ดนตรีจิตอาสา

ดนตรีจิตอาสา ความสุขในทุกบันไดเสียง

ดนตรีจิตอาสา ความสุขในทุกบันไดเสียง

เป็นเพราะการเล่นดนตรีสามารถสร้าง “ความสุข” ให้ผู้ฟังได้เสมอ ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดคนกลุ่มหนึ่งเล่น ดนตรีจิตอาสา เพื่อมอบความสุขให้ผู้ฟัง

 

สร้างสุขในโรงพยาบาล

คุณสมศักดิ์ สินธวานนท์ เป็นคนหนึ่งที่ต้องการเล่นดนตรีให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล…โครงการจิตอาสาดนตรีบำบัด ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี จึงถือกำเนิดขึ้น

“ผมเข้ามาเล่นดนตรีในสวนที่นี่ เพราะเห็นว่าคนไข้หรือคนที่มาโรงพยาบาลต้องมานั่งรอหมอ รอญาติ รอผู้ป่วยที่มาตรวจนานทำให้เกิดอาการเซ็ง เครียด เราก็ช่วยให้เขาสนุกขึ้น และเป็นการเชิญชวนให้คนมาเดินเล่นใน ‘สวนเท้าเปล่า’ ของที่นี่ด้วย”

แรกเริ่มคุณสมศักดิ์เฟ้นหาที่เล่นดนตรี โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชมรมผู้สูงอายุ แต่ก่อนจะมีผู้สูงอายุซึ่งจะมาเล่นดนตรีไทยนอกโรงพยาบาลนานๆ ครั้งเท่านั้น คุณสมศักดิ์จึงได้ขอผู้อำนวยการโรงพยาบาลบินเดี่ยวเข้าไปเล่นดนตรีในสวนเท้าเปล่า…สวนเพื่อสุขภาพของโรงพยาบาล โดยใช้เครื่องดนตรีของตัวเอง

“ผมจะเล่นตรงสวนนี้ประมาณแปดเก้าโมงในช่วงสาย ถ้าวันไหนนึกครึ้มก็จะขึ้นไปเล่นถึงเตียงคนไข้ในเลย”  หลังจากมีเสียงร้องเพลงและเล่นดนตรีในสวนเท้าเปล่า คนจึงเริ่มถอดรองเท้าเข้ามาเดินออกกำลังกายและฟังเสียงเพลงที่บรรเลงให้ใจตื่นอย่างสดชื่นและเบิกบาน

“ครั้งหนึ่งผมเคยไปเล่นให้คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายฟัง สายระโยงระยางเต็มตัวเขาไปหมด หมอคาดว่าเขาคงอยู่ได้อีกไม่นาน ถึงแม้ว่าเขาจะพูดไม่ได้แล้ว แต่สายตายังแสดงความรู้สึกได้…พอผมเริ่มสีไวโอลินปุ๊บ เขาส่งยิ้มทางสายตาให้กับเราอย่างมีความสุข…แล้ววาระสุดท้ายเขาก็จากไปอย่างสงบ”

เมื่อทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว คุณสมศักดิ์ก็เข้าไปดึงเด็กๆ เพาะช่างที่มีแนวโน้มว่าอาจเดินทางผิดไปเสพยาให้หันมาเสพดนตรีแทน โดยใช้เวลายามเย็นที่ตัวเองว่างมาสอนเด็กๆ ให้เล่นดนตรีในชมรมผู้สูงอายุ

“ในชมรมนี้ผมสอนดนตรีให้เด็กๆ ฟรีนะ อย่างคนนึงเคยเกือบติดยา ผมก็ลากเขามาเรียนดนตรี จนตอนนี้กลายเป็นศิษย์ที่เก่งที่สุดไปแล้ว

“เด็กที่เรียนดนตรีจะมีพัฒนาการทั้งด้านไอคิวและอีคิว สมองจะมีความจำดีขึ้น อย่างเด็กสมาธิสั้นพอมาเรียนดนตรีก็จะมีสมาธิ ทำให้เรียนวิชาต่างๆ เก่งขึ้น

“การเล่นดนตรีอาสาต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจรวมถึงแรงเงินของตัวเองด้วย เพราะอาสาจะไม่รับเงินสักบาทเดียว เด็กๆ ที่มาช่วยผมเขาก็ไม่รับเงินเหมือนกัน บางทีเราก็ต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าข้าวให้เขาบ้าง

“การที่ผมสอนดนตรีให้เด็กๆเพราะผมอยากเป็นอิฐก้อนแรกที่จะเป็นฐานให้อิฐก้อนต่อไปได้เป็นผนัง เสาฝาบ้าน เผื่อว่าสักวันถ้าผมไปต่อไม่ไหวผมก็จะมีเด็กๆ เหล่านี้มาสานงานต่อไป”

“ผมดีใจที่ได้เล่นดนตรีที่รักและได้แบ่งปันให้คนอื่นฟังไปพร้อมๆ กัน…เชื่อไหมว่า เสียงดนตรีไม่มีใครรังเกียจ ถึงแม้ร้องไม่เข้าคีย์ก็ยังมีคนชอบ อย่างที่นี่ถึงผมจะไม่ได้เล่นเป็นประจำทุกวันแต่ดีกว่าไม่มีดนตรีเลย”

 

สร้างสุขในตลาดน้ำ

หากพูดถึงตลาดน้ำ ผู้คนจะนึกถึงภาพลำคลองที่มีเรือแจวบรรทุกสินค้ามาขายบ้างคิดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือ บ้างคิดถึงพืชผักผลไม้ในสวน…นั่นคงเป็นภาพของตลาดน้ำโดยทั่วไป

แต่ที่ตลาดน้ำตลิ่งชันแห่งนี้ นอกจากมีทุกอย่างที่เรากล่าวมาแล้ว ยังมีเสียงบรรเลงดนตรีจาก ศาลาวันจักรี ดังแว่วมาตามสายลม นำพาให้เราได้สัมผัสถึงกลิ่นอายความเป็นไทย

“วงดนตรีจิตอาสาตลาดน้ำตลิ่งชันก่อตัวขึ้นจาก คุณตาศิริ…แกชอบมานั่งสีซออู้อยู่ที่นี่ ผมก็มานั่งตีฉิ่งอยู่กับแก”คุณสุนทร หนึ่งในสมาชิกเริ่มเล่าถึงเรื่องราวที่มาของวงดนตรีไทยตลาดน้ำตลิ่งชันให้เราได้ฟังกัน ก่อนจะชี้ไปที่ผู้ชายอีกคนซึ่งนั่งถือขลุ่ยอยู่ใกล้ ๆ “ส่วน คุณเล็ก เนี่ยขายขลุ่ยอยู่ แกก็มานั่งเป่าขลุ่ย…มันเป็นการค่อย ๆ มารวมตัวกันที่ละคนสองคน…”

“ที่เรามาทำกันตรงนี้ เราไม่ได้มีค่าจ้างอะไร มีแค่ข้าวมีน้ำและอาหารเลี้ยงจากชาวตลาด เหมือนกับเป็นพี่น้องกันมารวมตัวกัน ใครว่างก็มาเล่น…จะเป็นเด็กนักศึกษา คนปลดเกษียณ ข้าราชการก็สามารถจะแวะเวียนกันมาได้หมด

“เมื่อก่อนนี้ตลาดน้ำเงียบจนไม่มีอะไรพอมีการเล่นดนตรี ตลาดน้ำแห่งนี้ก็มีชีวิตชีวาขึ้นมา”

นักท่องเที่ยวหลายชาติ ฝรั่งบ้างจีนบ้าง ต่างให้ความสนใจการแสดง และแวะเวียนเข้ามาชม ถ่ายรูป บันทึกภาพบางคนก็ขึ้นไปร่วมเล่นดนตรีด้วย แม้เสียงที่ออกมาจะแปร่งไปบ้าง แต่ความสนุกยังคงมีอยู่ครบถ้วน

“สำหรับต่างชาติ ถ้าเขาเล่นไวโอลินเป็น เราก็ให้เขาสีซอ…ดนตรีไทยสอนง่ายมีตัวโน้ตแค่ 7 ตัว โด เร มี ฟา ซอลลา ที เวลาเราสอน เราก็บอกตรงนี้เสียงโด นี่เสียงเร แล้วให้เขาเล่นเพลงจิงเกิลเบลล์ เขาก็สีได้” คุณสุนทรหัวเราะเมื่อนึกถึงช่วงเวลาเหล่านั้น ก่อนเล่าว่า “ถ้าฝรั่งเล่นไม่ได้ก็จะถูกเรียกตัวให้มาตี ‘ฉิ่ง - ฉับ’ หรือไม่ก็เคาะ ‘โป๊ะเท่งโป๊ะ’ ให้จังหวะแทน”

 

สมาชิกในวงดนตรีเล็ก ๆ กลุ่มนี้มีตั้งแต่อายุ 8 ขวบยัน 80 ปี หลายคนบอกว่าการที่ได้มาเล่นดนตรีจิตอาสานี้ นอกจากจะทำให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ดนตรียังมีส่วนช่วยฝึกสมาธิและบำบัดจิตใจ จนสมาชิกผู้สูงอายุหลายคนมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคอะไรเลย

“สมัยก่อนเด็ก ๆ บางคนที่สนใจดนตรีต้องไปเรียนตามโรงเรียนสอนดนตรี แต่พอเขามาเห็นวงเรา บางคนเดินมาฟัง หรือเดินมาให้เราสอนเลยก็มี เราก็สอนให้ฟรี ๆอย่างน้อยอาจจะช่วยจุดประกายให้เขารักดนตรีไทยมากขึ้น”

จากการรวมตัวกันของคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่กี่คนที่มีใจรักในของเสียงดนตรีไทยจนกลายมาเป็นวงดนตรีตลาดน้ำตลิ่งชันปัจจุบันวงดนตรีเล็ก ๆ กลุ่มนี้ค่อย ๆ ขยายใหญ่จนมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความบันเทิงกับนักท่องเที่ยวทั้งหลายที่มาเยี่ยมชมตลาดน้ำแห่งนี้

“สมัยก่อนเวลาฝรั่งเอาสตางค์มาให้เขาจะใส่ไว้ตามรางระนาด เด็ก ๆ แถวนี้ที่รู้แกวก็จะล้วงเอาไปทีละสองร้อยสามร้อยเราเลยต้องทำตู้ พอได้เงินเยอะ ๆ ก็จะเอาไปทำบุญ เราไม่สามารถจะเอาเงินตรงนี้ไปทำอย่างอื่นได้…เพราะนี่คือเงินจากการทำงานด้วยจิตอาสา

“อย่าให้ธุรกิจทำลายวงดนตรีนี้นะ…”ครูปี๊บ คงลายทอง เคยกล่าวไว้กับสมาชิกชมรม ซึ่งวลีสั้น ๆ ประโยคนี้ยังคงเป็นหลักการที่ทำให้วงดนตรีไทยวงนี้ไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องจนถึงทุกวันนี้และยังคงเป็นวงดนตรีที่ให้แต่ความสุขสนุกสนานกับผู้ฟัง จนได้รับการตอบรับและแรงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากชนชาวตลาดน้ำทั้งหลายที่พากันนั่งฟังเพลงยิ้มแป้นทุกเสาร์ - อาทิตย์

ทุกปีเมื่อได้เงินเต็มตู้ สมาชิกชาวดนตรีไทยตลาดน้ำตลิ่งชันก็จะเฮโลยกพวกไปมอบความสุขเล็ก ๆ ตามบ้านพักคนชราและโรงเรียนที่ขาดแคลน

“พอเราได้ช่วยเหลือคนอื่นที่เขาไม่มีเราก็ภูมิใจ มันเป็นความสุขที่เราได้ทำอะไรดี ๆ…เป็นความสุขแบบที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้เลย”

            นี่เองที่เขากล่าวกันว่า ความสุขง่ายๆ หาได้จากการสร้างความสุขให้คนอื่น

 


บทความน่าสนใจ

ผมเป็น จิตอาสา ไม่ใช่ขาโหด! เรื่องเล่ายิ้มๆ ของกลุ่มนักศึกษาช่วยสังคม

อาจารย์หมอประทีป ไวคำนวณ เมื่อชีวิตพลิกจากนักธุรกิจสู่การเป็นหมอจิตอาสา

สวนโมกข์กรุงเทพ ขอเชิญชวนจิตอาสาทำบุญด้วยงานศิลปะ กับ 3 กิจกรรมตามใจชอบ

บุ๋ม ปนัดดา ทำความดีด้วยหัวใจ กับ ความสุขในการเป็นจิตอาสา

ฮีโร่ อสม.จิตอาสาด้านสุขภาพ มอบคุณค่าให้สังคมไทย

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.