เมธี จันทรา

เมธี จันทรา กับการภาวนาด้วยขลุ่ยเซน เพื่อไปสู่ความสงบจากข้างใน

เมธี จันทรา กับการภาวนาด้วยขลุ่ยเซน เพื่อไปสู่ความสงบจากข้างใน

เมธี จันทรา อดีตสมาชิกวงทีโบน และวงคำภีร์ ผู้หันหลังให้กับวงการดนตรี เพื่อมาทำในสิ่งที่เขารักคือการแสวงหาความรู้ในเรื่องที่เขาสนใจ นั่นคือการเล่นดนตรีเพื่อการภาวนา

 

นักดนตรีผู้สนใจการภาวนา

แต่เดิมผมเล่นกีต้าร์ไฟฟ้า และสนใจเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรีกับเสียงความคิดของเราอยู่ก่อนแล้ว จึงเริ่มศึกษาจากกีต้าร์ไฟฟ้าที่ผมเล่นก่อน จนประมาณ ปี พ.ศ.2543 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันธรรมคีตาโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นงานที่จัดโดยกลุ่มผู้ศรัทธาในองค์ทะไล ลามะ ผมก็ได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีในงานนี้ด้วย ระหว่างที่เล่นกีต้าร์ไฟฟ้านาน ๆ ก็รู้สึกว่าน้ำหนักของเครื่องดนตรีเป็นอุปสรรคมาก ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง และพอได้ชมการแสดงขลุ่ยทิเบตของนาวัง เก ช็อก ก็เห็นว่าขลุ่ยเหมาะสำหรับศึกษาเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างเสียงดนตรีกับเสียงภายในของเรา กีต้าร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นแล้วจะเกิดเสียงจากข้างนอกมากกว่าข้างใน เป็นการกระทบกันระหว่างนิ้วมือกับเครื่องดนตรี แต่ขลุ่ยนั้นเสียงจะเกิดขึ้นจากสภาวะข้างในก่อนที่จะถ่ายทอดออกมาข้างนอก จึงเป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยในการภาวนาได้เป็นอย่างดี

 

ลองผิดลองถูก

ผมเริ่มต้นจากขลุ่ยไทยก่อน แต่ขลุ่ยไทยยังไม่ตอบโจทย์บางอย่าง จึงเปลี่ยนไปลองเล่นขลุ่ยจีน ก็ยังไม่ตอบโจทย์อยู่ดี เลยเริ่มศึกษาลึกลงไปเรื่อย ๆ จนพบว่าพุทธศาสนามีอีกนิกายหนึ่ง (นิกายเซน) ที่ใช้ขลุ่ยในการภาวนา เลยหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง โดยการประดิษฐ์ขลุ่ยญี่ปุ่นจากท่อพีวีซี แล้วใช้บันไดเสียงแบบดนตรีตะวันตกเป็นการประสมประสานระหว่างดนตรีตะวันออกและตะวันตก ผมเป่าขลุ่ยนี้มาร่วม 10 ปี รู้สึกว่าสภาวะของเสียงยังไม่ตอบโจทย์ลึก ๆ เลยหวนกลับไปคิดว่าน่าจะลองเล่นขลุ่ยเซนที่ทำจากไม้ไผ่ดู พอเล่นมาได้สักพักใหญ่ก็คิดว่าเราต้องจริงจังกับมันมากขึ้น เลยสืบหาอาจารย์สอนเป่าขลุ่ยเซนชาวญี่ปุ่นที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้

 

 

เมธี จันทรา

 

 

เสาะหาอาจารย์

อาจารย์ที่ผมไปเรียนด้วยท่านชื่อว่า “โยชิโอะ คุราฮาชิ” ท่านสืบทอดความรู้มาจากผู้ที่รวบรวมโน้ตเพลงขลุ่ยเซนทั่วญี่ปุ่น เพราะเพลงขลุ่ยเซนเคยหายสาบสูญไปในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่อยากได้จากการไปเรียนขลุ่ยเซนที่ญี่ปุ่นคือแก่นของการเป่าขลุ่ย ซึ่งนั่นก็คือ การภาวนาด้วยลมหายใจผ่านการเป่าขลุ่ยเซน “ซุยเซน” ผมใช้เวลาเรียนอยู่ที่นั่นทั้งหมด10 วัน

 

อาศัยเข้าถึงความดี และความงาม

การภาวนาด้วยขลุ่ยเซนกับการนั่งสมาธิ (อานาปานสติ) มีหลักการคล้ายกัน แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือการได้ยินเสียงขลุ่ย เสียงลมหายใจ และความรู้สึกที่นิ้วมือ คล้ายเป็นการกำหนดรู้ว่าเรากำลังทำอะไรผ่านการเป่าขลุ่ยเท่านั้นเอง

ขลุ่ยเซนมีความพิเศษคือ ถ้าผู้เล่นไม่นิ่ง เสียงจะไม่ดัง อาจารย์สอนว่าโน้ตดนตรีที่ทำสมาธิกับขลุ่ยเซนได้เป็นอย่างดีคือโน้ตที่ต้องใช้นิ้วปิดรูทั้งหมด ถ้าเทียบกับเครื่องดนตรีสากลก็คือโน้ตตัวต่ำสุดของเครื่องดนตรีนั้นๆ ให้จิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออก เกิดความสงบอยู่ภายในจนสัมผัสได้ถึงความปีติ

โดยเซนเลือกใช้เสียงของขลุ่ยชนิดนี้เป็นเสมือนบันไดพาเราไปสู่การภาวนา เซนมองว่าสุนทรียะเป็นหัวใจที่นำพาไปสู่การเข้าถึง ความจริง ความดี และความงาม

ก่อนจะมาภาวนาด้วยดนตรี ผมได้มีโอกาสฝึกการภาวนามานานแล้วกับพระอาจารย์สันติกโร ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ แต่เมื่อเราได้มาภาวนาด้วยเครื่องดนตรีแล้ว มันกลับกลายเป็นว่าเครื่องดนตรีพาให้ผมสามารถต่อยอดในการภาวนาได้ดียิ่งขึ้น

 

ดนตรีอื่นก็ภาวนาได้

ตามจริงแล้วเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเครื่องดนตรีอื่น ก็สามารถนำมาใช้ในการภาวนาได้ แม้แต่เสียงตวาดยังทำให้พระเซนบางรูปเข้าถึงซาโตริ (การบรรลุธรรม) ได้ หรืออย่างท่านอิคคิวซังยังบรรลุธรรมจากการได้ยินเสียงนกการ้อง มันเป็นเพียงผัสสะหนึ่งที่เข้ามากระทบ แล้วแต่ว่าเราจะมองเห็นในแง่มุมไหน

 

 

เมธี จันทรา

 

 

ธรรมะในมุมมองของเมธี จันทรา

ผมไม่ได้มองธรรมะว่าเป็นศาสนา ผมมองว่าธรรมะคือความจริง ความดี และความงามที่เราทุกคนสามารถสัมผัสได้โดยผ่านประสบการณ์ตรง จุดเริ่มต้นของผมมาจากดนตรีล้วน ๆ การที่ได้เล่นดนตรีทำให้ได้ฝึกฝนและเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีการฝึกฝนของเราด้วย ว่าเราเลือกวิธีแบบไหน แต่บังเอิญว่าวิธีที่ผมเลือกเล่นด้นสด ทำให้เห็นสภาวะข้างในของตัวผมเอง กลายเป็นการฝึกภาวนาไปโดยไม่รู้ตัว พอสะสมไปนาน ๆ เลยทำให้ได้สัมผัสถึงปัญญาบางอย่าง ปัญญาในที่นี้คือการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก อย่างเราเข้าใจอารมณ์นี้ของเราก็จะไม่เต้นตาม ความคิดก็จะไม่ถูกอารมณ์ชักจูง เรียกได้ว่ามีสติมากขึ้น อารมณ์ของเราขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แล้ว เลยทำให้ช่วยเรื่องนี้ได้มากทีเดียว

 

สัมผัสกับธรรมะมาตั้งแต่เด็ก

สนใจมาตั้งแต่เด็กเลย แต่มีประสบการณ์การนั่งสมาธิตอนอายุ 18 ปี ตอนนั้นได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย และมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์พระไทยที่นั่นด้วย จึงติดตามพระอาจารย์ไปวัดพุทธไทยหลายแห่ง ในอินโดนีเซีย พระอาจารย์จะสอนการนั่งสมาธิให้แก่ญาติโยมที่มาวัด ผมเลยพลอยได้เรียนรู้เรื่องนี้ไปด้วย ทั้งยังสนใจปรัชญาเพราะชอบอ่านหนังสือแนวนี้มาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เป็นคนชอบตั้งคำถาม และมีความอยากรู้เรื่องแนวคิดต่าง ๆ

 

การศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์เลยมุ่งศึกษาดนตรีเพราะไร้กรอบ

ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นนักดนตรีวงทีโบนยุคแรกนะครับ ไม่ใช่ยุคที่ออกเทปแล้ว (หัวเราะ) เป็นสมัยที่ยังเล่นดนตรีในผับอยู่ ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอยู่ในกรอบและระบบ แต่ที่บ้านอยากให้เรียนในระบบ ผมเลยไม่สอบเอ็นทรานซ์ แล้วไปสมัครเรียนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่พบว่าการเรียนกฎหมายนั้นเป็นการเรียนแบบท่องจำ ซึ่งผมไม่ชอบ จึงย้ายมาเรียนสาขาปรัชญาที่คณะมนุษยศาสตร์แทน คิดว่าสอดคล้องกับความเป็นตัวผมมากกว่า แต่พอเรียนไปสักพักก็รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์อยู่ดี เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงกัน จึงเลิกเรียนแล้วเปลี่ยนไปเรียนดนตรีแทน บังเอิญได้พบกับอาจารย์ที่สอนให้ผมเล่นดนตรีอย่างมีหลักการและเหตุผล คืออาจารย์วิชัย เที่ยงสุรินทร์ ซึ่งเป็นครูของนักดนตรีหลายท่านในวงการบันเทิงบ้านเรา ในสมัยนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนดนตรีอย่างเป็นเรื่องเป็นราว พอเรารู้ทฤษฎีดนตรี รู้ว่าเสียงบรรเลงแบบนี้บ่งบอกอะไร หรือหมายถึงอะไร หรือแนวดนตรีในแต่ละแนวมีแนวคิดอย่างไร ผมเริ่มสนุกเพราะเหมือนได้เรียนปรัชญาผ่านดนตรี

 

 

 

 

ชีวิตในเส้นทางสายดนตรี

ผมมองว่าเป็นความบังเอิญ และความโชคดีในหลายเรื่อง ในสมัยที่ผมเรียนดนตรี ตอนนั้นวงการดนตรีแทบจะไม่ตอบโจทย์ผมเลย ต้องเล่นตามค็อกเทล เล้าจ์ หรือคาเฟ่แบบที่มีนักร้องคล้องพวงมาลัย พอเรียนดนตรีไปสักพักกระแสรสนิยมของสังคมก็เปลี่ยน สถานบันเทิงแบบนั้นได้หายไป เปลี่ยนเป็นวงการผับแทน เป็นสถานเริงรมย์สำหรับกลุ่มปัญญาชนที่มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ดนตรีเลยต้องเปลี่ยนตามคนกลุ่มนี้ จึงเกิดการเล่นดนตรีบลูส์ ดนตรีร็อค ดนตรีโฟล์ค (ซึ่งเป็นพื้นฐานของเพลงเพื่อชีวิต) และดนตรีแจ๊ส

จนถึงช่วงที่เราอิ่มตัวจากงานดนตรี ก็เริ่มอยากแสวงหาอะไรบางอย่างที่จะสนองความต้องการอยากเรียนรู้ของตนเอง จึงหันมาศึกษาศาสตร์นพลักษณ์ หรือ เอ็นเนียแกรม (ศาสตร์ที่ช่วยให้รู้จักตนเองตามความจริง)ซึ่งคนที่สอนศาสตร์นี้ให้ผมก็คือ พระอาจารย์สันติกโร พระอาจารย์ที่สอนอานาปานสติผม ซึ่งท่านไปเรียนศาสตร์นี้มา แล้วใช้ควบคู่กับวิปัสสนาในวิถีแบบพุทธ ก่อนหน้าที่ผมจะมาเรียนกับพระอาจารย์ ผมได้ไปศึกษาและพบข้อมูลว่า รากของดนตรีตะวันตก ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยของพิธากอรัส ซึ่งสมัยนั้นเขาจะสอนรหัสผ่านแผนภาพชนิดหนึ่ง ที่กลายเป็นพื้นฐานของศาสตร์นพลักษณ์ในเวลาต่อมา เมื่อศึกษาอย่างจริงจังและรู้ด้านนี้เลยมีโอกาสได้สอนนพลักษณ์ และเล่นดนตรีนพลักษณ์ ให้กับนักศึกษาแพทย์ด้วย

 

มองปัญหาอย่างเข้าใจ

การอยู่กับการศึกษาในสิ่งที่เราสนใจ ทำให้ผมเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอยู่กับความทุกข์ได้มากขึ้น พออยู่กับความทุกข์มาก ๆ ศาสตร์เหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผมเห็นอีกด้านหนึ่งของมันมากขึ้นไปด้วย ความสุขเป็นเพียงมายา เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเมาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ตอนที่ผมหันหลังให้กับงานดนตรี เพื่อเลือกอยู่กับสิ่งที่รักคือการทำสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องพบเจอกับปัญหา เช่น การเงินที่ไม่ดีนัก สิ่งที่จัดการกับปัญหาที่ตามมาคือ ผมจะจัดการกับความรู้สึกก่อนโดยมองมันอย่างเข้าใจว่ามันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เรากังวลใจ การมองโลกในแง่ดี อาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ต่างจากการเอาปัญหาไปซ่อนไว้ใต้พรม อย่างไรก็แล้วแต่ ความกังวลใจมันต้องเข้ามาหาเราอีกเป็นปกติ การที่เราเข้าใจมันจะทำให้เราอยู่กับปัญหาได้อย่างไม่มีปัญหา

 

เรื่อง : เมธี จันทรา

เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์

ภาพ : สรยุทธ พุ่มภักดี


บทความน่าสนใจ

ศิลปะของการภาวนา โดย หลวงพ่อโพธินันทะ

รวมข้อสงสัย สำหรับมือใหม่หัด  ภาวนา

สมาธิภาวนาในขณะทำงาน แนวทางการปฏิบัติของหลวงพ่อชา สุภทฺโท

การเจริญภาวนาพรหมวิหาร 4 ในชีวิตประจำวัน ไม่ยากอย่างที่คิด

ทำสมาธิแบบ อานาปานสติภาวนา “ลมหายใจแห่งปัจจุบันขณะ”

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.