ตำหนิพ่อแม่

ปัญหาธรรมประจำวันนี้ : ตำหนิพ่อแม่ เพราะหวังดี เป็นบาปหรือไม่ 

ตำหนิพ่อแม่

หากเกิดอาการอยาก ตำหนิพ่อแม่ ขอให้กลับไปเข้าใจพ่อแม่ในความหมายของท่าน และให้อภัยในความไม่รู้ของตัวเอง แล้วเริ่มต้นใหม่

ถาม

ถ้าเราดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่เผลอพูดจาตำหนิตอนที่พ่อแอบกินขนมหวานเพราะความหวังดีจะเป็นบาปหรือไม่ มีวิธีแก้อย่างไรคะ

ตอบ

พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท  แก้ไขปัญหานี้ว่า ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น 

ประเด็นที่ 1 การเตือนด้วยความเป็นห่วง นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะการรักษาโรคเบาหวานให้ได้ผล นอกจากผู้ป่วยต้องพึ่งตนเองด้วยการมีวินัย คุมอาหารและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอแล้ว หากได้กัลยาณมิตรผู้ช่วยทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เอาใจใส่เรื่องอาหาร คอยเตือนเรื่องยา ก็จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยจะเบาใจกับเบาหวานและอยู่กับลูกหลานได้อย่างมีความสุข

ในทางพระพุทธศาสนา คุณสมบัติของกัลยาณมิตรเรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม มี 7 ข้อ ข้อที่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้คือ ข้อที่ 4 วตฺตา รู้จักพูดให้ได้ผล เรารู้ว่าพ่อเป็นคนอย่างไร ก็ควรคิดหาวิธีพูดที่เหมาะสมที่จะทำให้ท่านให้ความร่วมมือ และข้อที่ 5 วจนกฺขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ บางครั้งพูดครั้งเดียวแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องพูดซ้ำ ๆ พูดบ่อย ๆ และเมื่อเขาฟังแล้วอาจไม่ชอบ มีโต้ตอบก็ต้องอดทน ถือเป็นโอกาสฝึกสติของตนไปด้วยฉะนั้นการเตือนบ่อย ๆ เป็นประโยชน์และถือว่าเราได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตร

ประเด็นที่ 2 บาปหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูว่า ขณะพูดเตือน เราทำด้วยความหงุดหงิด รำคาญหรือไม่ มีโทสะอยู่หรือเปล่า หากมีก็อาจนับเป็นวจีทุจริต คำพูดหยาบคาย พูดด้วยอารมณ์ขุ่นมัว เราก็ต้องกลับมาใช้ปัญญาขัดเกลาตัวเองให้มากขึ้น ลองคิดหาหนทางอื่นในการบอกกล่าว

การห้ามอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผล อย่างนั้นลองเปลี่ยนเป็นการให้รางวัลดีไหม เช่น หากลดขนมหวานได้ จะพาท่านไปเที่ยวในที่ที่ท่านอยากไป หรือเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมให้ท่านออกกำลังกายเพิ่มเติมด้วย ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า

แต่หากพูดตะคอกกับพ่อแม่ หรือไม่ว่ากับใคร ย่อมเกิดจากใจที่มีโทสะหรือความโกรธ จึงเป็นอกุศล จะเรียกว่าเป็นบาปก็ได้ ยิ่งตะคอกกับผู้มีพระคุณ เช่น บุพการี ก็ยิ่งทำให้เดือดเนื้อร้อนใจมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นบาปมาก เพราะไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือทำร้ายท่าน อีกทั้งมิใช่อนันตริยกรรม เมื่อได้เผลอทำไปแล้ว วิธีที่จะบรรเทาบาปนั้นก็คือ ขอขมาท่านและตั้งใจจะไม่ทำอีก ขณะเดียวกันก็ไม่ควรหวนกลับไปคิดถึงการกระทำนั้นบ่อย ๆ หาไม่จะเป็นเสมือนกับว่าได้กลับไปกระทำกรรมนั้นอีก แม้เป็นแค่มโนกรรมก็ตาม

“หนูรู้สึกว่าแม่โง่ เพราะแม่ทำผิดทำพลาดจนครอบครัวของเราต้องลำบากอย่างนี้”

“หนูโกรธแม่ที่ แม่ไม่ยุติธรรม กับหนู ถึงแม้ว่าแม่จะตายไปนานแล้ว หนูก็ยังรู้สึกโกรธทุกครั้งที่นึกถึงความไม่ยุติธรรมของแม่”

“ผมเกลียดที่ พ่อเจ้าชู้ สำส่อนยุ่งกับผู้หญิงไม่เลือกหน้า ความเจ้าชู้ของพ่อทำให้แม่ต้องเสียใจมาตลอดชีวิต”

“ขอโทษนะครับ ถ้าผมรู้สึกว่า พ่อผมควาย มากนี่ต้องทำยังไง จะบาปไหมครับ”

บาปแน่นอน ยังมีมนุษย์ลูกอีกมากมายในโลกนี้ที่รู้สึกโกรธเกลียดพ่อแม่ทั้งแบบเปิดเผยและแบบเก็บกดเอาไว้ แล้วความรู้สึกนี้ก็ก่อให้เกิดความทุกข์ซ้ำซ้อนขึ้นในใจของลูก ลำพังทุกข์เพราะความโกรธก็ร้อนรุ่มดั่งไฟสุมขอนอยู่แล้วยังต้องทุกข์จากความรู้สึกผิดที่โกรธพ่อแม่อีก เพราะเราถูกอบรมสั่งสอนกันมาแต่โบราณกาลว่า ลูกจะโกรธเกลียด ดุด่าว่ากล่าวพ่อแม่ไม่ได้ มันเป็นบาป สภาวะที่ใจเป็นทุกข์นั่นแหละบาป พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ที่ลูกต้องเคารพบูชาสูงสุด สิ่งที่โบราณาจารย์ท่านสอนไว้นั้นจริงทุกคำ ท่านสอนไว้เพื่อเตือนสติมนุษย์ลูกไม่ให้ประมาทพลาดพลั้ง และจะได้รู้เท่าทันกลเกมกรรม

ลูก ๆ ทั้งหลายที่เคยโกรธพ่อเกลียดแม่อย่าได้ทุกข์ร้อนใจจนเกินไป สิ่งที่ทำไปแล้วมันก็ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้มามุ่งความสนใจไปสู่สิ่งที่เราสามารถทำได้ดีกว่า ถึงจะย้อนเวลากลับไปแก้ไขกายกรรม วจีกรรมของเราไม่ได้ แต่สามารถแก้ไขความเข้าใจของเราใหม่ได้ โดยใช้จินตนาการย้อนกลับไปยังเรื่องราวที่เป็นสาเหตุแห่งความรู้สึกลบต่าง ๆ ที่มีต่อพ่อแม่ กลับไปพิจารณาด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง กลับไปเรียนรู้และเข้าใจพ่อแม่ในสถานการณ์นั้น ๆ อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อเปลี่ยนความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับตัวเองให้กลับมาถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น

มนุษย์เรามักหลงลืมความจริงที่ว่า เราทุกคนต่างเกิดมาเพื่อเรียนรู้ พ่อแม่ทุกคนก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้เหมือนกันกับมนุษย์ลูก เป็นไปได้ที่มนุษย์พ่อแม่จะทำผิดทำพลาด ทำให้ลูกโกรธ ทำให้ลูกเสียใจ ทำให้ลูกเข้าใจผิดว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ยุติธรรม เพราะความไม่รู้ของพ่อแม่ พ่อแม่ท่านเรียนรู้มาอย่างนี้ มีปัญญาแค่นี้จึงตัดสินหรือลงมือกระทำเรื่องราวนั้นไปตามสติปัญญา ซึ่งหมายรวมทั้งปัญญาในทางโลกและทางธรรม คนที่มีปัญญาในทางโลกสูง ๆ ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะต้องมีปัญญาในทางธรรมสูงไปด้วย เพราะฉะนั้นถ้าลูกบางคนจะพบกับการกระทำโง่ ๆ ของพ่อแม่ที่เป็นดอกเตอร์บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้ว่าการกระทำของพ่อแม่จะถูกบ้างผิดบ้างเปลี่ยนแปลงไปตามองค์ประกอบของเรื่องราว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจากใจของพ่อแม่ สิ่งนั้นเรียกว่า รัก

พ่อแม่ทุกคนรักลูกเสมอ แม้ในขณะที่กำลังทำสิ่งที่ลูกคิดว่าไม่ยุติธรรม แม้ในขณะที่กำลังไปเจ๊าะแจ๊ะจิ๊จ๊ะกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่แม่ของเรา เราต้องแยกให้ออกระหว่างหัวใจกับการกระทำของพ่อแม่ มนุษย์ลูกส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเองว่าไม่เป็นที่รัก ไม่มีความสำคัญ ไม่ดีพอ เพราะตัดสินจากพฤติกรรมของพ่อแม่โดยไม่มองลึกลงไปถึงหัวใจท่าน การกระทำบางอย่างอาจดูไม่ยุติธรรมสำหรับลูก แต่ด้วยปัญญาของพ่อแม่ ท่านคิดว่านั่นยุติธรรมแล้ว พ่อแม่อาจแปลความหมายของคำว่ายุติธรรมคือความเหมาะสม เช่น พ่อแม่แบ่งสมบัติให้ลูกไม่เท่ากัน โดยพิจารณาให้ตามความเหมาะสม ลูกคนนี้ยังลำบากจึงแบ่งให้มากหน่อย ลูกคนนั้นรวยแล้วแบ่งให้น้อยหน่อย อย่างนี้เป็นต้น แต่คำว่ายุติธรรมสำหรับลูกนั้นหมายถึงเท่า ๆ กัน เพราะตีความไม่เหมือนกัน มีภาพในหัวต่างกัน ลูกจึงตัดสินพ่อแม่ว่าไม่ยุติธรรม และเข้าใจไปเองว่าพ่อแม่ไม่รักตน

หาเวลาเงียบ ๆ หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สักครู่ แล้วจินตนาการย้อนกลับไปที่เรื่องราวที่เป็นรากเหง้าของความโกรธ กลับไปเข้าใจพ่อแม่ในความหมายของท่าน และให้อภัยในความไม่รู้ของตัวเอง แล้วเริ่มต้นใหม่

 

หากผู้อ่านมีปัญหาหนักใจ ต้องการคำแนะนำแฝงด้วยแนวคิดทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่  Secret Magazine (Thailand)

ที่มา  นิตยสาร Secret คอลัมน์ Dhamma Daily

Photo by soren-astrup-jorgensen-137467-unsplash


บทความน่าสนใจ

อุบะสุเทะ ภูเขาที่พ่อแม่ถูกทิ้ง

วิธีตอบแทนพ่อแม่ ระดับสูง…หนทางสู่การเป็น “ที่สุด” แห่งความกตัญญู

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.