ทำไมต้อง เจริญอานาปานสติ
เจริญอานาปานสติ คือ การระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกในปัจจุบันแต่ละขณะ เป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องกำหนด สาเหตุที่เราเจริญอานาปานสติก็เป็นไปเพื่อเหตุผลหลักๆ 4 ประการ ตามที่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้จำแนกไว้ดังนี้
- เพื่อศึกษาชีวิต
การเข้าใจตนเองในที่นี้ หมายถึง เราจะค่อยๆ เข้าใจในการกระทำของตนเองว่าเมื่อสร้างเหตุดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็ได้ผลดี คือมีความสุข ตรงกันข้ามเมื่อคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี ผลก็ไม่ดี คือมีความทุกข์ เมื่อเราเข้าใจตามความเป็นจริงดังนี้แล้ว เราจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราไปในทางที่ดีขึ้น ชีวิตก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จิตใจก็พัฒนาสูงขึ้น ใช้หลักศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางในการละเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้ชีวิตมีความสุข
- เพื่อสุขภาพใจ
ถึงแม้ว่าตาเห็นอะไร หูได้ยินเสียงอะไร ก็ไม่ให้ยินดียินร้ายกับสิ่งภายนอก หมายความว่า เมื่อกระทบอารมณ์ทุกชนิดไม่ว่าดีหรือไม่ดี พอใจ ไม่พอใจ สามารถกำหนดรู้เท่าทันได้ ถึงแม้ว่าทุกข์ขนาดไหนก็ทำใจได้ วางใจให้สงบได้ ไม่คิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ยินดี ยินร้าย หรือหากจะคิด ก็คิดดี คิดถูก คิดด้วยสติปัญญา ไม่ใช่คิดปรุงแต่งไปตามกิเลส เราจะไม่หลงอารมณ์ ไม่ยอมให้อารมณ์มีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของเรา เราจะสามารถรักษากาย วาจา ใจ เรียบร้อย มีสติกลับมาระลึกรู้ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ไม่ไปยึดติดกับสิ่งภายนอก แต่มองเห็นอารมณ์ภายใน ควบคุมอารมณ์ ควบคุมความคิดได้ รักษาสุขภาพใจดีได้
- เพื่อสร้างกำลังใจ
ใจเป็นประธาน ใจเป็นหัวหน้า เมื่อใจดี คิดดี พูดดี ทำดี ก็เป็นสุข การเจริญอานาปานสติจึงเป็นการสร้างกำลังใจ อันได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
- เพื่อความไม่ประมาท
ในวาระสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์สุดท้าย ซึ่งเป็นสาระแห่งธรรมที่สรุปรวบยอดไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” การถึงพร้อมด้วยประโยชน์ในที่นี้ หมายถึงการเจริญอานาปานสติให้สมบูรณ์เพื่อเข้าถึงอริยมรรค อริยผล และพระนิพพาน
ที่มา : หนังสือชั่วโมงแห่งความดี โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
ภาพ : www.pexels.com
บทความที่น่าสนใจ
ทำสมาธิแบบ อานาปานสติภาวนา “ลมหายใจแห่งปัจจุบันขณะ”
นั่งสมาธิเป็นเพราะอยากกินเงาะ : หลวงปู่ขาว อนาลโย