แค่รักอาจยังไม่พอ! วิธีดูแล พ่อแม่สูงวัย 4 ประเภท รับรองลดการทะเลาะชัวร์

เคยเป็นไม่…แม้จะรักพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายมาก อยากจะดูแลใกล้ชิดแม้จะเป็น พ่อแม่สูงวัย แล้วก็ตาม แต่หลายครั้งก็อดดุท่านไม่ได้ โดยเฉพาะ พ่อแม่สูงวัย

แพทย์หญิงสิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานว่า

หมอเห็นญาติคนไข้บางคนบ่นว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายดูแลยากกว่าดูแลเด็กอีก หมอเห็นด้วยว่ายากกว่า เพราะจะดุหรือตีไม่ได้ถึงแม้ท่านจะอายุมาก หลงๆ ลืมๆ ความสามารถถดถอยลงไป แต่อย่างไรเสีย เรายังต้องนึกถึงความมีอาวุโสของท่าน ไม่ควรไปบั่นทอนความรู้สึกนี้ลงไป ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า เราต้องปฏิบัติต่อท่านด้วยความเคารพและให้เกียรติเสมอ”

ดังนั้นนอกจากความรักที่ผู้เป็นลูกเป็นหลานพึงมีให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายแล้ว เรายังจำเป็นต้อง “เข้าใจ” ตัวท่านด้วย เพราะถ้าเข้าใจกันมากขึ้น ลดการทะเลาะเบาะแว้งลง คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุก็จะดีขึ้น

Secret มีวิธีจัดการกับปัญหาเล็กๆ ในบ้านที่มักพบเจอบ่อยๆ มาให้คุณลูกๆ ที่กำลังดูแล พ่อแม่สูงวัย ได้ลองนำไปปฏิบัติ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

-พ่อแม่ประเภทขี้เกรงใจ หรือขี้น้อยใจ

พ่อแม่สูงวัย

ผู้สูงอายุมักไม่ค่อยเอ่ยปากว่าอยากได้หรือต้องการอะไรบ้าง ดังนั้นลูกหลานต้องจัดหาให้เอง ขอแนะนำให้ลองทำก่อนแล้วดูว่าท่านชอบไหม ถ้าท่านชอบก็หมั่นหามาเอาใจ บางครั้งของดีๆ ที่เราตั้งใจให้ ท่านอาจไม่รับก็มี คนวัยคุณตาคุณยายมักเป็นแบบนี้ ถึงเราจะเสียใจหรือนึกเคืองในใจก็ลองพูดกับท่านดีๆ ว่าเราอยากให้ท่าน อยากตอบแทนพระคุณ ถ้าท่านไม่เปลี่ยนใจ ก็พยายามทำใจว่าท่านเป็นอย่างนี้ แล้วปล่อยผ่านไปเสียบ้าง

-พ่อแม่ประเภทเก็บหมด หรือแจกหมด

พ่อแม่สูงวัยเวลาลูกหลานหาของมาให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ก็จะเลือกสรรแต่สิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ แต่ผู้สูงอายุมักจะเก็บของกินดีๆ เอาไว้ใส่บาตร ถวายหลวงพ่อที่นับถือ ไม่ยอมกินเอง คนให้ก็โกรธ เพราะคาดหวังว่าท่านจะได้กินได้ใช้ ไม่ใช่ยกให้คนอื่น

แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็ต้องถนอมรักษาน้ำใจของกันและกัน บางครั้งก็ต้องบอกผู้สูงอายุให้ทราบว่าลูกหลานมีความตั้งใจอย่างไร ขอให้ท่านกินหรือใช้ให้เห็นบ้างเพื่อเราจะได้สบายใจ ยิ่งมีลูกหลายๆ คนของที่คนนี้ให้เอาไปยกให้อีกคน อาจทำให้คนที่ตั้งใจให้น้อยใจ และอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันเองจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้

ส่วนคนให้ ถ้าไม่อยากโกรธหรือเสียใจ เวลาให้ของท่านแล้ว จิตควรจะตั้งอยู่ที่การให้ ส่วนท่านจะนำไปทำอะไรต่อไม่ต้องคิดมาก เพราะเป็นเรื่องของท่านแล้ว

-พ่อแม่ประเภทรักคนไกล ไม่รักคนใกล้

พ่อแม่สูงวัย

ลูกคนที่ดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิดอยู่ทุกวันมักจะรู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกคนอื่นที่อยู่ไกลตัวมากกว่า แต่หากถามว่าท่านรักลูกคนที่อยู่ใกล้ไหมท่านย่อมรัก แต่ไม่ได้แสดงออกเท่านั้น แต่หากเราทำดีที่สุดแล้ว ท่านก็ยังแสดงออกว่ารักลูกคนอื่นๆ มากกว่าก็ต้องทำใจ อาจทำใจยาก แต่ถ้าทำได้แล้วรับรองว่าคุณจะไม่เป็นทุกข์ ให้คิดว่าอย่างน้อยคุณกับท่านก็มีช่วงเวลาดีๆ ด้วยกัน ควรมาใช้ช่วงเวลาดีๆ เหล่านี้ให้มีคุณค่าจะดีกว่าและคิดเสียว่าถ้าเป็นความสุขของท่าน คุณก็ควรจะดีใจ

ส่วนคนเป็นพ่อแม่ก็ต้องอย่าลืมว่า ลูกคนที่อยู่ใกล้คือคู่ทุกข์คู่ยากและคู่กัด คือคนที่ร่วมกรรมมาด้วยกัน จะชื่นชมลูกคนที่อยู่ไกล แต่เป็นลูกสุดรักสุดโปรด ก็ควรจะเบาๆ หน่อย

-พ่อแม่ประเภทหวงสมบัติ

พ่อแม่สูงวัยส่วนใหญ่เมื่อลูกหลานเห็นว่าข้าวของที่คุณตาคุณยายใช้อยู่เก่าคร่ำคร่าแล้วก็มักโยนทิ้งไปด้วยความปรารถนาดี และจัดหาของสวยของใหม่มาให้แทน แต่ต้องไม่ลืมว่าของบางอย่างมีคุณค่าทางจิตใจ บางชิ้นบางอันมีความทรงจำอยู่มาก อย่าไปคิดว่าเป็นแค่ของเก่าๆสมควรทิ้ง แต่เราควรนำข้าวของชิ้นนั้นไปซ่อมแซม ขัด ทาสีใหม่ให้ดูดี หรือถ้าเป็นของกระจุกกระจิกดูไม่สวยงาม ก็หากล่องหรือตู้ให้ท่านไว้ใส่ (ลองสอบถามท่านดูสักนิดก่อนจะลงมือทำ ว่าท่านอยากให้ใช้วิธีไหน)

เราอาจคาดไม่ถึงว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้สามารถทำให้ผู้สูงอายุสะเทือนใจได้ง่ายๆ เพราะท่านจะรู้สึกเหมือนขาดสิ่งสำคัญในชีวิตไป หรือไม่ท่านก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมายพอที่ลูกหลานจะนึกถึงจิตใจและที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือ อาจเกิดอาการซึมเศร้าตามมาด้วยเรื่องที่คุณคิดเอาเองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

ด้วยเหตุนี้ ในการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย คุณอาจต้อง “ยอมรับท่านอย่างที่ท่านเป็น ไม่ใช่อย่างที่คุณอยากให้เป็น” เพราะบางครั้งแม้อะไรๆ จะไม่ได้อย่างที่ใจเราต้องการ แต่ถ้าเราเข้าใจและยอมรับได้ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง

และทำให้ช่วงเวลาแห่งความสุขร่วมกันมีมากขึ้น

 

ภาพ : stocksnap.io

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.