เจริญภาวนา

7 ขั้นตอนเจริญภาวนาด้วยการซ้อมตาย : พศิน อินทรวงค์

7 ขั้นตอน เจริญภาวนา ด้วยการซ้อมตาย : พศิน อินทรวงค์

หลายคนอาจเข้าใจว่า การทำบุญด้วยวิธี เจริญภาวนา ทำยากมาก พอพูดเรื่องการเจริญภาวนานั้นจะนึกถึงการนั่งหลับตา แต่จริงๆไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป

 

1.ก่อนนอนจงชำระร่างกาย  สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและสบาย  นึกถึงคุณพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์เพื่อน้อมจิตให้มีความนุ่มนวล  จากนั้นจงนอนเหยียดตัวตรง  จัดร่างกายของคุณให้เหมือนศพ  รับรู้ถึงความหนักของร่างกาย  รับรู้ถึงความหยาบ  รับรู้ความเป็นก้อนธาตุ  รับรู้ในความรู้สึกว่าคุณไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้  จากนั้นจงรู้สึกถึงสิ่งรอบตัว  เวิ้งอากาศ  ความมืด  ความเงียบ  ส่งผ่านความรู้สึกไปยังสิ่งเหล่านี้ประหนึ่งว่าคุณคือสายลมที่เบาบาง  ทำอย่างนี้สักพัก  จนจิตสัมผัสได้ถึงความเบิกบาน (มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง  ปลุกจิตด้วยวิปัสสนา  กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม)

 

2.สร้างความรู้สึกตัวที่ปลายเท้า เมื่อความรู้สึกชัดเจนแล้วให้ทำความรู้สึกตัวไล่ขึ้นมาจนถึงลำตัว  ต้นขา  หน้าอก  ใบหน้า  จนถึงศีรษะ  เลื่อนลงมารับรู้อยู่ที่ปลายจมูก  จับลมหายใจเบาๆ  เข้า  ออก  สั้น  ยาว  ไม่หนัก  ไม่เบา  ประหนึ่งจับนกน้อยในอุ้งมือ  แม้หนักเกินไปนกจะตาย  แม้เบาเกินไป นกจะหลุดมือ  ทำความรู้สึกอยู่กับลมหายใจพอดีๆ (สร้างฐานกำลังด้วยอานาปานสติ อานาปานสตินี้เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาในตนเอง)

 

3.เมื่อเกิดความสงบแล้ว  ขอให้เริ่มต้นแผ่เมตตาจากสิ่งที่อยู่ไกลตัวเข้ามาใกล้ตัว  การแผ่เมตตานี้ไม่ต้องมีคำพูด  ไม่ต้องมีบทสวด  ให้ใช้ความรู้สึกที่ออกมาจากใจ  เหมือนแสงสว่างที่ออกมาจากใจกลางพระอาทิตย์  ค่อยๆ ส่งกระแสความหวังดีออกมาจากศูนย์กลางใจช้าๆ    ขณะเดียวกันจงมโนภาพถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก  นึกถึงบุคคลที่เราไม่รู้จัก  คนที่เดินสวนกันริมทาง    เด็กยากไร้ในต่างแดน  สัตว์น้อยใหญ่  แผ่แสงสว่างแห่งความเมตตาออกไปค่อยๆ ตีวงเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น  มโนภาพถึงครูบาอาจารย์  เพื่อนฝูง  บุคคลที่เคยให้โอกาสสร้างความรู้สึกประหนึ่งว่านี่คือครั้งสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสนึกถึงเขา   ทำความรู้สึกเหมือนเรามายืนหน้าบ้านของเขา    มองเข้าไปในบ้าน   เราเห็นเขากำลังใช้ชีวิตตามปกติ  เขาไม่รู้ว่าเรากำลังจะจากไปแล้ว    จากนั้นจงทำความรู้สึกเหมือนเราวางดอกไม้ไว้ที่ริมรั้ว  ไม่มีคำลามีเพียงดอกไม้หนึ่งดอกแทนความรู้สึก  เขาอาจไม่รู้ว่าเจ้าของดอกไม้นี้คือใครด้วยซ้ำ  แต่เรารู้อยู่แก่ใจ  ว่าเราได้เป็นผู้มอบดอกไม้ให้เขาแล้วแทนความปรารถนาดีทั้งหมด (สำนึก รู้คุณ  ดำรงอยู่ในกระแสความดี  บำเพ็ญเมตตาฌาน  เปลี่ยนจิตที่คับแคบของปุถุชน  ให้เป็นจิตของพรหมกว้างใหญ่ไม่มีประมาณ)

 

4.เคลื่อนความรู้สึกเมตตาเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น  มโนภาพบุคคลในครอบครัว  นึกถึงภาพพ่อแม่พี่น้องลูกสามีภรรยา  ให้ภาพของพวกเขากระจ่างชัดอยู่ในภวังค์จิต  คิดถึงความดีของเขา  คิดถึงความเมตตาที่เขามีให้  คิดถึงรอยยิ้ม  เสียงหัวเราะ  ความสุขที่ได้กระทำร่วมกันมา   จับความรู้สึกให้ชัด  แล้วดำดิ่งลงไปในความรู้สึกเหล่านี้    กำหนดรวบความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางใจ  แล้ววางความปิติสุขทั้งหมดไว้ตรงนั้น  อย่าได้นำติดตัวไป  ไม่ต้องเสียใจ  ไม่ต้องรู้สึกผิดบาปใดๆ  ส่งผ่านคำขอโทษ  ขอบคุณ  และความรัก  ทิ้งความรู้สึกทั้งหมดในด้านสว่างและคุณงามความดีไว้ตรงนี้    จากนี้เราจะไม่เอาความรู้สึกใดๆ ติดตัวไปอีก  ทั้งความรัก  ความเศร้า  ความดี  ความชั่ว  เราจะดำเนินไปสู่จิตที่อยู่เหนือความดีและความชั่ว  จิตที่เป็นโลกุตระธรรม   เป็นการเคลื่อนจิตไปสู่ความเป็นกลางอย่างถึงที่สุด  (พิจารณาความไม่เที่ยงด้วยมรณานุสติ   เปลี่ยนจากโลกียภูมิสู่โลกุตรภูมิ)


5.เมื่อทิ้งความรู้สึกด้านมืดและสว่างไว้ที่โลกแห่งสมมุติบัญญัติแล้ว  จงทำความรู้สึกที่ร่างกายอีกครั้งอย่างเป็นกลาง ขณะนี้เราไม่ใช่เราอีกต่อไปแล้ว  แต่เราคือผู้ดู  คือผู้รู้อย่างเป็นกลาง  จงเพ่งเข้าไปที่กายในกายโดยใช้กำลังสมาธิทั้งหมด    ไล่พิจารณาตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า  ใช้กำลังจิตโดยการเหนี่ยวนำความคิด   แยกย่อยร่างกายออกเป็นส่วนๆ  เช่นขน ผม เล็บ ฟัน หนัง  สร้างมโนภาพว่าตนเองคือซากศพที่มีสภาพแข็งทื่อ  ค่อยๆ อืดพอง  เขียว คล้ำ  ค่อยๆ เน่า  มีหนอนชอนไช  มีน้ำเลือด  น้ำหนอง เสมหะ  อุจจาระ ปัสสาวะไหลออกมาจากทวารทั้งเก้า คือ ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1 ช่องปัสสาวะ 1 ช่องอุจาระ 1  กำหนดวิปัสสนาดำดิ่งลงจนเห็นถึงความโสโครกของกายตามความเป็นจริง  จนเห็นว่าร่างนี้เป็นเพียงธาตุสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลมที่ประชุมรวมกัน (รวมสมาธิสู่ความว่างเพื่อ กำหนดสู่อสุภกรรมฐาน)

 

6.ในการพิจารณานี้ จิตจะพิจารณาไปเรื่อยๆ  ตามแต่ความพอใจของมัน  อย่าได้กำหนดเวลา  ปล่อยให้มันเป็นอิสระ  ช่วงเวลาในการพิจารณาไม่จำเป็นต้องนาน  แต่ต้องเป็นไปด้วยความกระจ่างชัด  แจ่มใส  นอกจากสมาธิแล้วขอให้มีความเบิกบานในธรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง  แม้เกิดความสลดหดหู่ย่อมหมายความว่า  เราไม่ได้คุมจิตให้หยั่งด้วยความเป็นกลางแต่แรก  ถือว่าเป็นการทำผิดทิศผิดทาง  ไม่สมควรทำต่อ     เมื่อจิตถอนจากการพิจารณากายในกายแล้วในครั้งแรก  ถ้ามีกำลังสมาธิเพียงพอ  ให้กลับมารู้ลมหายใจอีกครั้ง  เพื่อเป็นฐานในการเดินปัญญาอีกรอบ  ทำอย่างนี้สลับกันไปเรื่อยๆ  ถ้าทำบ่อยๆ  จิตจะค่อยๆ ละความยึดมั่นในกายไปได้เอง  (สมถะเท้าขวา  วิปัสสนาเท้าซ้าย  สมถะวิปัสสนาไม่แยกจากกัน)

 

7.เมื่อพิจารณาความจริงของกายในกาย  จนจิตเกิดความรู้สึกอิ่ม  ให้กลับมาที่ลมหายใจอีกครั้ง  เราจะไม่หลับไปพร้อมกับอารมณ์ของอสุภกรรมฐาน  แต่เราจะหลับไปพร้อมกับอารมณ์ของอานาปนสติ  การหลับไปพร้อมกับการทำอานาปานสติจะทำให้หลับได้ลึกทำให้ร่างกายพักผ่อนได้อย่างเต็มที่  เป็นการเตรียมความพร้อม เข้าสู่สมรภูมิ  ประลองยุทธกับกิเลสมารในครั้งต่อไป (กำหนดอานาปานสติเป็นวิหารธรรม)

 

ที่มา : พศิน อินทรวงศ์

ภาพ : www.pexels.com


บทความน่าสนใจ

ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์แห่งหมู่บ้านตรุนยัน  ต้นไม้สำคัญของพิธีกรรมแห่งความตาย

อันซะกิ – ผู้บริหารความตาย

จิตสงบด้วยการภาวนา “ พุท–โธ ” ธรรมะโดย ส. ชิโนรส (พระมหาสุภา ชิโนรโส)

เมธี จันทรา กับการภาวนาด้วยขลุ่ยเซน เพื่อไปสู่ความสงบจากข้างใน

สมาธิภาวนาในขณะทำงาน แนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.