นทีป์ ฅนปากศิลป์

นทีป์ ฅนปากศิลป์ จากสตั๊นท์แมนสู่ศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะด้วย “ปาก”

นทีป์ ฅนปากศิลป์ จากสตั๊นท์แมนสู่ศิลปิน ผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะด้วย “ปาก”

นทีป์ ฅนปากศิลป์ หรือ นายวิเชียร ดิษฐี อดีตสตั๊นท์แมนที่เคยทำเงินได้ถึงวันละ 3,000 บาท กลับต้องกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพด้วยปาก

ก่อนที่นทีป์จะก้าวเข้าสู่การเป็นสตั๊นท์แมน เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการขับรถส่งน้ำแข็งตามคอนโดมิเนียมของโมเดลลิ่งต่าง ๆจนกระทั่งวันหนึ่งนักแสดงประกอบมีจำนวนไม่พอ โมเดลลิ่งจึงติดต่อให้เขาไปเล่นเป็นนักแสดงประกอบ ด้วยเห็นว่าหน่วยก้านดี ต่อมาหลังจากที่เขาฝึกปรือทักษะการแสดงผาดโผนและทักษะอื่น ๆ เช่น การฟันดาบขี่ม้า และยิงปืน เขาก็กลายเป็นสตั๊นท์แมนมากฝีมือที่ได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างสูง

แต่แล้วชีวิตของเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ด้วยการประสบอุบัติเหตุจากการฝึกซ้อมเพื่อแสดงโชว์อุลตร้าแมนที่อิมแพ็คเมืองทองธานีในช่วงปี 2544 เหตุการณ์ตอนนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแสดงรอบสื่อมวลชนเสร็จสิ้นลง และบรรดานักแสดงก็พากันกลับที่พัก เพื่อซักซ้อมก่อนที่จะแยกย้ายไปพักผ่อน แต่ความเหนื่อยล้าทำให้นทีป์พลาดท่าเสียหลักขณะซ้อม เขาล้มศีรษะกระแทกพื้น เป็นผลให้กระดูกคอหักและเป็นอัมพาต

 

นทีป์ ฅนปากศิลป์

 

หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อน ๆ สตั๊นท์แมนก็พาเขาไปส่งที่โรงพยาบาล ในช่วงแรกของการรักษา เขาต้องเจาะคอ ทำให้ไม่สามารถพูดได้ ทั้งยังต้องผ่าตัดใส่เหล็กดามคอเนื่องจากกระดูกคอได้รับความเสียหายรุนแรง ในขณะนั้นเขาไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก จนกระทั่งแม่ของเขาตัดสินใจบอกความจริง

เมื่อรู้ความจริงว่าตนจะไม่สามารถกลับมาเดินได้ เขาถึงกับคิดฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถรับสภาพของตนเองได้ จากคนที่เคยมีร่างกายแข็งแรงกำยำและสามารถทำเงินได้วันละหลายพันบาท กลับต้องกลายมาเป็นผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้

เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังจากที่เขากลับมารักษาตัวที่บ้านก็พบว่า ภรรยาของเขาทิ้งเขาและลูกน้อยอีก 2 คนไปมีครอบครัวใหม่เสียแล้ว แต่ลูกชายทั้งสองคนนี้เองที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้เป็นพ่อ ทำให้เขาหยุดคิดที่จะฆ่าตัวตายและค้นหาวิธีสร้างรายได้เพื่อนำมาเป็นทุนการศึกษาของลูก ๆ

 

นทีป์ ฅนปากศิลป์

 

หลังจากนั้นไม่นาน เขามีโอกาสได้ดูเทปบันทึกรายการหนึ่งซึ่งนำเสนอเรื่องราวของ อาจารย์เอกชัย วรรณแก้ว ผู้พิการแขนที่ใช้เท้าวาดภาพ เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจทดลองวาดภาพโดยใช้อวัยวะที่ยังสามารถใช้งานได้ตามปกตินั่นคือ “ปาก”

 

นทีป์เริ่มต้นจากการฝึกเขียนตัวอักษรก่อน จากนั้นจึงหัดวาดรูปอย่างง่าย ๆ เขาใช้เวลาฝึกอยู่ 6 เดือนจึงสามารถวาดรูปด้วยปากได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น โดยใช้ฟันหน้ายึดแท่งดินสอและบังคับให้ไปตามทิศทางที่ต้องการ ส่วนเรื่องการแรเงา เขาใช้คอตต้อนบัดส์หรือสำลีพันปลายไม้ในการเกลี่ยเพื่อสร้างแสงเงา

ปัจจุบันนทีป์ใช้เวลาในการวาดภาพวันละ 8 - 9 ชั่วโมง เพราะต้องพักเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างวันเพื่อป้องกันแผลกดทับจากนั้นจึงกลับมาวาดใหม่ในท่านอนตะแคงขวา

 

นทีป์ ฅนปากศิลป์

 

สำหรับนทีป์แล้ว ศิลปะมิได้เป็นเพียงงานอดิเรก แต่เป็นอาชีพที่ทำให้เขามีเงินมาจุนเจือครอบครัว โดยการขายภาพวาดและเสื้อปักลายที่เขาวาดและออกแบบด้วยตนเอง นอกจากนั้นศิลปะยังเป็นเสมือนสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเขาไม่ให้ฟุ้งซ่าน ทั้งยังทำให้เขามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขารัก

 

ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งนทีป์เคยท้อแท้กับชีวิตถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่ในปัจจุบันเขากลับหันหลังให้โชคชะตา และหันหน้ามาสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและคนในครอบครัว

นทีป์เชื่อเสมอว่า ไม่ว่าคนพิการหรือคนปกติ ขอแค่มีใจสู้และมีความรับผิดชอบต่อตนเอง รู้ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดสำคัญ อย่าคิดว่าตนเองทำไม่ได้ เพราะทุกคนมีศักยภาพในตนเอง อยู่ที่ว่าเราจะดึงมันออกมาได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราต้องดิ้นรนต่อสู้ เราก็จะสามารถดึงพลังที่ซ่อนเอาไว้ออกมา เพื่อทำในสิ่งที่เราเคยคิดว่าทำไม่ได้ให้สำเร็จ

ถ้าหากคุณคือคนที่มีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่กลับรู้สึกท้อถอยและหมดกำลังใจในการดำเนินชีวิต ศิลปินผู้นี้คงเป็นกระจกที่สะท้อนให้คุณเห็นถึงศักยภาพที่คุณมีได้ไม่มากก็น้อยทีเดียว

เรื่อง อิศรา ราชตราชู ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี สไตลิสต์ ณัฏฐิตา เกษตระชนม์

ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 189


บทความน่าสนใจ

ลุงไกร เกษตรศิลปินแห่งวังน้ำเขียวกับจิตวิญญาณเกษตรเสรี

เรื่องราวน่ารัก ศิลปินช่างสักใจดี ช่วยหนูน้อยผู้ป่วยกลับมายิ้มแก้มปริได้อีกครั้ง

เมื่อเด็กตาบอดกลายเป็นศิลปิน | กรุณาสัมผัส (Please Touch Exhibition)

ชีวิตนี้ที่เลือกเอง  “ปุ๊กกี้”  ปริศนา พรายแสง

ชายชรา กับเด็กพิการสมองอัจฉริยะ : Jim Bradford HK Derryberry

ครูผู้ส่งต่อ คำสอนของพ่อ แก่เด็กผู้พิการทางการได้ยิน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.