ท่องสวนพุทธธรรมที่ วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
สำหรับคนที่กำลังมองหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ขอแนะนำ วัดอุโมงค์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากเมื่อเข้ามาในอาณาบริเวณวัดจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศสงบร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เหมาะแก่การวิปัสสนาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ภายในวัดก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย
วัดอุโมงค์ นั้นเดิมชื่อ วัดเวฬุกัฎฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ) ตามประวัติวัดนี้สร้างโดยพระเจ้ามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย หลังจากพระเจ้ามังรายสวรรคต พระเจ้าผายูก็ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนาในล้านนาให้เจริญขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่พระเจ้าผายูสวรรคต จึงได้มีการอัญเชิญเจ้าท้าวกือนาจากเมืองเชียงแสนมาราชาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์ที่ 9 ของ
ราชวงศ์มังราย ทรงพระนามว่า “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” พระองค์โปรดให้บูรณะซ่อมแซมเจดีย์และสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่ฐานของเจดีย์ ซึ่งมีทางเข้าอยู่ทางทิศเหนือ สาเหตุที่ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเนื่องจากพระองค์ทรงเลื่อมใสภิกษุรูปหนึ่งคือ พระมหาเถรจันทร์ ตามตำนานเล่าว่า ภิกษุรูปนี้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก แต่มีสติเฟือนเพราะถูกเทวดาแปลงสาป พระองค์จึงทรงสร้างอุโมงค์เพื่อให้เป็นที่อยู่ของพระมหาเถรจันทร์ ชาวบ้านจึงเรียก “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตั้งแต่นั้นมา
ส่วนชื่อ “สวนพุทธธรรม” นั้น เป็นชื่อใหม่ที่ภิกขุ ปัญญานันทะ ประธานวัดอุโมงค์ในปี พ.ศ. 2492 – 2509 ตั้งขึ้นเพื่อเรียกป่าผืนใหญ่ที่ครอบคลุมวัดร้างโบราณซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 150 ไร่ โดยสิ่งที่น่าสนใจที่ขอแนะนำให้ทุกท่านไปชม มีดังนี้
พระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะพุกาม พม่า มีการประดับลวดลายปูนปั้นเพิ่มเติมในรัชกาลของพระเมืองแก้ว
หลักศิลาจารึก บันทึกประวัติความเป็นมาของวัดอุโมงค์
เสาหินอโศกจำลอง สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอดีต และรำลึกถึงพระราชเกียรติของพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งอยู่บริเวณหน้าอุโมงค์
พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง อยู่บริเวณหน้าอุโมงค์ มีเศียรพระพุทธรูปและองค์พระพุทธรูปโบราณเรียงราย แสดงถึงความงามในศิลปะรูปแบบต่าง ๆ
โรงภาพปริศนาธรรม จัดแสดงภาพวาดปริศนาธรรมที่แฝงคำสอนทางพุทธศาสนาให้แง่คิดนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
หอสมุดธรรมโฆษณ์ ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์และมีบริการให้ยืมเทปธรรมะ ชั้นล่างเป็นห้องสมุด เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป เปิดทุกวันยกเว้นวันพระและวันหยุดนักขัตฤกษ์
อุโมงค์เถรจันทร์ มีทางเข้า 4 ทาง ทั้งหมดมีทางเดินเชื่อมต่อถึงกัน ภายในอุโมงค์มีพระพุทธรูปให้สักการะและมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีนและพม่าให้ชมที่บริเวณเพดานโค้งของอุโมงค์ เนื่องจากวัดนี้เคยถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน จึงมีดินเข้าไปทับถมในอุโมงค์ เมื่อครั้งที่เจ้าชื่น สิโรรส ให้คนงานแผ้วถางเพื่อบูรณะ มีการขุดไปโดนผนังอุโมงค์ทำให้ภาพจิตรกรรมเสียหาย ลบเลือน และมีภาพหลงเหลืออยู่บางจุดเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2542 – 2543 กรมศิลปากรเข้ามาทำการอนุรักษ์จึงได้เห็นความงดงามของลวดลายที่หลงเหลืออยู่
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Ha-Hoong
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร
บทความที่น่าสนใจ
3 สิ่งห้ามพลาดชมใน วัดพระแก้ว จ.เชียงราย
ตามรอยพระบาทยาตรา “องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ วัดพระพุทธบาท สระบุรี