ตัวกู

ข้อปฏิบัติ 7 ประการ เพื่อจัดการกับ “ ตัวกู ”

ข้อปฏิบัติ 7 ประการ เพื่อจัดการกับ “ ตัวกู ”

ต่อไปนี้คือข้อปฏิบัติ 7 ประการ เพื่อใช้จัดการกับ ตัวกู หรืออัตตาตัวตน ซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายกายของความอ่อนน้อมถ่อมตน ที่อยากให้ลองนำไปปฏิบัติกันดู เผื่อว่าเมื่ออัตตาค่อย ๆ จางลงแล้ว การอ่อนน้อมถ่อมตนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้นบ้าง

1.ถือทำไมให้หนัก

ในทางพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งที่ทำให้คนเราหลงถือตัวนั้น มีอยู่ 6 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1) ชาติตระกูล 2) ทรัพย์สมบัติ 3) รูปร่างหน้าตา 4) ความรู้ความสามารถ 5) ยศตำแหน่ง และ 6) บริวาร แม้หกข้อนี้จะเป็นข้อดีที่ทำให้เรารู้สึกเหนือกว่าคนอื่น แต่ลองพิจารณาดูดี ๆ ว่า ของเหล่านี้ยั่งยืนจริงหรือไม่ น่าภูมิใจจริงหรือ ควรหรือไม่ที่จะไปยึดถือและนำมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่เห็นหัวคนอื่น

2.เก่งก็ไม่เหลิง

ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ย่อมไม่มีใครดีเลิศ สมบูรณ์แบบไปซะทุกด้าน เพื่อไม่ให้เราเผลอหลงระเริงไปกับความสำเร็จของตัวเอง ลองหยุดพิจารณาสักนิดว่า ตัวเรามีข้อเสียอะไรบ้างไหม มีข้อจำกัดด้านใดบ้าง การหมั่นพิจารณาตัวเองในมุมกลับบ่อย ๆ จะทำให้เราเป็นคนรู้จักตัวเอง และเห็นข้อดีข้อเสียของตัวเองรอบด้าน จึงไม่หลงระเริงทึกทักเอาเองว่าเรานี้ดีที่สุด เลิศที่สุด

3.แพ้ก็ไม่เศร้า

ในทางกลับกันกับข้อที่แล้ว ทุกครั้งที่เราพ่ายแพ้ ผิดหวัง หรือถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดี แทนที่จะเอาแต่นั่งทุกข์ใจ หรือต่อว่าคนอื่นว่าไม่ยุติธรรมและไม่เห็นความดีของเรา ลองพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนห้วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ให้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ ลองกลับมามองตัวเองว่าเรายังมีข้อบกพร่องตรงไหน มีข้อเสียใดบ้างที่เคยถูกอัตตาปิดบังไว้จนมองไม่เห็น ทำให้เราพลาดโอกาสประสบความสำเร็จ

4.ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว

หากเรารู้ข้อด้อยของตัวเองแล้ว ก็ลองเรียนรู้ที่จะปรับปรุงข้อด้อยเหล่านั้น และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ความอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการจะพัฒนาตัวเอง เพราะหากเราทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ไม่พร้อมรับฟังความเห็น คำวิจารณ์ และคำแนะนำสั่งสอนจากผู้อื่น เราย่อมไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้เลย ดังนั้น ลองวางตัวตนของตัวเองลง แล้วเปิดใจรับฟังคนอื่นบ้าง

5.เลิกเปรียบเทียบ

หลายคนติดนิสัยพยายามเป็นหนึ่งทุกเรื่อง และชอบเปรียบเทียบ ยอมไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นดีกว่าตัวเอง แทนที่จะชื่นชมก็ต้องหาช่องตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ นิสัยชอบเปรียบเทียบเช่นนี้ นอกจากจะทำให้เรากลายเป็นคนบ้าการแข่งขัน ขี้อิจฉา และชอบดูถูกคนอื่นแล้ว อัตตาที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่รู้ตัวยังทำให้เรากลายเป็นคนไม่น่ารัก ไม่น่าคบหาอีกด้วย

6.ฟังด้วยใจ

ไม่ว่าใครก็ตามย่อมต้องการให้อีกฝ่ายสนใจและใส่ใจในสิ่งที่ตัวเองต้องการจะพูด การฟังด้วยใจไม่ได้หมายถึงการนิ่งฟังเงียบ ๆ เท่านั้น แต่เป็นการตั้งใจฟังอย่างมีสติ ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการสื่อสารอย่างแท้จริง

7.พูด “ขอโทษ” ให้เป็น

หลายคนยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองทำผิดพลาด  อีกทั้งยังรู้สึกเสียหน้า และโกรธมากหากมีใครมาชี้ช่องให้ตัวเองเห็นความผิดพลาด หรือทำให้คนอื่นเห็นความผิดพลาดของตัวเอง ลองหัดยอมรับกับความผิดพลาดของตัวเองดูบ้าง คิดเสียว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แล้วหัดพูดคำว่า “ขอโทษ” ให้บ่อยขึ้น รับรองว่า อัตตาที่มีจะค่อย ๆ สลายลงไป และคุณจะดูน่ารักขึ้นเยอะเลย

การลดละอัตตาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราค่อย ๆ ฝึกนึกถึงคนอื่นให้มากกว่าตัวเอง ไม่นาน อัตตาหรือ “ตัวกู” ก็จะลดน้อยลง และความสุขก็จะค่อย ๆ เพิ่มเข้ามาในใจเรามากขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ คู่มือทำบุญ เขียนโดย ศรัณยู นกแก้ว สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ


บทความน่าสนใจ

13 สิ่งผิดพลาด ที่คนส่วนใหญ่ชอบทำตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

20 เคล็ดลับที่ คนแก่ ขอแชร์ให้คนอายุน้อยทำตาม

คู่มือเลี้ยงดูพ่อแม่ เคล็ดลับสู่การเป็นลูกที่ดียิ่งขึ้น

เตรียมตัว เตรียมใจอย่างไร เมื่อถึงวันที่ พ่อแม่ป่วย

เทคนิครับมือทุกปัญหา ดราม่าในที่ทำงาน

Posted in MIND
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.