ห้องพระ

เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับจัด ” ห้องพระ” หรือ “มุมบูชาพระ”

เคล็ดลับง่ายๆ สำหรับจัด ” ห้องพระ” หรือ “มุมบูชาพระ”

ชาวพุทธกว่าร้อยละเก้าสิบมักนิยมจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านให้เป็น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อาจเป็นห้องพระ หิ้งพระ หรือมุมบูชาพระ

สำหรับเจ้าของบ้านมือใหม่หรือใครก็ตามที่ต้องการเปลี่ยมโฉมห้องพระในตัวบ้าน แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี Secret มีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝาก

ตำแหน่งของห้องพระ

ห้องพระควรอยู่ในส่วนที่มี “ความสงบที่สุด” ของบ้าน ไม่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมา และอยู่ห่างไกลจากห้องที่เกี่ยวข้องกับรูป รส กลิ่น เสียง เช่น ห้องครัวห้องสุขา ห้องดูโทรทัศน์ ห้องรับแขก

ในกรณีของบ้านที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป การจัดห้องพระไว้ชั้นบนสุดน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะสามารถหลีกเลี่ยงจากปัจจัยรบกวนที่กล่าวมาข้างต้นได้แทบทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้น การจัดห้องพระไว้ชั้นบนสุดของบ้านยังทำให้เจ้าบ้านไม่ต้องกังวลว่าจะตรงกับห้องใดในชั้นล่าง

ทิศทางห้องพระกับตัวบ้าน

พุทธศาสนาไม่เคยมีคำสอนหรือความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องทิศมงคลแต่เหตุที่นิยมวางตำแหน่งห้องพระไว้ทางทิศตะวันออกของบ้านคงเนื่องจากความเชื่อ 2 ประการต่อไปนี้

  1. เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ชาวพุทธจึงตีความกันไปว่า ทิศตะวันออกน่าแสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ๆ หรือการก้าวไปข้างหน้า เหมือนการโคจรของดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน
  2. ความนิยมในการสร้าง “พระอุโบสถ” หันหน้าไปทางทิศตะวันออก

ลักษณะของห้องพระ

ขนาด: การกำหนดขนาดของห้องพระ นิยมคำนวณจากขนาดโต๊ะหมู่บูชาและโต๊ะบูชาทั้งหมด รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ เช่น พื้นที่สำหรับสวดมนต์ นั่งสมาธิ นอกจากนี้ห้องพระยังต้องมีหน้าต่าง ช่องลม หรือติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี

ผนัง: บ้านส่วนใหญ่มักทาด้วยสีขาวเช่นเดียวกับส่วนอื่นของบ้าน หากปล่อยไว้นาน ๆ จะมีคราบสกปรกเกาะติด ทำให้ผนังกลายเป็นคราบสีดำไม่น่ามอง การทาผนังด้วยสีอ่อน เช่น สีเหลืองอ่อนโทนพาสเทลหรืออาจกรุด้วยวอลล์เปเปอร์สีอ่อน โทนสว่างช่วยเปลี่ยนบรรยากาศภายในห้องพระให้สดชื่นขึ้นได้

เพดาน: คุณอาจเปลี่ยนจากหลอดไฟธรรมดาดวงเดิมเป็นหลอดไฟดาวน์ไลท์สีเหลืองนวลหรือแสงวอร์มไวท์ที่ดูอบอุ่นสบายตา จะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศภายในห้องให้รู้สึกสบายตาสบายใจได้

พื้น: หากสีของพื้นห้องกะดำกะด่างไม่น่ามอง สามารถแก้ไขได้ด้วยการปูพรมขนยาวหรือพรมที่มีพื้นผิวนิ่มโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพื้นห้องใหม่ นอกจากนั้นความนิ่มของพรมจะช่วยรองรับเข่าและช่วงขาในขณะกราบหรือนั่งสมาธิ

คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป

_MG_6679

ไม่มีพื้นที่…ก็มีห้องพระได้

ในกรณีไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดเป็นห้องพระต่างหาก เราสามารถจัดมุมสำหรับบูชาพระได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น ใช้เฟอร์นิเจอร์ หรือฉากกั้นแบ่งเป็นสัดส่วนตั้งโต๊ะบูชา หรือติดตั้งหิ้งบูชาพระ

สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการติดตั้งหิ้งบูชาพระคือ ต้องติดตั้งในระดับสูงเหนือศีรษะเสมอ ห้ามติดตั้งใต้คาน และห้ามติดตั้งชิดกับผนังห้องน้ำหรือห้องสุขา

นอกจากนี้หากจะประยุกต์ชั้นวางของหรือชั้นโชว์เป็นหิ้งพระก็สามารถทำได้ เว้นเพียงแต่ว่า “ต้องประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ชั้นบนสุดเท่านั้น” ส่วนชั้นรองลงมาต้องไม่ใช่โทรทัศน์เครื่องเสียง หรือตู้ปลา

C-1

เปิดประตูสู่ห้องพระ

ห้องพระจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ไม่สำคัญมากเท่ากับการจัดวางส่วนประกอบภายในห้องพระให้เหมาะสม ภายในห้องพระควรมีอะไรบ้าง และควรจัดวางอย่างไร ตามมาดูกัน

พระพุทธรูป

พระพุทธรูปเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในห้องพระ ถ้ามีพระพุทธรูปหลายองค์ควรเลือกองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระประธานของบ้าน บางคนนิยมเลือกพระพุทธรูปองค์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นประธานบางคนนิยมเลือกองค์ที่มีความเก่าแก่ที่สุดเป็นประธาน

นอกจากนี้ พระพุทธรูปที่เป็นองค์ประธานของโต๊ะหมู่ ควรสูงจากพื้นอย่างน้อย 1.20 – 1.50 เมตร ซึ่งเป็นระยะห่างที่มองเห็นได้ชัดในทุกมุม ให้ความรู้สึกน่าเคารพสักการะ

โต๊ะหมู่บูชา

เหตุที่โต๊ะหมู่บูชาประกอบด้วยโต๊ะหลายตัวและมีรูปแบบสูง –ต่ำลดหลั่นกันเพราะมีคติความเชื่อว่า โต๊ะตัวล่างสุดของโต๊ะหมู่บูชาแทนความหมายของพระธรณี หรือแผ่นดิน (ถ้าจัดโต๊ะหมู่บูชาแล้วไม่มีโต๊ะตัวนี้รองรับถือว่าไม่เป็นมงคล) ส่วนโต๊ะที่สูงลดหลั่นขึ้นไป ทั้งหมดล้วนแทนความหมายของเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ลูกที่อยู่รายล้อมรอบเขาพระสุเมรุ (ภูเขาที่เป็นแกนกลางจักรวาล ซึ่งเหนือขึ้นไปคือ แดนสวรรค์) ดังนั้นโต๊ะตัวสูงที่สุดจึงแทนความหมายของเขาพระสุเมรุ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานของบ้าน โดยมีพระพุทธรูปลำดับรองและเครื่องสักการะต่างๆ เรียงลดหลั่นลงมาตามลำดับ นอกจากนี้ โต๊ะหมู่บูชาควรหันหน้าออกไปทางหน้าบ้าน เพราะจะช่วยสร้างความรู้สึกว่ามีพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักคุ้มครองคนในบ้าน

เครื่องสักการะ

การบูชาในทางพุทธศาสนามี 2 ประเภท คือ อามิสบูชา หมายถึงการบูชาด้วยสิ่งของหรือดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณและ ปฏิบัติบูชา หมายถึง การตั้งตนอยู่ในโอวาทและปฏิบัติตามคำสอน

การบูชาพระรัตนตรัยซึ่งเน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก นิยมใช้เทียน 2 เล่ม หมายถึง พระธรรมคำสอน ธูป 3 ดอก หมายถึง การบูชาพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ และ ดอกไม้ 2 แจกัน ซึ่งนิยมใช้ดอกไม้สีสวย มีกลิ่นหอมสดชื่น เป็นการบูชาพระสงฆ์

การจัดตำแหน่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในห้องพระ  

ส่วน ลำดับการจัดวางบน โต๊ะหมู่บูชา พระพุทธรูป และ โต๊ะบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ภายในห้องพระนั้น มีการกล่าวถึงอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน แต่ ณ ที่นี้จะนำเสนอโดยการเทียบเคียง “ความบริสุทธิ์ในการถือศีล” ซึ่งเรียงจากตำแหน่งบนสุดเรียงลงไปดังนี้

  1. พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ (ต้องอยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดในห้องเสมอ)
  2. พระ อรหันต์และพระโพธิสัตว์ (บางตำราถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับโต๊ะบูชามหาเทพ เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ พระพรหมแต่บางตำราถือว่าเทพเจ้าถือศีลไม่มากเท่าพระสงฆ์ จึงยังต้องมาทำบุญฟังธรรมจากพระสงฆ์ ในตำรานี้จึงจัดวางรูปเคารพเทพเจ้าอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่ารูปเคารพของพระสงฆ์)
  3. รูปเหมือนพระสงฆ์ที่ล่วงลับไปแล้ว
  4. ภาพ รูปเหมือน และรูปเคารพบุรพมหากษัตริย์
  5. รูปเคารพเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ
  6. รูปและอัฐิบรรพบุรุษ (นิยมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก)

ไม่ว่าวันนี้คุณจะมีห้องพระประจำบ้านหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่พึงระลึกถึงไว้เสมอก็คือ ถ้า “มี” แล้วไม่กราบไหว้บูชา ไม่ระลึกถึงพระรัตนตรัย พระพุทธรูปนั้นก็จะมีค่าไม่ต่างจากประติมากรรมทั่วไป หากเป็นเช่นนั้น จุดมุ่งหมายเพื่อให้ห้องพระเป็นที่พึ่งพิงทางใจ…ก็คงไร้ประโยชน์


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 เคล็ดไม่ลับสำหรับทำความสะอาดห้องพระ

3 สิ่งที่ควรทำวัน สงกรานต์ เสริมมงคลชีวิตรับปีใหม่ เย็นทั้งกาย สบายทั้งใจแน่นอน

5 อาหารต้านแดดรับสงกรานต์เล่นน้ำได้ไม่กลัวผิวเสีย

 

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.