คุณค่าของความทรงจำ

เรื่องเล่าของคุณยายอัลไซเมอร์ ที่จะทำให้คุณเห็น คุณค่าของความทรงจำ

เรื่องเล่าของคุณยายอัลไซเมอร์ ที่จะทำให้คุณเห็น คุณค่าของความทรงจำ

บทความเรื่อง ทำให้เห็นบางแง่มุม คุณค่าของความทรงจำ เขียนโดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล คุณหมอที่เคยรักษาอาการของคุณยายที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ท่านหนึ่ง

 ผมยืนมองคุณยายศรี (นามสมมุติ) อยู่พักใหญ่ในขณะเดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในช่วงเย็นวันหนึ่ง ผมยืนเฉยๆ ไม่ได้พูดอะไร นอกจากฟังคุณยายพูดประโยคซ้ำๆ อยู่ฝ่ายเดียว ทว่าในใจผมกลับรู้สึกอึดอัด ซึมเศร้าและเสียดายแทนคุณยายศรี

เสียดายอะไรน่ะหรือครับ สิ่งที่ผมเสียดายก็คือความทรงจำนั่นเองครับ

ในทางการแพทย์นั้นมีโรคที่เกิดจากการเสื่อมการทำงานของเซลล์ชนิดต่าง ๆ ของร่างกายหลายโรค แต่โรคที่สร้างความโศกเศร้าและสิ้นหวังต่อทั้งผู้ป่วยและญาติ รวมถึงผู้รักษาได้มากที่สุดโรคหนึ่งก็คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โรคนี้เป็นภาวะสมองเสื่อม

สำหรับสาเหตุและการดำเนินโรคของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน งานวิจัยบ่งชี้ว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายตะกอนหรือคราบที่เกิดในเซลล์สมองที่เรียกว่าพลาก (plaque) และแทงเกิล (tangle) สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวขวางกั้นการนำกระแสประสาทและมีผลต่อการเสื่อมลงอย่างเร็วของเซลล์ประสาทได้ คาดกันได้ว่าหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ เซลล์สมองจะค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ และอาจเสียชีวิตได้ในเวลาประมาณ 7 - 8 ปีและนั่นย่อมหมายความว่า เราอาจทำได้แค่มองดูคนที่เรารัก แต่นึกคำพูดที่จะพูดกับเขาหรือนึกชื่อของเขาไม่ได้ และในทางกลับกันเราอาจทำได้แค่มองดูคนที่เรารัก โดยที่เราเป็นฝ่ายจดจำเรื่องราวของเขาได้ฝ่ายเดียว แต่เขาไม่รู้จักเราเสียแล้ว

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งทรมานเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อผู้ป่วยและญาติ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือโรคนี้จะค่อย ๆ บีบบังคับให้เราต้องพรากจากคนที่รักไปอย่างช้า ๆ แม้ว่าตัวเราจะได้อยู่ใกล้ชิดกันขนาดไหนก็ตาม

เรื่องของคุณยายศรีก็น่าเศร้าใจอยู่ไม่น้อยเช่นกันครับ คุณยายเป็นอดีตครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ผมพอเดาออกได้ก่อนที่ญาติจะบอกว่าท่านมีอาชีพเป็นครู เพราะเวลาชวนคุยเรื่องเก่า ๆ ท่านจะระลึกความทรงจำช่วงที่ยังสอนเด็ก ๆ อยู่ได้บ่อย ๆ นอกจากนี้ท่านยังจำชื่อและนามสกุลของตัวเองได้แม่นยำ พูดออกมาชัดเจนมั่นใจ แต่ทว่าความทรงจำเรื่องอื่น ๆ นั้นแทบไม่เหลืออยู่อีกเลย ท่านมารักษาที่โรงพยาบาลด้วยภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและมีแผลกดทับเนื่องจากนอนติดเตียงมานาน เพราะโรคอัลไซเมอร์ที่ท่านป่วยอยู่นั้นอาการแย่ลงเรื่อย ๆ จนท่านไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสิ้นเชิง ท่านกำลังเข้าสู่ระยะสุดท้ายของภาวะสมองเสื่อมจากโรคนี้

คนที่ดูเศร้าใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นบรรดาลูก ๆ ของท่านที่ต้องเฝ้ามองคุณแม่ของตัวเองจากไปแบบคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่อาจมีคำอำลา ไม่มีเรื่องฝากฝังหรืออยากทำร่วมกันก่อนจากไปผมเองยังอดสงสารพวกเขาไม่ได้

เราแทบทุกคนรู้ว่าไม่มีอะไรในโลกที่ตั้งมั่นคงอยู่ตลอดไป ทุกสิ่งรวมถึงร่างกายของเราและคนที่เรารักย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน หลายครั้งเราก็ยังไม่สามารถต่อรองกับอำนาจของธรรมชาติด้วยวิทยาการทางการแพทย์ได้มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่าความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้มอบผลผลิตแก่เราไว้ส่วนหนึ่งเสมอ สิ่งนั้นก็คือความทรงจำ ผลผลิตจากความเปลี่ยนแปลงชนิดนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งนะครับ ก็คือเขาอนุญาตให้เจ้าของความทรงจำนั้นเลือกที่จะเก็บเป็นความทรงจำที่ดีหรือร้ายได้ทั้งนั้นสุดแล้วแต่ใจต้องการ แน่นอนครับว่าเราควรเก็บความทรงจำที่ดีเอาไว้มากกว่า

เรื่องราวของคุณยายศรีและใครอีกหลาย ๆ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจช่วยเตือนให้เราเห็นคุณค่าของความทรงจำที่ดีงามต่าง ๆ ที่ช่วยเก็บเราและคนที่เรารักอยู่ในนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดความเจ็บป่วยเช่นนี้ยังช่วยย้ำเตือนให้เราไม่ประมาทในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ความไม่เที่ยง ไม่ทน และไม่แท้ยังคงแสดงตัวให้เราพบเจออยู่ไม่เว้นวัน

การตั้งใจทำสิ่งที่ดีแก่ตนเองและคนที่เรารัก รวมถึงสังคมของเรา การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการสร้างกุศลและสิ่งดีงามอย่างไม่ลดละความพยายามในทุก ๆ วัน ย่อมแสดงถึงความไม่ประมาทในชีวิตอย่างแท้จริงครับ 


บทความน่าสนใจ

สาวน้อยวัย 14 ปีเขียนแอปฯ ช่วยยายที่ป่วยเป็น โรคอัลไซเมอร์

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : คุณยายชอบ ดุด่าลูกหลาน ควรทำอย่างไรดี

เมื่อชายหนุ่มชวนคุณยายข้างบ้านย้ายมาอยู่ด้วยกัน เพื่อช่วยดูแลเธอในวาระสุดท้าย

คุณยาย ปลูกต้นไทร ผู้ยิ่งใหญ่แห่งรัฐกรณาฏกะ

100 ก็ยังแจ๋ว! คุณยายทวดใช้เวลาวิ่งระยะ 60 เมตรไม่ถึง 30 วินาที!?

วินมอเตอร์ไซค์น้ำใจงาม ช่วยรับ-ส่งคุณยายแบบไม่คิดเงิน

การบริหารเพื่อผู้สูงอายุ

Q : คุณแม่สูงอายุแล้ว แต่ยังหวงไม่ให้ดิฉันแต่งงาน

8 ปณิธานเตือนใจ ก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ

โอเมก้า-3 ไม่ช่วยลดอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ!!!

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.