ทศชาติบารมี 10 ทัศน์

ทศชาติบารมี 10 ทัศน์

ทศชาติบารมี คือ บารมีที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญ 10 ประการในชาติต่างๆ

ศชาติชาดก หรือ พระเจ้าสิบชาติ เป็นชาดกที่สำคัญ กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ ชาดกทั้ง 10 เรื่อง

ทศชาติ ทศบารมี 1 พระเตมีย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมี

เพราะกลัวว่าจะต้องขึ้นครองราชย์ แล้วจะต้องทำบาป พระเตมีย์ราชกุมารจึงแสร้งทำว่าเป็นง่อย หูหนวก เป็นใบ้ แม้จะถูกพิสูจน์ด้วยวิธีต่าง ๆ ก็อดกลั้นไว้ ถึง 16 ปี จนในที่สุดต้องถูกนำตัวไปฝัง ขณะที่นายสารถีขุดหลุมอยู่ พระเตมีย์ซึ่งเห็นว่าปลอดภัยจากการเป็นพระราชาแล้ว ก็ลงจากรถมายืดเส้นยืดสาย ด้วยการจับราชรถขึ้นกวัดแกว่ง…

พระเตมีย์เป็นโอรสพระเจ้ากาสิกราชแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่ง พระเตมีย์เห็นพระบิดาพิพากษาโทษผู้ร้ายด้วยวิธีการโหดร้ายต่า งๆ ก็คิดว่า “ถ้าเราโตขึ้นเป็นพระราชา เราก็ต้องตัดสินโทษผู้ร้าย ต้องทำบาปเช่นเดียวกันนี้ ตายไปก็จะต้องตกนรก” เนื่องจากพระเตมีย์ระลึกชาติได้ว่า เคยเป็นพระราชา และได้ตัดสินโทษผู้ร้ายอย่างนี้ แล้วต้องตกนรกอยู่ถึง 80,000 ปี ได้รับความทุกข์ทรมานมาก พระเตมีย์คิดอยู่ว่า “ทำอย่างไรหนอ เราถึงจะไม่ต้องทำบาป และไม่ต้องตกนรกอีก” เทพธิดาผู้รักษาเศวตฉัตรได้แนะนำให้ปฏิบัติ 3 ประการ คือ ให้ทำเป็นคนง่อย เป็นคนหูหนวก และเป็นใบ้ จึงจะพ้นจากการเป็นพระราชา

นับแต่นั้นมา พระเตมีย์ก็ทำพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อย แต่พระราชาและพระมเหสีไม่เชื่อว่าพระโอรสหูหนวกเป็นใบ้และง่อยเปลี้ยจริง จึงให้พี่เลี้ยงทดลองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น เมื่อยังเป็นเด็กเล็ก ให้เอาผลไม้ เอาขนมมาล่อ พระเตมีย์ก็ไม่สนใจ เมื่อยังเป็นเด็กต ให้เอาอาวุธ เอาไฟ เอาช้าง เอางู มาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่หวาดกลัว เมื่อล่วงเข้าวัยหนุ่มก็ใช้ของหอมและสตรีมาล่อ แต่ก็ไม่ได้ผล พระเตมีย์ยังคงทำเป็นหูหนวก เป็นใบ้ และไม่ไหวติง เช่นเดิม

ในที่สุด พระราชาก็ถามบรรดาพรามหมณ์ที่ปรึกษาว่า “พวกท่านเคยทำนายว่า ลูกเราเป็นผู้มีบุญ จะได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ แต่กลับเป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี?” พรามหณ์ที่ปรึกษากราบทูลว่า “เมื่อตอนที่ประสูตินั้นพระโอรสมีลักษณะเป็นผู้มีบุญ แต่เมื่อได้กลับกลายเป็นเช่นนี้ จะเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ขอให้นำพระโอรสไปฝังที่ป่าช้าเถิด จะได้สิ้นอันตราย”

พระราชาแม้จะรักพระโอรส แต่เพราะเป็นห่วงบ้านเมือง จึงต้องทรงทำตามคำแนะนำนั้น พระมเหสีเมื่อทราบ ก็ขอผ่อนผันให้พระโอรสขึ้นครองราชย์สัก 7 ปีดูก่อน แต่พระราชายอมให้เพียง 7 วัน ซึ่งตลอดเวลา 7 วัน พระเตมีย์ก็ยังมีอาการเหมือนเดิม ในที่สุดพระราชาจึงสั่งให้สารถีนำพระเตมีย์ขึ้นราชรถ นำไปฝังที่ป่าช้า เมื่อไปถึงป่าช้า ขณะที่นายสารถีก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่ พระเตมีย์คิดว่า “บัดนี้เราไม่ต้องเป็นพระราชาแล้ว เราอดทนไม่เคลื่อนไหวร่างกายมา 16 ปี ไม่รู้ว่าร่างกายยังปกติอยู่หรือไม่”

พระเตมีย์จึงลองเดินดู ก็เดินได้ปกติ แล้วก็ลองยกราชรถขึ้นกวัดแกว่ง จากนั้นก็บอกนายสารถีว่า อย่าฝังตนเลย การฝังโอรสพระราชาเท่ากับเป็นการทำร้ายมิตร แล้วชี้แจงคุณูปการของการไม่ทำร้ายมิตร ครั้งแรกนายสารถีไม่เชื่อว่าเป็นพระเตมีย์ที่ตนนำขึ้นรถมาแต่ในที่สุดก็เชื่อและกราบทูลให้กลับวังแต่พระเตมีย์บอกว่า “เราอุตส่าห์อดทนมา 16 ปี เพื่อวันนี้ เราไม่ปรารถนาราชสมบัติ ไม่ปรารถนาในกิเลสทั้งหลาย เราจะขอบวชอยู่ในป่า” นายสารถีเห็นคล้อยตามจะขอบวชด้วย แต่พระเตมีย์ขอให้นายสารถีกลับไปแจ้งข่าวแก่พระบิดาและพระมารดา

พระราชากับพระราชินียกขบวนมาชวนพระเตมีย์ให้กลับไปครองราชย์ พระเตมีย์ปฏิเสธแล้วแสดงคุณแห่งเนกขัมมธรรมให้ฟัง พระราชา พระราชินี และผู้ติดตามได้ฟังก็เลื่อมใส พากันออกบวชทั้งหมด ประชาชนชาวเมืองเมื่อทราบข่าวก็พากันออกบวชตาม ฝ่ายพระราชาแห่งประเทศใกล้เคียงเมื่อทราบข่าวว่าพรุงพาราณสีไม่มีคนปกครองก็นยกทัพจะมายึดราชสมบัติ แล้วตามรอยพระราชาเข้าไปในป่า ได้พบพระเตมีย์ พระเตมีย์แสดงธรรมให้ฟัง พระราชาทั้งหลายก็ศรัทธาเลื่อมใส พากันออกบวชด้วยกันทั้งหมด บ้านเมืองทั้งหลายก็กลายเป็นเมืองร้างนับแต่นั้นมา.

บำเพ็ญเนกขัมมบารมี = การทำใจให้เต็มออกจากเครื่องผูกรัด

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 2

ทศชาติ ทศบารมี 2 พระมหาชนก บำเพ็ญวิริยบารมี

นางมณีเมขลา “ใครหนอ ทนว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน คงจะตายเสียก่อนเป็นแน่” พระมหาชนก “คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะตายไปในขณะกำลังทำความเพียรอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดตำหนิ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว”

พระเจ้าอริฏฐชนกแห่งกรุงมิถิลา มิเจ้าโปลชนกพระอนุชาเป็นพระอุปราขอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจเจ้าโปลชนก ทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถ พระราชาทรงเชื่อ ให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกหนีไปได้ แล้วไปส้องสุมผู้คนยกมาตีกรุงมิถิลา พระเจ้าอริฏฐชนกเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงให้พระมเหสีซึ่งมีครรภ์แก่หนีไป ส่วนพระองค์ออกรบ แล้วตายในที่รบ

พระมเหสีหนีไปถึงเมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ทิศาปาโมกข์รับอุปถัมภ์ในฐานะพี่ชาย ทรงคลอดพระโอรส ให้ชื่อว่า มหาชนก เมื่อโตขึ้น พระมเหสีให้กุมารเรียกพราหมณ์ว่าพ่อ วันหนึ่ง กุมารมหาชนกมีเรื่องกับเพื่อนเด็ก ๆ เพื่อนร้องว่า ถูกลูกหญิงม่ายรังแก กุมารได้ยินแล้วสงสัยกลับมาคาดคั้นถามแม่ จึงได้รู้ความจริงว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ จากนั้นจึงตั้งใจเล่าเรียนเพื่อจะกลับไปทวงราชสมบัติคืน เมื่ออายุ 16 ปี ก็ขออนุญาตพระมารดาออกทำการค้า พระมารดาเอาทรัพย์สินที่นำมาจากกรุงมิถิลามาให้บุตรซื้อสินค้าเป็นทุนค้าขาย

พระมหาชนกนำสินค้าลงเรือร่วมไปกับพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากันบวงสรวงอ้อนวอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต ฝ่ายมหาชนกเมื่อรู้ว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็กินอาหารจนอิ่ม นำมาผ้าชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลงเหล่าพ่อค้ากลาสีเรือทั้งปวงก็จมน้ำตาย และตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำ แต่พระมหาชนกซึ่งมีกำลังจากอาหารที่กิน มีผ้าชุบน้ำมัน ช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงแหวกว่ายอยู่ในทะเลได้นานถึง 7 วัน ฝ่ายนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษาสมุทร เห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ จึงพูดลองใจพระมหาชนกว่า “ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไม” พระมหาชนกตอบว่า “แม้จะไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง” นางมณีเมขลาพูดอีกว่า “มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านคงไม่ถึงฝั่ง คงจะตายเสียก่อน” พระมหาชนกตอบว่า “คนที่ทำความเพียร แม้จะต้องตายไปในขณะที่กำลังทำความเพียรอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดตำหนิ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว” นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้นจึงสรรเสริญความเพียรของพระมหาชนก แล้วช่วยอุ้มไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาสวนแห่งหนึ่ง

ที่เมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกสิ้นพระชนม์โดยไม่มพระโอรสสืบราชสมบัติ ทีแต่พระธิดาสีวลีผู้ฉลาดเฉลียว ก่อนที่พระราชาจะสิ้นพระชนม์ ทรงตั้งเงื่อนไขและปริศนากับผู้ที่จะมาครองราชย์ต่อจากพระองค์ คือ ทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอใจยกมหาธนูใหญ่ได้ รู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไขปริศนาขุมทรัพย์ เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ลง ไม่มีผู้ใดทำตามเงื่อนไขได้ ในที่สุดจึงทำพิธีเสี่ยงราชรถเพื่อหาผู้มีบุญ ราชรถเสี่ยงทาบแล่นมาหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกนอนอยู่ ปุโรหิตพิสูจน์จนแน่ใจว่าพระมหาชนกเป็นผู้มีบุญแน่ จึงเชิญขึ้นราชรถเข้าวัง พระมหาชนกกระทำการบรรลุเงื่อนไขที่พระราชาตั้งไว้ และแก้ปริศนาขุมทรัพย์ไดสำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชย์ ปกครองประชาชนชาวมิถิลาด้วยความผาสุก

อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาชนกเที่ยวในสวน เห็นมะม่วง 2 ต้นแตกต่างกัน ต้นหนึ่งกิ่งใบรุ่งริ่ง อีกต้นหนึ่งกิ่งใบสมบูรณ์ เมื่อถามดู ได้ความว่า ต้นที่รุ่งริ่งนั้นมีผลรสหวานอร่อยผู้คนจึงเด็ดทิ้งและขว้างปา พระมหาชนกจึงได้คิดว่า ราชสมบัติก็ไม่ต่างจากผลมะม่วงที่ใคร ๆ ก็อยากได้ ทำให้ต้องคอยกังวล จึงตัดสินใจออกบวชให้พระโอรสสืบราชสมบัติต่อไป มิไยพระมเหสีอ้อนวอนคัดค้านสักเพียงใด ก็ไม่สำเร็จ.

บำเพ็ญวิริยบารมี = ทำใจให้เต็มด้วยความเพียร

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 3

ทศชาติ ทศบารมี 3 พระสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี

พระราชากบิลยักขราช ออกมาดักล่าสัตว์ที่จะมากินน้ำ พบสุวรรณสามออกมาตักน้ำ มีฝูงสัตว์เดินติดตามมาก็สงสัยว่าสุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไป พระราชาจึงยิงธนูอาบยาถูกสุวรรณสามล้มลง…

ทุกูลกุมาร กับ ปาริกากุมารี รักใคร่กันฉันเพื่อน แต่ต้องแต่งงานกันตามความต้องการของพ่อทั้งสองฝ่าย หนุ่มสาวทั้งสองฝักใฝ่ในศีลธรรม จึงชวนกันออกบวชไปอยู่ป่า วันหนึ่ง พระอินทร์ลงมาบอกให้ทั้งสองมีบุตร  เพื่อคอยช่วยเหลือปรนนิบัติในยามยาก ทุกูลดาบสบอกว่า ไม่ได้ดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก แล้วจะมีลูกได้อย่างไร พระอินทร์บอกว่า เพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา นางก็จะตั้งครรภ์ได้ ทุกูลดาบสทำตาม จึงได้ลูกชาย และตั้งชื่อให้ว่า สุวรรณสาม

วันหนึ่ง ดาบสผัวเมียออกไปหาผลไม้ในป่า พบฝนตกหนัก จึงหลบฝนอยู่ใกล้จอมปลวกที่มีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่เสื้อผ้าและมุ่นผมของทั้งสองไหลหยดไปในรูงู  งูตกใจพ่นพิษออกมาถูกตานักบวชทั้งสองจนบอด ทั้งนี้ เกิดจากกรรมในชาติก่อน เมื่อทุกูลดาบสเป็นหมอรักษาตาให้เศรษฐีคนหนึ่งจนหาย แต่กลับไม่ได้เงินค่ารักษา ภรรยาจึงแนะนำให้สามีหลอกเศรษฐีใช้ยาต่ออีกขนานหนึ่ง ทำให้ตาบอด ทำให้ทั้งสองต้องมาตาบอดในชาตินี้ เดินกลับที่พักไม่ได้ สุวรรณสามตามหาพ่อแม่จนพบ ใช้กิ่งไม้จูงพ่อแม่กลับศาลาที่พัก ตั้งแต่นั้นมาก็ออกหาผลไม้ในป่ามาเลี้ยงดูพ่อแม่ทุกวัน บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่าพากันมาแวดล้อมสุวรรณสามด้วยความวางใจ เพราะสุวรรณสามมีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายฝูงสัตว์

กบิลยักขราช พระราชาแห่งเมืองพาราณสี ออกมาล่าสัตว์ พบสุวรรณสามออกมาตักน้ำ มีฝูงสัตว์เดินติดตามมากมาย ก็สงสัยว่าสุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไป จึงยิงธนูอาบยา ถูกสุวรรณ่สามล้มลง แต่ยังไม่ถึงตาย เอ่ยขึ้นว่า “เนื้อหนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร?” กบิลยักขราชยิ่งแปลกใจ คิดว่าหนุ่มน้อยนี้ถูกเรายิง ยังไม่โกรธเคือง มิได้ด่าว่า จึงออกมาแสดงตัวให้เห็น แล้วกล่าวเท็จว่า ตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอสุวรรณสามมา เนื้อก็เตลิดหนีไปหมด จึงยิงไปด้วยความโกรธ สุวรรณสามแย้งว่า สัตว์ทั้งหลายในป่านี้เคยกลัวตน ไม่เคยเตลิดหนี พระราชาละอายใจ สารภาพผิด แล้วถามสุวรรณสามว่าจะตักน้ำไปไหน สุวรรณสามตอบว่า ตักน้ำไปปรนนิบัติพ่อแม่ที่ตาบอด เมื่อตนต้องมาตายลง ต่อไปพ่อแม่จะต้องลำบาก กล่าวแล้วก็ร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจ พระราชาสำนึกผิด รับปากว่าจะปรนนิบัติพ่อแม่สุวรรณสามแทนเอง และจะเลิกล่าสัตว์ สุวรรณสามกล่าวฝากพ่อแม่แล้วสลบไป

พระราชาถือหม้อน้ำไปส่งที่ศาลา เมื่อดาบสทั้งสองรู้ว่า สุวรรณสามถูกยิงตายแล้ว ก็เสียใจมาก แต่ก็ขอให้พระราชาพาไปพบลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย

ดาบสผู้เป็นแม่พบว่าสุวรรณสามยังตัวอุ่นอยู่ อาจยังไม่ตาย จึงตั้งสัตยา-ธิษฐานว่า สุวรรณสามประพฤติดี มีความกตัญญูกตเวที เรารักสุวรรณสามยิ่งกว่าชีวิต ด้วยสัจวาจานี้ ขอให้พิษธนูจงคลาย ขอให้สุวรรณสามฟื้นเถิด พอสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกตัวไปข้างหนึ่ง ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาป่าก็ตั้งสัตยาธิษฐานช่วยอีกแรงหนึ่ง ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจากพิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชา พิศวงยิ่งนัก ถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า “บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติมารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมคุ้มครอง นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญ เมื่อตายไปแล้วก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์”

บำเพ็ญเมตตาบารมี = ทำใจให้เต็มไปด้วยความเมตตา

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 4

ทศชาติ ทศบารมี 4 พระเนมิราช บำเพ็ญอธิษฐานบารมี

บุคคลที่ได้เกิดเป็นกษัตริย์ เพราะประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นต่ำ บุคคลได้เกิดในเทวโลก เพราะได้ประพฤติพรหมจรรย์ขั้นกลาง บุคคลจะเกิดในชั้นพรหมจรรย์ได้ ก็เพราะประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด คือ เว้นจากวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ปุถุชน และบำเพ็ญธรรมสม่ำเสมอ การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากกว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากกว่าหลายเท่า…

พระราชาแห่งเมืองมิถิลา เมื่อเห็นเส้นพระเกศาหงอก ก็ทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระเนมิราชกุมาร ส่วนพระองค์เสด็จออกบวช รักษาศีลตราบจนสวรรคต เมื่อพระเจ้าเนมิราชครองราชย์ ก็ให้สร้างโรงทานขึ้นรอบพระนคร ทรงรักษาศีลและสั่งสอนประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข

พระเนมิราชสงสัยว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจรรย์ อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน พระอินทร์ลงมาตอบว่า บุคคลที่ได้เกิดเป็นกษัตริย์เพราะประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นต่ำ บุคคลที่ได้เกิดในเทวโลก เพราะประพฤติพรหมจรรย์ขั้นกลาง บุคคลจะเกิดในขั้นพรหมจรรย์ได้ ก็เพราะประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูง คือเว้นจากวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ปุถุชน ไม่มีเหย้าเรือน และบำเพ็ญธรรมสม่ำเสมอ การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากกว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากกว่าหลายเท่า

เมื่อพระอินทร์กลับเทวโลก เหล่าเทวดาพากันเข้าเฝ้าและทูลว่า พระเนมิราชเป็นอาจารย์ของตนมาแต่ก่อน พวกตนรำลึกถึงพระคุณ ใคร่จะได้พบ พระอินทร์จึงให้พระมาตุลี เทพสารถี นำเวชยันตราขรถไปเชิญเสด็จพระเนมิราชขึ้นมายังเทวโลก พระเนมิราชรับคำเชิญ พระมาตุลีทูลว่า ทางที่จะไปนั้นมี 2 ทาง คือ ไปทางที่อยู่ของเหล่าผู้ทำบาป กับไปทางที่อยู่ของเหล่าผู้ทำบุญ จะเสด็จไปที่ใดก่อน พระเนมิราชตอบว่า ให้ไปสถานที่ของเหล่าผู้ทำบาปก่อน แล้วค่อยไปยังที่ของเหล่าผู้ทำบุญ

พระมาตุลีจึงนำเสด็จไปยังเมืองนรก อันเป็นที่ทรมานสัตว์นรก ผ่านแม่น้ำเต็มไปด้วยเถาวัลย์ หนามโตเท่าหอก มีเพลิงลุกโชติช่วง มีหลาวเหล็กเสียบสัตว์ นรกไว้เหมือนย่างปลา เมื่อสัตว์นรกตกไปในน้ำก็ถูกของแหลมคมใต้น้ำสับขาดเป็นท่อน ๆ หรือไม่ก็ถูกเบ็ดเหล็กเกี่ยวขึ้นมาจากน้ำ เอามานอนอยู่บนเปลวไฟบ้าง เอาก้อนเหล็กมีไฟลุกแดงอุดเข้าไปในปากบ้าง สัตว์นรกล้วนต้องทนทุกขเวทนาด้วยอาการต่าง ๆ พระราชาตรัสถามถึงโทษของเหล่าสัตว์นรกเหล่านี้ว่า ได้ทำชั่วอะไรไว้จึงต้องมารับโทษดังนี้ พระมาตุลีก็ตอบบรรยายถึงโทษกรรมที่สัตว์นรกเหล่านี้ทำไวเมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์

ครั้นผ่านไปทางที่อยู่ของเหล่าผู้ทำบุญ พระราขาเห็นวิมานแก้วของเทพบุตรนางฟ้าประดับด้วยมณีพราวพราย มีสระน้ำ มีสวนดอกไม้งดงาม จึงถามพระมาตุลีว่า เทพบุตรนางฟ้าเคยทำดีอย่างไรไว้ จึงได้วิมานที่งดงามเช่นนี้ พระมาตุลีก็ทูลตอบถึงผลบุญที่เหล่าเทพบุตรเทพธิดา ได้เคยทำไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์

ในที่สุด พระมาตุลีก็นำพระเนมิราชไปถึงที่ประทับของพระอินทร์ ที่เหล่าเทพยดาคอยพบพระราชาผู้เคยมีพระคุณต่อตนเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์อยู่ เหล่าเทพได้ทูลเชิญให้พระราชาประทับอยู่ในสวรรค์ดาวดึงส์ พระราชาตอบว่า สวรรค์เป็นผลบุญของผู้อื่น ตนปรารถนาจะรับผลบุญตามสิทธิอันควรแก่ตนเอง

เมื่อพระราชาเสด็จกลับเมืองมิถิลา ได้เล่าสิ่งที่ได้พบเห็นมา ทั้งในนรกและสวรรค์ แก่ปวงราษฎร แล้วชักชวนให้ชนทั้งหลายตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล เพื่อให้ได้ไปเกิดในเทวโลก ได้รับความสุขสบายรื่นรมย์ในทิพวิมาน

พระราชาเนมิราชทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ทรงรักษาศีลและบริจาคทานสม่ำเสมอมิได้ขาด จนวันหนึ่ง เมื่อพบเห็นเส้นพระเกศาหงอกขาว ก็สลดพระทัยในสังขาร ทรงดำริที่จะออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จึงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส แล้วออกบวชเจริญพรหมวิหาร ได้สำเร็จบรรลุธรรม ครั้นเมื่อสวรรคตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันรื่นรมย์.

บำเพ็ญอธิษฐานบารมี = ทำใจให้เต็มด้วยความตั้งใจมั่น

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 5

ทศชาติ ทศบารมี 5 พระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี

เสนกะ “อันช้าง ม้า โค มณี และนารี ย่อมมีในสกุลมั่งคั่ง ของผู้มีทรัพย์ ผู้มียศมีทรัพย์ จึงนับว่าเป็นผู้ประเสริฐ” มโหสถ “ทรัพย์ของคนเขลาผู้ไม่มีปัญญา จัดการงาน ย่อมเสื่อมลง ผู้ไม่เป็นปัญญา แม้มียศทรัพย์ ก็หาประเสริฐไม่”

พระเจ้าวิเทหราชแห่งกรุงมิถิลา ทรงฝันประหลาด มีผู้ทำนายว่า ผู้มีปัญญาวิเศษมาเกิด และจะได้เข้าร่วมในสำนักราชบัณฑิต พระราชาจึงส่งราชบุรุษออกสืบหา เวลานั้นภริยาเศรษฐีในตำบลทางตะวันออกของกรุงมิถิลา คลอดบุตรชาย ในมือถือแท่งยามาด้วย ยานั้นเมื่อนำมารักษาโรคปวดหัวเรื้อรังของบิดา ก็หายขาดฉับพลัน เศรษฐีจึงให้ชื่อบุตรว่า มโหสถ (ยาที่ยิ่งใหญ่)

มโหสถเป็นเด็กที่มีปัญญามาก ได้แก้ปัญหาหลายคดี ล่วงรู้ถึงราชบุรุษจากกรุงมิถิลา จึงทูลรายงานให้พระราชาทราบ พระราชาอยากได้ตัวมโหสถเข้าสำนักราชบัณฑิต แต่ราชบัณฑิตสำคัญ 4 คน ในสำนัก คือ เสนกะ, ปุกกุสะ, กามินทะและเทวินทะ คิดอิจฉา ทูลให้พระราชาทดสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นเด็กผู้มีปัญญาวิเศษจริง โดยส่งปริศนาต่าง ๆ ไปให้คิดแก้ ปรากฏว่ามโหสถแก้ได้ทั้งหมด ในที่สุดมโหสถก็ได้เข้าวัง ในฐานาชบุตรบุญธรรมของพระราชา เมื่อได้เป็นราชบัณฑิต มโหสถได้แก้ปัญหาอีกหลายเรื่อง รวมทั้งปัญหาของพระนางอุทุมพรพระมเหสี ซึ่งช่วยชีวิตของพระนางไว้ได้ นับวัน ราชบัณฑิตทั้งสี่เสียฐานะมากยิ่งขึ้น จึงคิดอุบายใส่ร้ายมโหสถ จนพระราชาคิดว่ามโหสถทำผิดจริง ไม่ยอมให้มโหสถเข้าชี้แจง มโหสถต้องจากนางอมรเทวีผู้ภริยา หนีราชภัยไปเป็นช่างปั้นหม้อในตำบลอันห่างไกล

เมื่อมโหสถไม่อยู่ บัณฑิตทั้งสี่ก็เข้ามาก้อร้อก้อติกนางอมรเทวี แต่ก็ถูกนางอมรเทวีจัดการด้วยปัญญา ประจานให้เป็นที่อับอายต่อหน้าพระราชา พร้อมทั้งเปิดเผยเรื่องอุบายใส่ร้ายมโหสถ แต่พระราชาก็ไม่ได้เรียนมโหสถกลับ ร้อนถึงเทวดารักษาเศวตฉัตรต้องออกมาตั้งปัญหากับพระราชา ว่าถ้าแก้ไม่ได้จะฆ่าพระราชาเสีย ราชบัณฑิต 4 คนก็แก้ไม่ได้ พระราชาให้คนออกตามหามโหสถจนพบ มโหสถแก้ปัญหาได้ และกลับเข้ารับราชการ บัณฑิตทั้งสี่ยังปองร้ายมโหสถ วางแผนให้พระราชาไม่ไว้วางใจ จนถึงกับมอบพระขรรภ์ให้คอยฆ่ามโหสถแต่มโหสถก็ร้อดชีวิตมาได้ ทั้งยังเปิดเผยความลับร้ายแรงของบัณฑิตทั้งสี่ให้พระราชาทรงทราบ พระราชาสั่งให้เอาบัณฑิตทั้งสี่ไปประหารเสีย แต่มโหสถทูลขอชีวิตไว้

ที่กรุงกัปปิลรัฐ พระราชาจุลนพรหมทัตสมคบคิดกับพราหมณ์เกวัฏผู้มากเล่ห์ จะครอบครองทั้งชมพูทวีปด้วยการจัดงานเลี้ยงวางยาพิษพระราชาทั้งร้อยเอ็ดเมือง บังเอิญนกแขกเต้าสืบข่าวของมโสถได้ยินเข้า นำเรื่องมาบอก มโหสถส่งคนไปทำลายงานเลี้ยงเพื่อช่วยชีวิตพระราชาเหล่านั้น พระเจ้าจุลนีฯ โกรธ พระราชาทั้งร้อยเอ็ดก็โกรธ เพราะไม่ทราบเบื้องหลัง แล้วร่วมกับพระเจ้าจุลนีฯ ยกทัพมาล้อมกรุงมิถิลา มโหสถใช้สติปัญญาแก้ไขให้กรุงมิถิลารอดพ้นภัยสงครามมาได้

ต่อมา เกวัฏพราหมณ์วางแผนฆ่าพระเจ้าวิเทหราชกับมโหสถโดยเอาพระธิดาของพระเจ้าจุลนีฯ ขึ้นล่อ ว่าจะให้เสกสมรสด้วย แต่ต้องมาทำพิธีที่กรุงกัปปิลรัฐ พระเจ้าวิเทหราชหลงกลจะไปตามคำเชิญ แต่มโหสถขอล่วงหน้าไปจัดเตรียมสร้างวังประทับให้ก่อน มโหสถสร้างวังใหม่ไว้ริมแม่น้ำนอกกรุงกัปปิลรัฐ โดยมีอุโมงค์ไปโผล่ที่ลานวังพระเจ้าจุลนีทางหนึ่ง กับโผล่ออกริมแม่น้ำอีกทางหนึ่ง เมื่อถึงวันสำคัญ พระเจ้าจุลนีฯ ร่วมกับพระราชาทั้งร้อยเอ็ดกลับยกทัพมาล้อมวังใหม่ของพระเจ้าวิเทหราช มโหสถฉวยจังหวะส่งคนผ่านอุโมงค์ลอบเข้าไปในวัง จับตัวพระราชินีกับพระธิดาของพระเจ้าจุลนีฯ เป็นตัวประกัน แล้วพาพระเจ้าวิเทหราชกับตัวประกันลอบหนีออกแม่น้ำ กลับไปกรุงมิถิลาได้ ส่วนทางพระเจ้าจุลนีฯ กับพระราชาทั้งร้อยเอ็ด มโหสถก็ลวงพาเข้าอุโมงค์แล้วปิดอุโมงค์จับตัวไว้ มโหสถทำให้พระเจ้าจุลนีฯ เลิกคิดร้ายต่อตนและยอมเป็นพ่อตาของพระเจ้าวิเทหราชด้วยดี

บำเพ็ญปัญญาบารมี = ทำใจให้เต็มด้วยปัญญา

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 6

ทศชาติ ทศบารมี 6 พระภูริทัตต์ บำเพ็ญศีลบารมี

“ถ้าการบูชาไฟเป็นการบูชาสูงสุด คนเผาถ่านก็ควรได้ชื่อว่าเป็นผู้บูชาไฟยิ่งกว่าพราหมณ์ ถ้าการบูชาไฟเป็นบุญสูงสุด การเผาบ้านเมืองก็คงได้บุญสูงสุด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ถ้าการบูชายัญเป็นบุญสูงสุด  พราหมณ์ก็น่าจะเผาตนเองบูชา”

พระราชาแห่งพาราณสี ระแวงว่าพระราชบุตรจะคิดขบถ จึงสั่งให้ออกจากเมือง พระราชบุตรไปบวชอยู่ใกล้แม่น้ำยมุนา ได้นางนาคตนหนึ่งเป็นภรรยา มีโอรส ชื่อ “สาครพรหมทัต” และธิดาชื่อ “สมุทรชา” ครั้นพระราชาสวรรคต บรรดาเสนาอำมาตย์ก็มาอัญเชิญพระราชบุตรขึ้นสืบราชสมบัติ

วันหนึ่ง โอรสธิดาเกิดตกใจกลัวเต่าตัวหนึ่ง พระบิดาจึงให้คนจับไปทิ้งในแม่น้ำ เต่าถูกพวกนาคจับไว้ เต่าออกอุบายว่า เป็นทูตของพระราชาพาราณสีจะยกพระธิดาให้เป็นชายาของราชานาค ราชานาคให้ทูตไปขอรับตัวพระธิดา พระราชาปฏิเสธ ราชานาคจึงโกรธว่า พระราชาพาราณสีดูหมิ่น สั่งให้ฝูงนาคขึ้นไปเที่ยวแสดงอิทธิฤทธิ์อำนาจในเมืองมนุษย์ จนในที่สุดพระราชาต้องจำใจส่งนางสมุทรชาให้ ต่อมานางมีโอรส 4 องค์ ชื่อ สุทัศนะ ทัตตะ สุโภคะ และ อริฏฐะ

ทัตตะเป็นผู้มีปัญญา ได้ชื่อว่า ภูริทัตต์ คือ ทัตต์ผู้เรืองปัญญา ช่วยพระบิดาและแม้เทวดา แก้ไขปัญหาต่าง ๆ อยู่เป็นนิตย์ ภูริทัตต์เคยไปเห็นเทวโลก จึงตั้งใจว่าจะรักษาศีลอุโบสถเพื่อจะได้ไปเกิดในเทวโลก แต่ราชานาคสั่งว่า มิให้ออกไปนอกเขตเมืองนาค เพราะอาจเป็นอันตราย แต่การรักษาศีลอยู่ในเมืองนาคทำได้ยาก ภูริทัตต์จึงขึ้นไปรักษาศีลอยู่ที่จอมปลวก ริมแม่น้ำยมุนา โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้ผู้ใดจะต้องการเลือดเนื้อของตน ก็จะยกให้ ขอเพียงศีลบริสุทธิ์

นายพรานชื่อ เนสาท มาพบภูริทัตต์เข้า ภูริทัตต์เห็นว่าอาจเป็นอันตรายแก่ตน จึงบอกพรานว่าจะพาไปอยู่เมืองนาคให้ได้รับความสุขสบาย แต่พรานเนสาทอยู่เมืองนาคได้ไม่นานก็กลับเมืองมนุษย์ออกล่าสัตว์ต่อไปตามเดิม

ครุฑตนหนึ่งออกไปจับนาคมากิน นาคเอาหางรั้งกิ่งไทรที่ให้ร่มเงาแก่ศาลาพระฤๅษีหลุดติดมาด้วย ครุฑรู้สึกผิด จึงไปถามพระฤๅษีว่า กรรมจะตกอยู่กับใคร พระฤๅษีว่า ไม่มีใครเจตนาจะถอนต้นไทร กรรมจึงไม่มีแก่ผู้ใด ครุฑโล่งใจ จึงสอนมนต์ชื่อ อาลัมพายน์ สำหรับใช้จับนาคให้แก่พระฤๅษี ต่อมา พระฤๅษีสอนมนต์นั้นให้แก่พราหมณ์ผู้หนึ่ง วันหนึ่ง ขณะที่พราหมณ์เดินสาธยายมนต์ นาคที่ขึ้นมาเล่นน้ำได้ยินมนต์ก็ตกใจนึกว่าครุฑมา รีบหนีลงน้ำ ลืมดวงแก้วสารพัดนึกไว้บนฝั่ง พราหมณ์หยิบดวงแก้วนั้นไป มาพบกับพรานเนสาท ซึ่งจำดวงแก้วได้ว่าเหมือนที่ภูริทัตต์เคยให้ดู ก็ออกปากขอ พราหมณ์ขอรู้ที่อยู่ของนาคเป็นการแลกเปลี่ยน พรานเนสาทจึงพาไปบริเวณที่ภูริทัตต์รักษาศีลอยู่ ภูริทัตต์ไม่คิดตอบโต้ เพราะกลัวศีลจะขาด พราหมณ์ก็ร่ายมนต์อาลัมพายน์เข้าไปจับภูริทัตต์แล้วนำไปออกแสดงหาเงิน จนมาถึงเมืองพาราณสี แล้วมีโอกาสนำนาคแสดงฤทธิ์ให้พระราชาดู

มารดาของภูริทัตต์เห็นภูริทัตต์หายไป จึงให้พีน้องออกตามหา สุทัศนะ – พี่คนโต กับอัจจิมุข – น้องสาวต่างมารดา มาพบภูริทัตต์ขณะกำลังแสดงหน้าพระที่นั่ง เกิดการท้าทายแข่งฤทธิ์กัน พราหมณ์แพ้ ภูริทัตต์ได้เป็นอิสระ

พรานเนสาทสำหนึกผิด ปากก็พร่ำว่า “ข้าได้ทำร้ายมิตร คือ ภูริทัตต์ ข้าพเจ้าปรารถนาจะล้างบาป” สุโภคะที่กำลังเที่ยวตามหาภูริทัตต์อยู่ ได้ยินเข้าจึงโกรธ จะฆ่า พรานกล่าวว่า “เราเป็นพราหมณ์ ท่านไม่ควรฆ่าพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เป็นผู้บูชาไฟ  เป็นผู้ทรงเวทย์” สุโภคะตัดสินใจไม่ถูก จึงพาพรานเนสาท ลงไปเมืองนาค เพื่อถามความเห็นจากพี่น้อง มาพบอริฏฐะซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสพราหมณ์ อริฏฐะกล่าวสรรเสริญพราหมณ์ต่าง ๆ นานา ภูริทัตต์กลับมาได้ยินเข้า จึงกล่าวหักล้าง มิให้ผู้ใดคล้อยตามในทางที่ผิด แล้วปล่อยพรานไป จากนั้นเหล่านาคก็พากันไปเยี่ยมญาติที่เมืองมนุษย์ ฝ่านภูริทัตต์ขอรักษาศีลอยู่กับพระเจ้าตาสืบไป.

บำเพ็ญศีลบารมี = ทำใจให้เต็มด้วยการรักษาความเป็นปกติ

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 7

ทศชาติ ทศบารมี 7 พระจันทกุมาร บำเพ็ญขันติบารมี

พระราชาทรงฝันว่าได้ขึ้นสวรรค์ แล้วอยากขึ้นสวรรค์จริง ๆ ไปปรึกษาพราหมณ์ผู้กำลังหาทางกำจัดพระโอรสจันทกุมาร พราหมณ์จึงทูลให้ทำพิธีบูชายัญ ด้วยชีวิตของคนและสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ลูก เมีย เศรษฐี โคอุสุภราช ช้างมงคล ม้ามงคล เป็นต้น พระราชาก็ทรงเชื่อ…

พระเจ้าเอกราชแห่งกรุงพาราณสีมีพราหมณ์ชื่อกัณฑหาลเป็นที่ปรึกษา และมีหน้าที่ตัดสินคดีความอีกตำแหน่งแต่กัณฑหาลรับสินบนจากคู่ความอยู่เสมอ  ข้างไหนให้สินบนมากก็จะตัดสินเข้าข้างนั้น เมื่อความอยุติธรรมรู้ไปถึงพระจันทกุมารราชบุตรผู้เป็นอุปราช พระจันทกุมารจึงพิจารณาความใหม่ แล้วตัดสินไปโดยยุติธรรม ฝูงชนโห่ร้องแซ่ซ้องสดุดีให้จันทกุมารทำหน้าที่ตัดสินคดีความแต่ผู้เดียว พราหมณ์กัณฑหาลเมื่อถูกถอดออกจากตำแหน่งก็คิดแค้นพระจันทกุมาร เพราะทำให้ตนขาดผลประโยชน์ และอับอาย จึงผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าเอกราชทรงฝันเห็นสวรรค์ชึ้นดาวดึงส์ว่าสวยงามรื่นรมย์เมื่อตื่นจากฝัน พระองค์ยังอาลัยอาวรณ์อยู่และปรารถนาจะได้ไปสู่ดินแดนนั้น จึงตรัสถามที่ปรึกษาว่าใครบอกทางไปสวรรค์แก่พระองค์ได้ กัณฑหาลได้โอกาส ทูลว่า ผู้ที่จะไปสู่สวรรค์ มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นคือ ทำบุญให้ทาน และ ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า ได้แก่ การบูชายัญด้วยยบุตร มเหสี เศรษฐี และช้างแก้ว ม้าแก้ว เป็นต้น จึงจะไปสู่สวรรค์ได้ ด้วยความที่อยากจะไปสวรรค์ พระเจ้าเอกราชายินดีจะทำตามที่กัณฑหาลบอก อันที่จริงกัณฑหาลคิดฆ่าพระจันทกุมารเพียงองค์เดียว แต่เกรงว่าผู้คนจะสงสัยความอาฆาตของตน จึงต้องให้บูชายัญผู้อื่นและสิ่งอื่นด้วย

เมื่อมีการรวบรวมบุคคล ช้าง ม้า มาเข้าพิธี ก็เกิดความโกลาหลวุ่นวายไปทั่ว บรรดาญาติพี่น้องของเศรษฐีพยายามทูลวิงวอนขอชีวิต แต่พระราชาก็ไม่ยินยอม พระบิดามารดาของพระราชาเองก็เสด็จมาห้ามปรามแต่พระราชาก็ไม่ฟัง

พระจันทกุมารรู้วาความพยาบาทที่กัณฑหาลมีต่อพระองค์เป็นสาเหตุ จึงอ้อนวอนพระบิดาว่า อย่าฆ่าคนทั้งหลายเลย หากจองจำเอาไว้ก็ยังมีประโยชน์ จะให้เป็นทาสเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า หรือขับไล่ไปเสียก็ย่อมได้ พระราชาได้ฟังก็ใจอ่อน ตรัสให้ปล่อยทุกสิ่งทุกคนที่จับมาทำพิธี ครั้นกัณฑหาลรู้ก็มาทูลคัดค้าน ล่อลวงให้พระราชาคล้อยตามด้วยความหลงใหลในสวรรค์อีก พระราชาก็ให้จับคนทั้งหลายมาอีก พระจันทกุมารจึงทูลอ้อนวอนพระบิดาด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา ครั้งหนึ่งพระจันทกุมารทูลพระบิดาว่า หากคนเราจะไปสวรรค์ได้เพราะการบูชายัญ เหตุใดพราหมณ์จึงไม่ทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาของตนเอง เหตุใดจึงได้ชักชวนให้คนอื่นทำ ในเมื่อพราหมณ์บอกว่า ผู้ใดทำบูชายัญเอง คนผู้นั้นย่อมไปสู่สวรรค์ เช่นนั้น ก็ให้พราหมณ์กระทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาตนเองเถิด ครั้นพระราชาใจอ่อนสั่งปล่อย พรามหมณ์ก็มาทูลล่อลวงกลับไปอีก วนเวียนอยู่เช่นนี้หลายครั้ง จนกัณฑหาลซึ่งเร่งจัดแจงมณฑลพิธีอยู่ สั่งให้ปิดประตูวัง ไม่ให้ใครเข้าเฝ้าพระราชาได้

เมื่อถึงเวลาทำพิธี กัณฑหาลเตรียมพระขรรภ์จะบั่นคอพระจันทกุมาร นางจันทาเทวีผู้เป็นชายาของพระจันทกุมาร ประนมมือกล่าวสัจจวาจาขึ้นว่า กัณฑหาลพราหมณ์เป็นคนชั่ว มีจิตมุ่งร้ายพยาบาท ด้วยวาจาสัตย์นี้ เทวดา ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง จงช่วยสามีให้รอดพ้นอันตราย พระอินทร์ได้ยินสัจจวาจานั้น จึงเสด็จถือค้อนไฟลุกโชติช่วงมาทำลายพิธี พระราชาตกใจกลัว สั่งให้คนปล่อยคนทั้งหมด ทันใดนั้น ประขาขนที่รุมล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหินก้อนดินและท่อนไม้เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาลพราหมณ์จนสิ้นชีวิต แล้วหันมาจะฆ่าพระราชา แต่พระจัยทกุมารป้องกันไว้ ประชาชนจึงได้แต่ถอดยศพระราชา แล้วไล่ออกจากพระนครไป แล้วอภิเษกพระจันทกุมารขึ้นเป็นพระราชาปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรมสืบต่อมา เมื่อพระจันทกุมารถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้เสด็จไปเสวยสุขในเทวโลก.

บำเพ็ญขันติบารมี = ทำใจให้เต็มไปด้วยความอดทนอดกลั้น

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 8

ทศชาติ ทศบารมี 8 พระนารทะ บำเพ็ญอุเบกขาบารมี

พระราชา “ถ้าโลกหน้ามีจริง ขอยืมเงินสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านในโลกหน้า”

พระนารทะ “ถ้าท่านเป็นผู้ประพฤติธรรม มากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ท่านยืมได้ เพราะเรารู้ว่าผู้อยู่ในศีลธรรม เมื่อเสร็จธุระแล้ว ก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้…”

พระราชาอังคติราช ครองเมืองมิถิลา ตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม มีพระธิดารูปโฉมงดงามนาวว่า รุจาราชกุมารี พระราชารักใคร่พระธิดาอย่างยิ่ง คืนวันหนึ่ง เป็นเทศกาลมหรสพ พระเจ้าอังคติราชประทับอยู่กับเหล่าอำมาตย์ พระจันทร์ทรงกลดอยู่กลางท้องฟ้า พระราชาปรารภขึ้นว่า ราตรีเช่นนี้เราจะทำอะไรให้เพลิดเพลินดีหนอ อำมาตย์หนึ่งทูลว่า ควรจะเตรียมกองทัพยกออกไปกวาดต้อนดินแดนน้อยใหญ่มาอยู่ในอำนาจ อำมาตย์หนึ่งทูลว่า ประเทศใหญ่น้อยก็อยู่ในอำนาจหมดแล้ว ควรจัดงานเลี้ยงดูระบำรำฟ้อนให้สำราญกัน อำมาตย์อีกคนทูลว่า ควรไปฟังธรรมจากสมณพราหมณ์ผู้รู้ธรรม พระราชาถามว่า ใครเล่าที่เป็นผู้รู้ธรรม อำมาตย์หนึ่งทูลว่า มีชีเปลือยรูปหนึ่งชื่อ คุณาชีวก เป็นพหูสูต พูดจาน่าฟัง พระเจ้าอังคติราชจึงยกขบวนไปหาชีเปลือยนั้น เมื่อไปถึงก็ถามปัญหาธรรมที่สงสัยอยู่ว่า บุญบาปมีจริงหรือไม่ บุคคลพึงปฏิบัติกับพอแม่ ลูกเมีย ครูอาจารย์ อย่างไร เป็นต้น คำถามเหล่านี้เป็นปัญหาธรรมชั้นสูง คุณาชีวกเป็นผู้โง่เขลา ไม่เจ้าใจ จึงเสตอบไปว่า สนใจเรื่องนี้ไปทำไม ไม่มีประโยชน์ บุญบาปไม่มี ปรโลกไม่มี สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกันหมด ดีชั่วเกิดขึ้นเอง เมื่อเกิดมาครบ 84 กัปก็จะบริสุทธิ์พ้นทุกข์ไปเอง ถ้ายังไม่ครบ ถึงจะทำบุญกุศลสักเท่าไร ก็ไม่มีประโยชน์ พระราชาได้ฟังก็เชื่อโดยสนิทใจ เมื่อเสด็จกลับมาก็มีคำสั่งว่า ต่อไปนี้พระองค์จะไม่ทำกิจใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่มีผลอันใด

จากนั้นก็เล่าลือไปทั้งพระนครว่า พระราชากลายเป็นมิจฉาทิฎฐิ หลงผิดตามคำของชีเปลือยคุณาชีวก บ้านเมืองจะถึงความเสื่อม ความนี้ทราบไปถึงเจ้าหญิงรุจาราชกุมารี ทรงร้อนใจเมื่อทราบว่าพระบิดาให้รื้อโรงทาน และกระทำการข่มเหงน้ำใจชาวเมืองหลายประการ ด้วยเชื่อว่าบุญบาปไม่มี บุคคลไปสู่สุขคติเองเมื่อถึงเวลา เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจึงเข้าเฝ้าพยายามกราบทูลเตือนสติพระบิดา แต่พระราชายังคงยึดมั่นตามที่ได้ฟังมาจากคุณาชีวก เจ้าหญิงทรงเป็นทุกข์ถึงผลที่พระบิดาจะได้รับเมื่อสิ้นพระชนม์ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอเทพยดาฟ้าดินมาช่วยเปลื้องความเห็นผิดของพระบิดาด้วยเถิด

พรหมเทพองค์หนึ่งชื่อ นารทะ มีความกรุณาในสรรพสัตว์ เล็งเห็นความทุกข์ของรุจาราชกุมารี และความเดือดร้อนอันจะเกิดแก่ประชาชน หากพระราชาทรงเป็นมิจฉาทิฎฐิ จึงเสด็จจากเทวโลกแปลงเป็นบรรพชิต เอาภาชนะใส่ทองสาแหรกข้างหนึ่ง คนโทแก้วใส่สาแหรกอีกข้างหนึ่ง สอดคานวางบนบ่า เหาะมาลอยอยู่ต่อหน้าพระเจ้าอังคติราช พระราชาตกใจถามว่า เป็นใคร มาจากไหน เหตุใดจึงมีฤทธิ์ลอยอยู่ในอากาศได้ นารทะพรหมตอบว่า ชื่อ นารทะ มาจากเทวโลก เพราะบำเพ็ญคุณธรรมในชาติก่อน ชาตินี้จึงมีฤทธิ์เดช ไปไหนได้ตามใจปรารถนา เพื่อจะบอกพระราชาว่า ผลบุญมีจริง ปรโลกมีจริง พระราชาตรัสว่า ถ้าปรโลกมีจริง ขอยืมเงินข้าพเจ้าสักห้าร้อยเถิด ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านในโลกหน้า พระนารทะตอบว่า ถ้าท่านเป็นผู้ประพฤติธรรม มากกว่าห้าร้อยเราก็ให้ยืมได้ เพราะรู้ว่าผู้อยู่ในศีลธรรม เมื่อเสร็จธุระแล้ว ก็ย่อมนำเงินมาใช้คืนให้เอง แต่อย่างท่านนี้ ตายไปแล้วก็จะต้องไปเกิดในนรก ใครเล่าจะตามไปทวงเงินคืนจากท่านได้ แล้วพรรณนาความทุกข์ทรมานต่าง ๆ ในนรกให้ฟัง พระราชาได้ฟังแล้วก็รู้ตัวว่าเดินทางผิด กล่าวกับพระนารทะว่า โปรดบอกหนทางที่ถูกต้องแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด พระนารทะจึงสอนธรรมแก่พระราชาอังคติราช จนยอมละมิจฉาทิฏฐิ กลับมาตั้งมั่นในธรรม ทำบุญทำทาน เลือกคบแต่ผู้ที่มีศีลธรรม บ้านเมืองก็สุขสงบร่มเย็นกลับมา.

บำเพ็ญอุเบกขาบารมี = ทำใจให้เต็มไปด้วยความเป็นกลาง

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 9

ทศชาติ ทศบารมี 9 พระวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี

ชายาพญานาคได้ฟังสามีบรรยายธรรมจากวาจาของวิธรุรบัณฑิต ก็อยากฟังธรรมของบัณฑิตด้วยตนเอง จึงทำอุบายว่า เป็นไข้ ต้องการหัวใจของวิธุรบัณฑิต จึงจะหายไข้ ลูกสาวสงสารแม่ จึงเสนอตัวตะแต่งงานกับผู้ที่นำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ ปุณณกยักษ์ “เราประสงค์จะได้นางเป็นชายา บอกเรามาว่า วิธุรบัณฑิตเป็นใครอยู่ที่ไหน…”

ฤๅษี 4 ตน เล่าเรื่องสมบัติในที่ต่าง ๆ ให้เศรษฐี 4 คน ฟัง ได้แก่ สมบัติพระอินทร์, สมบัติพญานาค, สมบัติพญาครุฑ และสมบัติของพระราชาธนัญชัย คือ วิธุรบัณฑิต ผู้เป็นปราชญ์ในสำนักนั้น เศรษฐีทั้งสี่ได้ฟังแล้วก็อยากจะได้สมบัตินั้น ๆ จึงทำบุญ ทำทาน รักษาศีล อธิษฐานขอให้ได้ไปเกิดเป็นเจ้าของสมบัติที่ต้องการ เมื่อสิ้นอายุแล้ว เศรษฐีทั้งสี่ก็ได้ไปเกิดตามที่ตั้งใจไว้ คือ ไปเกิดเป็นพระอนทร์ พญานาค พญาครุฑ และโอรสพระเจ้าพระเจ้าธนัญชัย ซึ่งเมื่อพระราชาธนัญชัยสวรรคต ก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าของวิธุรบัณฑิต และด้วยความผูกพันที่มีมา สหายทั้งสี่ก็ได้มาพบกันอีก แล้วสนทนากันว่า ศีลของใครประเสริฐที่สุด ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลว่า ศีลของตนประเสริฐที่สุด ตกลงกันไม่ได้จึงชวนกันไปหาวิธุรบัณฑิต ให้มาช่วยตัดสิน วิธุรบัณฑิตฟังเรื่องราวแล้วก็ตัดสินว่า ศีลของทุกคนล้วนเป็นเลิศเท่ากัน ทั้งสี่พอใจในปัญญาของวิธุรบัณฑิต จึงถอดของมีค่าในกายให้เพื่อบูชาปัญญาบัณฑิต

เมื่อพญานาคกลับวัง พระนางวิมลามเหสีถามว่า แก้วมณีที่คอหายไปไหน พญานาคตอบว่า ถอดให้กับวิธุรบัณฑิต ผู้มีสติปัญญา และมีธรรมวาจาอันไพเราะ พระนางวิมลาก็ปรารถนาจะได้ฟังวิธุรบัณฑิตแสดงธรรมบ้าง จึงทำอุบายว่าเป็นไข้และว่า ไข้จะหาย หากได้หัวใจของวิธุรบัณฑิต พญานาคว่า เป็นไปไม่ได้ พระนางวิมลาก็แสร้งทำป่วยกำเริบหนักขึ้นอีก นางอริทันตีผู้เป็นธิดาทราบเรื่องจึงคิดช่วยมารดาโดยป่าวประกาศว่า หากผู้ใดสามารถนำหัวใจวิธุรบัณฑิตมาให้ นางจะยอมแต่งงานด้วย  ปุณณกยักษ์หลานของท้าวเวสสุวัณเข้าไปหาและบอกนางว่า “เราประสงค์จะได้นางเป็นชายา บอกเรามาว่าวิธุรบัณฑิตอยู่ที่ไหน” เมื่อปุณณกยักษ์รู้ว่าวิธุรบัณฑิตอยู่ในราชสำนักพระเจ้าธนัญชัย ไม่อาจจะพาตัวมาได้ง่าย ๆ จึงไปทำพนันสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดยเอาแก้วมณีกับม้าคู่บุญจักรพรรดิเป็นเดิมพัน เมื่อพระเจ้าธนัญชัยถูกถามว่าจะเอาอะไรมาเดิมพัน ทรงตอบว่า “ยกเว้นตัวเรา, เศวตฉัตร และมเหสีแล้ว จะเอาอะไรเป็นเดิมพันก็ได้ทั้งสิ้น” ปุณณกยักษ์ขอเอาวิธุรบัณฑิตเป็นเดิมพัน พระราชาบอกว่า “วิธุรบัณฑิตนั้นก็เปรียบได้กับตัวเราเอง เราให้ท่านไม่ได้” ยักษ์ว่าอย่าโต้เถียงกันเลย ให้วิธุรบัณฑิตตัดสินดีกว่า วิธุรบัณฑิตตัดสินว่า ตนเป็นของเดิมพันได้ พระราชาเสียพระทัยว่า วิธุรบัณฑิตไม่เห็นแก่พระองค์ วิธุรบัณฑิตทูลว่า “ข้าพระองค์จักพูดในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่เป็นธรรมเสมอ จักไม่หลีกเลี่ยงความจริง เพราะวาจาจะไพเราะด้วยหลักธรรม”

ปุณณกยักษ์ชนะพนันสกา จึงได้ตัววิธุรบัณฑิตไป ระหว่างทางยักษ์คิดว่าถ้าเอาแต่หัวใจของวิธุรบัณฑิตไป จะสะดวกกว่า จึงพยายามฆ่าวิธุรบัณฑิต แต่ไม่สำเร็จ วิธุรบัณฑิตถามว่า ต้องการจะฆ่าตนทำไม ยักษ์เล่าความเป็นมาให้ฟัง วิธุรบัณฑิตรู้ด้วยปัญญา ที่แท้พระนางวิมลาปรารถนาจะได้ฟังธรรมของตน จึงแสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์ เพื่อมิให้หลงผิด ยักษ์ฟังธรรมแล้วสำนึกผิด จะพาวิธุรบัณฑิตกลับ และไม่ต้องการนางอริทันตีอีกแล้ว แต่วิธุรบัณฑิตก็ให้พาไปเมืองนาค

เมื่อพระนางวิมลาพบวิธุรบัณฑิตก็ถามว่า “ท่านตกอยู่ในอันตรายถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่เศร้าโศกหรือหวาดกลัว” วิธุรบัณฑิตตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยทำความชั่วจึงไม่กลัวความตาย ข้าพเจ้ามีธรรมะและปัญญาจึงไม่กลัวภัยใด ๆ” แล้วตอบปัญหาต่าง ๆ ที่พระนางวิมลาถาม จนเป็นที่พอใจ ครั้นแล้ววิธุรบัณฑิตก็บอกพญานาคว่าจงเอาหัวใจของตนไปรักษาพระนางวิมลาเถิด พญานาคจึงตรัสว่า “ปัญญานั้นแหละคือหัวใจของบัณฑิต หาใช่หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อไม่” แล้วให้         ปุณณกยักษ์พาบัณฑิตไปส่งยังที่มา และยกนางอริทันตี ให้แก่ปุณณกยักษ์

บำเพ็ญสัจจบารมี = ทำใจให้เต็มไปด้วยความสัตย์จริง

คลิกเพื่ออ่านทศชาติ ทศบารมี 10

ทศชาติ ทศบารมี 10 พระเวสสันดร บำเพ็ญทานบารมี

การบริจาคนั้น เป็นกุศล เป็นคุณ เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นจากความเดือดร้อน ผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบสุขใจ ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นและยังทำให้พ้นจากความโลภในทรัพย์ของผู้อื่น พ้นจากความตระหนี่ถี่เหนียวในทรัพย์สมบัติของตนอีกด้วย

พระเจ้าสญชัยแห่งนครสีพีมีโอรสคือ พระเวสสันดร ซึ่งฝักใฝ่ในการบริจาคทานอย่างยิ่งจนรู้จักกันไปทั่ว เมืองกลิงคราษฎร์เกิดฝนแล้ง ราษฎรอดอยาก จึงพากันไปเฝ้าพระราชา ทูลว่าที่เมืองสีพีมีช้างปัจจัยนาคเป็นช้างวิเศษ ถ้าอยู่เมืองใดจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พระเจ้ากลิงคราษฎร์จึงส่งทูตไปทูลขอช้างจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคให้ ส่วนชาวสีพีพากันโกรธเคืองว่าต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก ไม่มีช้างปัจจัยนาค จึงทูลพระเจ้าสญชัย กล่าวโทษพระเวสสันดร ขอให้ขับพระเวสสันดรไปเสียจากเมือง พระเวสสันดรกับพระนางมันทรีพร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา คือ ชาลีกับกัณหาจึงต้องออกไปอยู่ป่า ก่อนไป พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ครั้นนั่งรถออกจากเมืองก็มีคนวิ่งตามมาขอรถขอม้า พระองค์ก็ยกให้ไปอีก ต้องพากันเดินเท้า พระเวสสันดรจูงชาลี พระนางมัทรีอุ้มกัณหา ไปบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์

พราหมณ์อัปลักษณ์ชื่อชูชก ได้นางอมิตตาเมียสาวจากค่าไถ่หนี้ จะหาเด็กมาช่วยงานเมีย รู้กิตติศัพท์ของพระเวสสันดร จึงดั้นด้นเข้าป่าไปหา เพื่อจะขอกัณหากับชาลี ระหว่างทางเจอพรานเจอบุตรที่คอยรักษาเส้นทางไม่ให้ใครเข้าไปรบกวนขอบริจาคกับพระเวสสันดร แต่ชูชกทำอุบายเขย่ากลักเสบียงหลอกว่าเป็นสาส์นจากพระเจ้าสญชัยให้เชิญพระเวสสันดรกลับ พรานจึงยอมให้ผ่าน ระหว่างทาง ชูชกยังพบกับอัจจุตฤๅษีให้ช่วยบอกทางอีกราย

ชูชกรอให้พระนางมันทรีออกไปหาผลาหารก่อน แล้วจึงเข้าไปขอกุมาร พระเวสสันดรก็ยกให้ สองกุมารหนีลงสระไปซ่อนใต้ใบบัว พระเวสสันดรรู้ ร้องเรียกขอให้กุมารช่วยรักษาคำพูดของบิดา กุมารทั้งสองจึงยอมขึ้นจากสระ เมื่อชูชกได้กุมารแล้วก็ฉุดลากทุบตีต่อหน้าพระเวสสันดร ที่ต้องทนฝืนใจเพราะยกให้เขาแล้ว

พระอินทร์เห็นว่าพระนางมัทรีจะกลับมาทันเห็นลูก แล้วจะเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีสำคัญ จึงสั่งให้เทวดาแปลงกายเป็นสิงห์เป็นเสือ นอนขวางทางพระนางมัทรีไว้จนพ้นเวลา เมื่อพระนางกลับมาถึงอาศรมไม่เห็นลูกก็ออกตาม ร่ำไห้หาจนสลบไป เมื่อฟื้นขึ้น พระเวสสันดรจึงเล่าเหตุแห่งการบริจาคครั้งสำคัญให้ฟัง และขอให้พระนางร่วมอนุโมทนาในทานนี้ด้วย พระนางมัทรีจึงร่วมอนุโมทนา

พระอินทร์เกรงว่าจะมีใครมาทูลขอพระนางมัทรีกับพระเวสสันดรเสียอีก จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์มาทูลขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ยกให้  พราหมณ์แปลงกล่าวอนุโมทนาแล้วคืนร่างเป็นพระอินทร์ ถวายพระนางมัทรีคืนให้อยู่รับใช้พระเวสสันดร

เทวดาดลใจให้เฒ่าชูชกพากุมารมาถึงกรุงเชตุดร แคว้นสีพี บังเอิญพระเจ้าสญชัยทรงพบเห็น ทรงคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นหลานรักที่ติดตามพระโอรสเวสสันดรไป เมื่อเรียกมาสอบถามก็ได้ความจริง จึงจัดงานสมโภชรับขวัญหลานเลี้ยงดูชูชกอย่างเต็มที่ ตาเฒ่าตะกละกินอาหารอร่อยจนท้องแตกตาย

พระเจ้าสญชัยจัดขบวนทัพออกไปรับพระเวสสันดรกลับพระนคร เมื่อผู้พลัดพรากทั้งปวงได้พบหน้ากัน ต่างเข้าสวมกอดร้องไห้ด้วยความตื้นตันจนถึงสลบไสลสิ้นทุกคน กองทัพบริวารก็พากันโศกเศร้าสะเทือนใจร้องไห้จนสลบไปด้วย พระอินทร์จึงบันดาลให้เกิดฝนโบกขรพรรษาสาดซัดต้องตัวผู้คนทั้งปวง ให้ฟื้นตื่นโดยทั่วกัน แล้วพระเวสสันดรกับพระนางมัทรีก็สึกจากความเป็นนักบวชกลับสู่กรุงเชตุดร แคว้นสีพีนับแต่นั้น.

บำเพ็ญทานบารมี = ทำใจให้เต็มไปด้วยการบริจาค

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.