หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้บำเพ็ญเพียรเพิ่มพูนบารมีมาเป็นระยะเวลานานจวบจนวันละสังขาร บารมีของท่านได้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนมากมาย รวมทั้งสรรพสัตว์ที่ต่างก็นอบน้อมแก่มธุรสวาจาของท่าน จนเรื่องราวเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่ประกอบด้วยธรรมที่ผู้คนได้เล่าขานต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้มีเมตตาย่อมเป็นที่รักของสรรพชีวิตทั้งหลาย
หลวงปู่ขาวได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าเขาเป็นเวลายาวนาน มีประสบการณ์มากมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าทั้งหลาย เช่น สิงโต ค่าง ช้าง เสือ มีเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นปาฏิหาริย์อันแสดงถึงความเมตตาที่ไม่มีประมาณของท่าน ดังนี้
1.ช้างคิดกลับใจรักษาศีล 5
คืนวันหนึ่งในพรรษา หลวงปู่ขาวจำพรรษาอยู่ด้วยกันกับพระ 2 รูป ในยามดึกสงัด หลวงปู่ขาวกำลังนั่งภาวนาอยู่ในกุฏิเล็ก ๆ ขณะนั้นช้างใหญ่เชือกหนึ่งที่เจ้าของปล่อยให้เที่ยวหากินตามลำพังในป่าเขาแถบนั้นได้เดินตรงเข้ามาในบริเวณด้านหลังกุฏิของท่าน แต่เผอิญด้านหลังกุฏิมีม้าหินใหญ่บังอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้ามาถึงตัวท่านได้ แต่ก็เอางวงสอดเข้ามาในกุฏิ ทึ้งกลดและมุ้ง สูดลมหายใจดมกลิ่น ท่านเสียงดังฟูดฟาด ๆ จนกลดและมุ้งไหวไกวไปมา
หลวงปู่ขาวเองก็นั่งภาวนาบริกรรมพุทโธ ๆ อย่างที่เรียกได้ว่าฝากเป็นฝากตายกับพุทโธ ช้างใหญ่ตัวนั้นก็ยืนนิ่งอยู่ที่นั้นไม่ยอมหนีไปไหน และคงยืนนิ่งอยู่อย่างนั้นราวกับจะคอยตะครุบท่านให้แหลกไป นาน ๆ จะได้ยินเสียงลมหายใจและสูดกลิ่นท่านอยู่นอกมุ้งแล้วก็เงียบไปอีก
เมื่อช้างมีพฤติกรรมเช่นนี้ หลวงปู่ขาวจึงตัดสินใจออกไปโปรดช้างด้วยวาจาอ่อนหวานว่า
“พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้องจะพูดเวลานี้”
พอได้ยินเสียงท่านพูดขึ้น มันก็หยุดนิ่งเงียบราวกับสัตว์ไม่มีหัวใจ จากนั้นหลวงปู่ก็กล่าวกับช้างว่า
“พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในบ้านเป็นเวลานานจนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่าง ตลอดภาษามนุษย์ที่เขาพูดกัน และพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่างยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก
“ดังนั้นพี่ชายควรจะรู้ขนบธรรมเนียมและข้อบังคับของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการทำบางอย่างแม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้วเขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายก็ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฉลาดแหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน
“ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศรีษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้ อย่าได้ลืมคำที่น้องสั่งสอนด้วยความเมตตาอย่างยิ่งนี้
“ต่อนี้ไปพี่ชายจะรับศีลห้า น้องเป็นพระจะให้ศีลห้าแก่พี่ชาย จงรักษาให้ดี เวลาตายไปจะได้ไปสู่ความสุข อย่างต่ำก็มาเกิดเป็นมนุษย์ผู้มีบุญมีคุณธรรมในใจ ยิ่งกว่านั้นก็ไปเกิดบนสวรรค์หรือพรหมโลกสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ดีกว่ามาเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เช่น เป็นช้าง เป็นม้า ให้เขาขับขี่เฆี่ยนตีและขนไม้ขนฟืน ซึ่งเป็นความลำบากทรมานจนตลอดวันตายก็ไม่ได้ปล่อยวางภาระหนัก ดังที่เป็นอยู่เวลานี้…”
พอช้างได้ยินดังนั้นก็สงบนิ่งรับศีลห้าจากหลวงปู่ขาวแต่โดยดี แล้วกลับไปโดยไม่ทำร้ายหลวงปู่ให้ได้รับอันตรายเลยแม้แต่น้อย
2.ช้างมาเยี่ยม
หลวงปู่ขาวมักจะบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า ดังนั้นท่านจึงมีโอกาสพบสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะช้าง เมื่อเวลาที่หลวงปู่ขาวนึกถึงสัตว์ชนิดใด ก็มักจะมาตามความนึกคิดเสมอ เช่น ท่านนึกถึงช้างที่หายหน้าไปไหนเป็นปี ๆ ไม่เห็นผ่านมาทางนี้เลย จนท่านสงสัยว่าจะถูกนายพรานยิงตายไปเสียแล้ว
ปรากฏว่าพอตกกลางคืน ช้างตัวที่หลวงปู่ขาวนึกถึงก็มาหา แล้วเดินตรงไปยังกฏิของท่าน มายืนลูบคลำสิ่งต่าง ๆ ในบริเวณกุฏิของท่าน พอให้ท่านทราบว่าตนมาหาแล้วก็กลับเข้าป่าไป
3.เสือยอมสงบ
วันหนึ่งในขณะที่หลวงปู่ขาวอบรมพระภิกษุอยู่ ได้มีเสือลายพาดกลอนมาสามตัว แผดเสียงคำรามลั่นแล้วมาพักอยู่ใต้กุฏิ พวกภิกษุที่ได้ยินเสียงก็เริ่มใจคอไม่ค่อยดี หลวงปู่ขาวเห็นว่าเสือมารบกวนการแสดงธรรม จึงกล่าวตำหนิเสือว่า
“เฮ้ย สหายทั้งสาม อย่าพากันส่งเสียงอื้ออึงนักสิ พระท่านกำลังเทศน์และฟังธรรม เดี๋ยวเป็นบาปตกนรกหลุมฉิบหายกันหมดนะ จะว่าไม่บอก เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่เอ็ดตะโรโฮเฮกันนี่นา จงพากันไปเที่ยวร้องที่อื่น ที่นี่เป็นวัดของพระที่ท่านชอบความสงบ ไม่เหมือนพวกแก ไปเสีย พากันไปร้องที่อื่นตามสบาย ไม่มีใครยุ่งกับพวกแกหรอก ที่นี่เป็นที่พระท่านอยู่บำเพ็ญธรรม ท่านจึงห้ามไม่ให้พวกแกส่งเสียงอื้ออึงนัก”
เสือทั้งสามตัวจึงพากันส่งเสียงเบา ๆ แล้วพากันเล่นเบา ๆ จนถึงเที่ยงคืนแล้วจึงพากันกลับ
ด้วยเมตตาธรรมที่มีต่อเสือทั้งสามด้วยเกรงว่าเสือจะทำบาปคือ ขัดขวางการศึกษาธรรมของหมู่สงฆ์ หลวงปู่ขาวจึงได้กล่าวตักเตือนเสือด้วยความเมตตา และด้วยความเมตตานั้นเอง เสือซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้ชื่อว่าดุ โหดร้าย และเป็นนักล่า ก็ยอมเคารพเมตตาธรรมของหลวงปู่ขาวด้วยการไม่รบกวนการศึกษาธรรมของเหล่าสงฆ์
ที่มา : ชุดสุดยอดสงฆ์ 1 : หลวงปู่ขาว – พรชนก ชาติชำนิ สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ : วัดป่าดอยแสงธรรม, youtube
บทความน่าสนใจ