้องเลือกเป็นกลิ่นที่มาจาก น้ำมันหอมระเหยสกัดธรรมชาติ เท่านั้นจึงจะช่วยได้ กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย จะช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้กลิ่นผ่านเส้นประสาทขึ้นไปถึงสมองส่วนลิมบิกที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำ การเรียนรู้ อารมณ์และการแสดงออกทางอารมณ์ และสมองส่วนอมิกดาลาที่ทำหน้าที่ควบคุมเหตุผล และอารมณ์ นอกจากนั้นยังกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง
กลิ่นพืชตระกูลส้มและมะนาว (Citrus)
จะเป็นกลิ่นแนวหอมสดชื่นซ่อนเปรี้ยว ทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ช่วยกระตุ้นสมอง และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น เช่น กลิ่นส้ม กลิ่นเกรปฟรุ๊ต กลิ่นเลมอน และกลิ่นมะนาว
กลิ่นผลไม้ (Fruity)
เป็นกลิ่นหอมแบบเปรี้ยวอมหวาน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย โรแมนติก เป็นกลิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งได้จากผลไม้ประเภทพีช ที่จะช่วยให้สดชื่น กระตุ้นความอยากอาหาร ลดความง่วง เหมาะกับการใช้ปรับบรรยากาศ ในที่ทำงาน รวมถึงผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แอปเปิ้ล กีวี่และผลไม้ชนิดอื่นๆ
กลิ่นดอกไม้ (Foral)
เป็นกลิ่นโทนหอมหวานจากมวลดอกไม้ซึ่งมีให้เลือกจำนวนมาก ชนิดของดอกไม้ที่นิยมนำมาสกัด ได้แก่ มะลิ กลิ่นหอมละมุนที่จะช่วยคลายความเศร้า ลดความตึงเครียดและวิตกกังวล กลิ่นกุหลาบ ช่วยเพิ่มความสดชื่น ลดความเหนื่อยล้าจากการทำงาน นอกจากนั้นยังช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลิ่นลาเวนเดอร์ ช่วยในเรื่องของระบบประสาท บรรเทาอาการปวดหัว ปวดไมเกรน กลิ่นกระดังงา เป็นกลิ่นที่ช่วยให้จิตใจสงบ ช่วยให้นอนหลับสบายนอกจากนี้ยังมีกลิ่นของดอกไม้อื่นๆให้เลือกอีกมากมาย
กลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพร (Spicy & Herb)
จะเป็นกลิ่นที่ออกแนวหอมสดชื่น มีเอกลักษณ์เฉพาะของสมุนไพรชนิดนั้นๆ เช่น กลิ่นสะระแหน่ ช่วยให้อาการปวดหัวหรือปวดไมเกรนดีขึ้น เนื่องจากช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต กลิ่นโรสแมรี่ ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง กลิ่นยูคาลิปตัส ช่วยลดความตึงเครียด นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการคัดจมูก ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น กลิ่นตะไคร้ ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและยังสามารถไล่ยุงได้อีกด้วย
กลิ่นไม้ (Wo๐dy)
กลุ่มสุดท้ายจะเป็นกลิ่นที่มีความหอมแบบธรรมชาติให้ความรู้สึกอบอุ่น โดยกลิ่นไม้ที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่ กลิ่นไม้สน เป็นกลิ่นที่ช่วยต้านเชื้อแบคที่เรียในระบบทางเดินหายใจ กลิ่นไม้หอมแก่นจันทน์ (sandalwood) ช่วยให้จิตใจสงบ คลายเครียด กลิ่นไม้ซีดาร์ เป็นกลิ่นที่ช่วยปรับสมดุลทางอารมณ์หรือความเครียดในช่วงก่อนมีประจำเดือน กลิ่นไม้กฤษณา เป็นกลิ่นที่ได้จากไม้กฤษณา ที่ช่วยลดความวิตกกังวล
เทคนิคการทำกลิ่นบำบัด
การทำความรู้จักกับกลิ่นแต่ละชนิดเป็นขั้นตอนสำคัญ เราต้องรู้จักกลิ่นแต่ละชนิด เริ่มจาก Top Note, Middle Note, และ Base Note ซึ่งแต่ละชนิดมีความรู้สึกที่แตกต่างกัน
- Top Note: กลิ่นที่หอมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และหายไปเร็ว
- Middle Note: กลิ่นที่อยู่ในที่นั้นเป็นเวลานาน และเป็นกลิ่นหลักในส่วนใหญ่ของการรับรู้กลิ่น
- Base Note: เป็นกลิ่นที่ใช้เวลามากที่สุดกว่าจะลอยขึ้นมา แต่จะอยู่ทนทานที่สุด
การปรุงกลิ่นที่ถูกใจจะต้องผ่านกระบวนการทดลองและปรุงกลิ่นตามที่ชอบและความเหมาะสมกับพื้นที่ด้วย
ประเภทของห้องและตัวกระจายกลิ่น
นอกจากจะเลือกลิ่นที่ต้องการแล้ว อีกอย่างที่ต้องคำนึงถึงคือพื้นที่ที่กลิ่นนั้นจะทำงาน เราต้องการได้กลิ่นเร็วแค่ไหน เพราะประเภทของตัวกระจายกลิ่น และขนาดของพื้นที่ของเราล้วนส่งผลต่อการฟุ้งกระจายของกลิ่น
Room Spray : กลิ่นหอมในรูปแบบ สเปรย์ฉีดห้อง หรือฉีดใส่ผ้า เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการกลิ่นเร็ว เช่น ห้องขนาดเล็ก
Diffuser : เครื่องหอมชนิดน้ำมัน ที่ต้องใช้ก้านไม้เสียบไว้เพื่อแพร่กระจายกลิ่น ใช้เวลานานกว่ากลิ่นจะกระจายทั่วพื้นที่ แต่ไม่ต้องดูแลบ่อย
เทียนหอม : กลิ่นจะค่อยๆ กระจาย และจะได้ความอบอุ่นจากแสงเทียน หรือโคมอุ่นเทียน
ประเภทของน้ำหอม
ในโลกแห่งเครื่องหอม เลือกของประเภทน้ำหอมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่ได้มีเพียงแค่ น้ำมันหอมระเหยสกัดธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีหัวน้ำหอม ซึ่งก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเช่นกัน คุณเกรสเล่าว่า Cafe Goer Studio จะมีสองประเภทให้เลือกตามความต้องการ แบ่งเป็น หัวน้ำหอม และ น้ำมันหอมระเหย
- หัวน้ำหอม (Fragrance Oil) จะเป็นการสกัดจากธรรมชาติ และมีสารสังเคราะห์จากเคมี เหมาะกับการทำเทียนเพราะกลิ่นจะเข้มชัดและติดทนนาน
- น้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) เป็นน้ำหอมที่สกัดมาจากธรรมชาติ 100% เป็นตัวที่จะช่วยบำบัดจิตใจได้ แต่จะไม่ค่อยติดทน ฟุ้งแค่ในพื้นที่เล็กและในเวลาจำกัด
โดยสองชนิดนี้สามารถนำมารวมกันได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบกลิ่นและความต้องการของผู้ใช้ เช่นถ้าต้องการใช้เพื่อความผ่อนคลาย เพื่อการบำบัด ก็ต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ แต่ถ้าอยากได้สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ หรือต้องการกลิ่นที่ชัด หัวน้ำหอมก็จะตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากกว่าค่ะ
ประเภทของเบสในเครื่องหอม
เบสแต่ละตัวจะช่วยกระจายกลิ่นได้ไม่เหมือนกัน เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้ ความแตกต่างที่จะเห็นได้ชัดเจนคือความฉุนของแอลกอฮอล์ โดยเบสจะมีสามประเภทหลักๆ คือ
- Alcohol Base – เป็นชนิดที่จะระเหยเร็ว เพราะส่วนประกอบหลักคือแอลกอฮอล์ เบสชนิดนี้จะให้กลิ่นเร็วและชัด แต่จะมีความฉุน เหมาะสำหรับในพื้นที่ที่ต้องการให้กลิ่นหอมเร็ว
- Oil Base – จะระเหยช้ากว่า เพราะน้ำมันจะไปเกาะติดตามพื้นผิว เหมาะสำหรับก้านหอมปรับอากาศ เพราะน้ำมันจะไปติดก้านเสียบ ทำให้กลิ่นติดนาน
- Water Base – เบสชนิดนี้เหมาะสำหรับคนที่ผิวแพ้ง่าย เด็ก และสัตว์เลี้ยง เหมาะสำหรับเอาไว้ทำเป็นสเปรย์ฉีดหมอนเพื่อลดการระคายเคืองของใบหน้า
โดยสามารถเลือกเบสที่ตรงกับความต้องการ หรือ Mix Base ซึ่งจะช่วยทำให้การผสมกลิ่นง่ายขึ้น และลดเวลาในการบ่มเครื่องหอมก่อนใช้งานให้สั้นลง
เวิร์กชอปกลิ่นบำบัด
สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาและทำกลิ่นบำบัดเอง Cafe Goer Studio มีการเปิดเวิร์กชอปทุกวันศุกร์-อาทิตย์ 9:00-16:30 โดยมีทั้งการสอนทำเทียนหอม และอีกหลากหลายคลาสที่น่าสนใจ เช่นคลาส Scent Journey ที่จะพาไปเรียนรู้ศาสตร์ของกลิ่นเพื่อสร้างกลิ่นเฉพาะของตัวเอง หรือคลาสยอดฮิตอย่าง Cafe Menu Candle ที่จะพาเราไปทำเทียนหอมในรูปแบบของขนมและเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ลองมาร่วมค้นหากลิ่นที่คุณชอบและเหมาะกับคุณดูนะคะ
หรือถ้าใครที่ยังไม่แน่ใจ นิตยสารชีวจิต x Amarin Academy ชวนมาเรียนรู้ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วย “กลิ่นหอม” จะลองมาทำ Workshop “Room Spray” กับการทำ รูมสเปรย์ เพื่อลดเครียด ลดเหนื่อย เพิ่มเอนเนอร์จี สร้างพลังบวกในการทำงาน พิเศษ ราคาเพียง 450 บาท ในงาน บ้านและสวน Shopping Week วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00 – 14.00 น. ณ เวทีกลาง โซน “คน จัด สิ่งของ” Hall 9 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ลงทะเบียนทำ Workshop “Room Spray” https://lin.ee/mQEvfMB (Line @cafegoerstudio)
สมัครเพียง 450 บาท / ท่าน รับจำนวนจำกัดเพียง 20 ที่นั่ง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
7 อโรมาเทอราปี กลิ่นบำบัด ผ่อนคลายสมอง ลดซึมเศร้า
รู้หรือไม่? แค่สูดดม กลิ่นช่วยลดเครียด สู้กับมะเร็งได้
ติดตามชีวจิตได้ที่