สูตรลับสำหรับ แก้ความหลง โดย ท่าน ว.วชิรเมธี – นิตยสาร Secret
สูตรลับสำหรับจัดการ แก้ความหลง โดย ท่าน ว.วชิรเมธี – นิตยสาร Secret
อวิชฺชา ปรมํ มลํ ความไม่รู้เป็นยอดแห่งมลทิน
คนจำนวนมากลืมตาตื่นอยู่อย่างผู้หลับใหล เพราะเขาไม่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต หลงเอาสิ่งสมมุติมาเป็นความจริง หลงเอาเปลือกมาเป็นแก่น หลงเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ หลงเอาความว่างมาสร้างเป็นตัวตน หลงเอาเงินตรามาเป็นพระเจ้า หลงเอากงจักรมาเป็นดอกบัว
มนุษย์เราทุกวันนี้นั้นยังหลับกันอยู่มาก หลับนี้ไม่ได้หมายความว่าเข้านอนแล้วก็หลับหรือว่านั่งตรงไหนแล้วพอพระเริ่มเทศน์ก็หลับ แต่ความจริงแล้วคำว่า “หลับ” มีความหมายลึกกว่านั้นมาก หลับในที่นี้หมายความว่า
“หลง” ภาษาบาลีใช้คำว่า “โมหะ” คนจำนวนมากตกอยู่ในความหลง ตกอยู่ในความหลับทั้ง ๆ ที่ยังลืมตา แต่ถ้ายังไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ถือว่ายังหลับอยู่หลงอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
สิ่งที่มนุษย์เราหลงกันอยู่นี้มีมากมาย เช่น
หลงกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ (สิ่งที่ใจครุ่นคำนึง)
หลงกิน กาม เกียรติ
หลงยศ ทรัพย์ อำนาจ
หลงอบายมุข
หลงในสิ่งไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยงหลงในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข หลงในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หลงในความไม่งามว่าเป็นความงาม
หลงในโลกธรรม คือ ได้ยศก็เมายศได้ลาภก็ติดลาภ ได้สรรเสริญก็ฟูฟ่องล่องลอยได้สุขก็ปลื้มปรีดา โดยหารู้เท่าทันไม่ ว่าได้ลาภย่อมเสื่อมลาภ ได้ยศย่อมเสื่อมยศ ได้สรรเสริญย่อมมีนินทา ได้สุขย่อมมีทุกข์เป็นของคู่กัน
หลงสมมุติว่าเป็นสัจจะ
หลงตัวเอง
พอไม่รู้เท่าทันสัจธรรมตามความเป็นจริงเราก็เลยพากันหลงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ใครหลงมากคนนั้นก็ทุกข์มาก ใครหลงน้อยคนนั้นก็ทุกข์น้อย ใครไม่หลงคนนั้นก็ไม่ทุกข์
เพราะไม่รู้จักความจริงของชีวิต
พุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ตื่น ใครตื่นแล้วย่อมไม่หลง แต่ทำอย่างไรเราจะไม่หลงก็ต้องมาเรียนรู้กันว่ามนุษย์เราหลงอะไรบ้างเช่น หลงกามารมณ์ หลงเงิน หลงอำนาจหลงทำงานหนัก จนชีวิตเสียสมดุลซึ่งกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่คุกคามชีวิตของเราอยู่ทุกเมื่อ-เชื่อวัน หนังสือพิมพ์ก็รายงานข่าวเรื่องเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ เราน่าจะได้เรียนรู้จากความหลงที่ใกล้ตัวเราเหล่านี้เอาไว้บ้าง
ความหลงในความหมายอย่างสูงแท้ ๆท่านหมายเอาการไม่รู้จักความจริงของโลกของชีวิต เช่น ไม่รู้ว่าชีวิตเป็นอนัตตา จึงคิดไปว่ามีตัวตนที่เป็นอัตตาถาวร เป็นตัวกูของกู และนี่กูนะ (อหังการ มมังการ) เกิดความหลงผิด ยึดติดถือมั่นสำคัญหมาย การหลงในความยึดติดถือมั่นนี้เป็นจุดศูนย์กลางของความทุกข์ เหมือนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
“กล่าวโดยสรุป ขันธ์ (ชีวิต) อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดติดถือมั่นทั้ง 5 เป็นตัวความทุกข์”
พอเราฆ่าความหลงผิดชนิดนี้ได้ ชีวิตก็หมดทุกข์ บรรลุถึงความสว่างไสวทางปัญญาหลุดออกมาเป็นอิสระ ที่เรียกว่าบรรลุพระนิพพาน
ในเรื่องการหลงผิดยึดติดถือมั่นในอัตตาตัวตนนี้ ผู้เขียนเคยแต่งบทกวีไว้บทหนึ่ง จึงขอนำมาให้อ่านกันในตอนนี้ด้วย
“ตัวกู ของกู นี่กูนะ”
สรรพสิ่งเป็นของว่างอยู่อย่างนั้น มนุษย์สรรค์สรรพนามนิยามใหม่สร้างสมมุติครอบความว่างกระจ่างใจแต่นานไปเราก็ลืมปลื้มว่าจริง
ธรรมชาติธรรมดามาบัญญัติเป็นคนสัตว์บุคคลตัวตนสิงนี่สตรีนั่นบุรุษสุดประวิงมีชื่อพริ้งไพเราะเสนาะกรรณ
จากสมมุติเพื่อเรียกขานพอนานเข้าก็ลืมเจ้าสมมุติเดิมเริ่มกระสันเกิด “ตัวกู - ของกู” สมสู่กันคลอดจากครรภ์เป็น “กูนะ” อหังการ
อยู่ที่ไหนกูต้องใหญ่ต้องได้หน้าต้องวางท่าเป็นมูลนายหลายสถาน ต้องมีคนเอาใจให้สำราญต้องหมอบคลานนอบนบมาซบกู
แต่วันไหน คนไม่เห็นไม่เด่นดีความทุกข์ปรี่เข้าเกาะกุมไฟสุมสู่กินไม่ได้นอนไม่หลับทับระดูโรคตัวกูทำพิษอนิจจา
คืน “ตัวกู - ของกู – นี่กูนะ”สู่ธรรมชาติเดิมเติมสิกขาไม่ยึดติดในสมมุติสุญตาจึงชีวาเย็นชื่นอย่างรื่นรมย์
นอกจากความไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริงที่ท่านถือเป็นความหลงแล้ว การไม่รู้จักอริยสัจ 4 ก็เป็นความหลงในความหมายขั้นลึกด้วย เพราะฉะนั้นในหลักเรื่องทางสายกลาง ท่านจึงเริ่มแก้ความหลงด้วยการวางสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจที่ถูกต้อง) ไว้เป็นองค์มรรคข้อที่ 1 และการสร้างสัมมาทิฏฐิเพื่อความหายหลง ท่านทรงแนะให้คบกัลยาณมิตรผู้ชี้ทิศนำทางที่ดีและแนะวิธีให้รู้จักคิดไว้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ขาดไม่ได้
เรื่องจาก : นิตยสารซีเคร็ต
บทความที่น่าสนใจ
ท่าน ว.วชิรเมธี กับข้อคิดกระตุกสติ “ความรู้” ที่ท่านอาจจะ “ยังไม่รู้”
รอให้ถึงพรุ่งนี้ก็สายเกินไป ฟังธรรมจาก ท่าน ว.วชิรเมธี
20 คำขอพร แบบชาวพุทธแท้ๆ และเป็นปัญญาชน โดยท่าน ว.วชิรเมธี
อานิสงส์ของการเจริญสติ โดย ท่านว.วชิรเมธี