พักรบ พบ ” พระใหญ่ ” เส้นทางสายศรัทธา อยุธยา – อ่างทอง
มาพักเรื่องหนักสมอง หนักหัวใจ แล้วไปไหว้ พระใหญ่ บนเส้นทางสายศรัทธาอยุธยา – อ่างทอง ไม่เพียงเพื่อความเป็นสิริมงคล หรืออิ่มใจเท่านั้น แต่การไหว้พระใหญ่ยังเปรียบเหมือนการกระตุ้นเตือนให้ผู้กราบไหว้ได้รำลึกถึงความสามัคคีที่บรรพบุรุษไทยได้ร่วมกันสร้างพระใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชา
ทำไมต้อง “พระใหญ่”
การสร้างพระพุทธรูปให้มีขนาดที่ใหญ่โตเกินจริงหรือที่หลายคนนิยมเรียก “พระใหญ่” นั้นมีมาตั้งแต่ในสมัยสุโขทัย ส่วนเหตุผลในการสร้างนั้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นคติความเชื่อจากลังกาวงศ์ที่ว่า พระพุทธเจ้าคือผู้ที่อยู่เหนือวิสัยของโลกหรือโลกุตระ หมายถึงการไม่เกี่ยวข้องกับกาม ตัณหา ทิฏฐิและอวิชชาอีกต่อไป ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปจึงต้องสร้างให้องค์ใหญ่โตเหนือมนุษย์ทั่วไปนั่นเอง
จังหวัดอยุธยา
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร หรือ วัดเสื่อ หรือวัดเสนาสน์
วัดเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานร่วม 300 ปี สิ่งสำคัญภายในวัดนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ศิลปะอยุธยา ความยาว 14.12 เมตรแล้ว อีกสิ่งที่งดงามไม่แพ้กันเห็นจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นที่บอกเล่าเรื่องราวพระราชพิธี 12 เดือนได้อย่างละเอียดครบถ้วน และวัดแห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานพระราชกรณียกิจในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพเขียนที่บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 4 ทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคา
วัดธรรมิกราช ในพงศาวดารเหนือระบุว่า สร้างโดยพระยาธรรมิกราช โอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง นั่นหมายความว่า วัดแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี ตัววัดโดดเด่นด้วยเจดีย์สิงห์ล้อมแห่งเดียวในอยุธยา ทั้งมีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้โครงเหล็กทว่าแข็งแรงและมั่นคงด้วยภูมิปัญญาแบบไทยๆ คือใช้ปูนเปลือกหอยและประสานด้วยน้ำตาลอ้อย
สิ่งสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ พระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน ความยาว 12 เมตร ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจก และด้วยเหตุที่พระนอนองค์นี้สร้างขึ้นจากอานิสงส์แห่งแรงอธิษฐานของพระอัครมเหสีในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ทรงอธิษฐานให้พระธิดาหายจากอาการประชวร ชาวบ้านจึงนิยมกราบไหว้ขอพรและนำน้ำพระพุทธมนต์ภายในวิหารไปประพรมเพื่อให้เกิดสิริมงคล
วัดสะตือ ประดิษฐานพระนอนที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ความยาว 52 เมตร สูง 16 เมตรความโดดเด่นของพระนอนองค์นี้นอกจากจะมีความยาวที่ติดอันดับต้นๆ ของเมืองไทยแล้วรูปร่างลักษณะของพระนอนนั้นก็แตกต่างจากวัดทั่วไป ตรงที่ไม่ได้เน้นความงดงามแบบสมส่วน ทว่าเป็นความงดงามที่เกิดจากฝีมือช่างชาวบ้านและสร้างโดยความร่วมมือร่วมใจจากชาวบ้านอย่างแท้จริง
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
จังหวัดอ่างทอง
วัดป่าโมกวรวิหาร คือวัดที่มีตำนานพระพุทธไสยาสน์พูดได้ เดิมทีพระพุทธไสยาสน์และพระวิหารตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ห่างจากที่ตั้งปัจจุบัน 4 เส้น 4 วา หรือราว 168 เมตร แต่เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นคุ้งน้ำ ทำให้น้ำเซาะตลิ่งจนพระวิหารทรุดลง ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงโปรดเกล้าฯให้มีการชะลอพระพุทธไสยาสน์มายังวิหารหลังปัจจุบันโดยการชะลอพระพุทธไสยาสน์ในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของชาวอ่างทองได้เป็นอย่างดี เพราะการจะชะลอพระพุทธไสยาสน์ความยาว 22.58 เมตรนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
นอกจากนั้นวัดนี้ยังมีตำนานพระนอนพูดได้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดป่าโมกฯเล่าให้ฟังว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 จังหวัดอ่างทองเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดอย่างหนัก สีกาผู้หนึ่งจึงไปตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธไสยาสน์ช่วยคุ้มครอง และสีกาผู้นั้นก็ได้ยินเสียงพระพุทธไสยาสน์บอกสูตรยาและนำไปรักษาโรคห่าจนหายขาด ครั้นความทราบถึงพระครูป่าโมกมุนีซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นท่านพระครูจึงได้ลองพิสูจน์ แล้วก็ได้ยินเสียงพระนอนพูดก้องออกมาจากพระอุระนั่นเอง
วัดสี่ร้อย เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีตำนานคู่เมืองอ่างทองมายาวนานไม่แพ้กัน สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ความกล้าหาญของชาววิเศษชัยชาญ 400 คนที่ถูกเกณฑ์ไปรบกับพม่าและถูกฆ่าตายที่เมืองกุย ชาวบ้านจึงได้สร้างพระพุทธรูปนั่งปางป่าเลไลยก์ สูง 21เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่าหลวงพ่อโต เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในหมู่บ้าน และเมื่อปี พ.ศ. 2530 ที่ผ่านมามีชาวบ้านเห็นรอยโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิกขององค์หลวงพ่อ ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า หลวงพ่อร้องไห้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
วัดต้นสน มีพระใหญ่อีกองค์ที่ต้องไปสักการะให้ได้เมื่อมาถึงอ่างทองคือ สมเด็จพระพุทธนวโลกุตตรธัมมบดีศรีเมืองทอง หรือ สมเด็จพระศรีเมืองทอง พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา1 ศอก 19 นิ้ว นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่ที่สุดองค์แรกของเมืองไทยอีกด้วย
วัดไชโยวรวิหาร หรือ วัดเกษไชโย คือ วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่เปรียบได้กับศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวอ่างทอง วัดนี้แม้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด ทว่ากลับเป็นวัดที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้มาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่หรือหลวงพ่อโตไว้กลางแจ้งณ วัดเกษไชโย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างวิหารครอบ ทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมา พระองค์จึงโปรดให้มีการสร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตรทว่าใหญ่กว่าด้วยหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว และพระราชทานนามว่าพระมหาพุทธพิมพ์
วัดราชปักษี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดเท่ากับวัดพระนอนที่วัดป่าโมกวรวิหาร เดิมทีองค์พระชำรุดทรุดโทรมจนแทบไม่เหลือปูนที่ฉาบผิว แต่ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน จึงได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระนอนและพระวิหารให้กลับมางดงามดังเดิม
วัดม่วง อ่างทองไม่ได้มีแต่พระใหญ่ในวัดเก่าแก่เท่านั้น พระใหญ่อีกองค์ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอ่างทองไปแล้วในขณะนี้ ได้แก่พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ หรือ หลวงพ่อใหญ่ แห่งวัดม่วง องค์หลวงพ่อมีหน้าตักกว้าง 63.05 เมตร สูง95 เมตร ประทับนั่งอย่างงามสง่าอยู่ท่ามกลางท้องทุ่ง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ชาววิเศษชัยชาญทุกครั้งที่ได้เห็น
วัดขุนอินทประมูล มีพระใหญ่ที่งดงามที่สุดในจังหวัดอ่างทอง อันได้แก่ พระพุทธไสยาสน์ขุนอินทประมูล หรือ พระพุทธไสยาสน์เลอไทนฤมิต พระพุทธไสยาสน์องค์นี้สร้างขึ้นโดยพระยาเลอไทแห่งกรุงสุโขทัย องค์พระสีขาว ความยาวจากยอดพระเกตุเมาลีถึงปลายพระบาทวัดได้50 เมตร และที่กล่าวว่าเป็นพระใหญ่ที่งดงามที่สุดในอ่างทอง ก็ด้วยพระพักตร์ที่ยิ้มละไมตามแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนั่นเอง
การไหว้พระใหญ่แม้จะไม่ได้ทำให้ความทุกข์ ความวุ่นวายใจดับลงไปอย่างสิ้นเชิงแต่การไหว้พระถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราจะรวบรวมสติให้อยู่กับเนื้อกับตัวเพื่อจะได้มุ่งหาทางออกของปัญหา หากในวันหนึ่งๆเราได้พักรบกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ แล้วหันมาหยุดอยู่กับลมหายใจขณะกราบพระแม้เพียงนาทีสั้นๆ ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว