ส่อง 7 เทรนด์สุขภาพ คุณภาพชีวิต ที่ต้องจับตามอง

เทรนด์สุขภาพ คุณภาพชีวิต ที่ควรระวัง จับตามอง และเตรียมรับมือ

เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จัดเสวนาถกประเด็น ถึง เทรนด์สุขภาพ สภาวะการณ์ของสังคมไทย ที่น่าจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัว สังคม รวมถึงเรื่องของระดับประเทศแต่เป็นเรื่องใกลัตัว ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนน่าสนใจ และจำเป็นต้องมีการรับมือเตรียมความพร้อมเพื่อรอรับการเปลี่ยนแปลง จะมีประเด็นอะไรบ้างนั้น ชีวจิต สรุปมาให้แล้ว

บญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด เมื่อวันที่ไทยต้องเป็นครอบครัวข้ามรุ่น

ประเด็นแรก การปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า “ครอบครัวข้ามรุ่น” เสียก่อน ครอบครัวข้ามรุ่น เป็นคำเรียกของครอบครัวที่มีหลายรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ ไปจนถึงรุ่นหลาน หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วต่างอย่างไรกับครอบครัวขยาย ต่างกันตรงที่ ครอบครัวขยายเกิดจากครอบครัวของคนหลายรุ่นมาอยู่ร่วมกัน แต่ครอบครัวข้ามรุ่น เป็นครอบครัวที่มีคนหลายๆ รุ่น ที่ไม่ได้แต่งงานนั่นเอง

ครอบครัวข้ามรุ่น เกิดจากค่านิยมยุคใหม่ในสังคม ที่คนนิยมอยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน ผสานกลับการเกิดโรคระบาด ที่ทำให้คนได้กลับมาอยู่ร่วมกัน  และเมื่อคนหลายรุ่นอยู่ร่วมกัน ปัญหาความแตกต่างระหว่าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งในด้านความคิด ความเข้าใจ และการใช้ชีวิตจึงเกิดขึ้น ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้คนที่มีความแตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้

ไม่เพียงเรื่องของความแตกต่างเท่านั้น แต่จากเก็บรวบรวมข้อมูล โดยสสส. พบว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัย สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นวัยรุ่นทั้งในระดับสังคม และครอบครัว ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อทำให้การสื่อสารข้อมูลต่างๆ เข้าถึงเด็กได้มากขึ้น และทำให้เขาได้กล้าแสดงออก เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยนี้เอง

ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มรสหวาน

จากข้อมูลสุขภาพของประเทศไทยในปัจจุบันพบเรื่องที่น่าตกในมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ อายุของคนที่เป็นเบาหวานลดน้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นเรื่องของคนวัย 50-60 ปี กลายเป็นเรื่องของคนวัย 30 ปี และล่าสุดคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ก็พบโรคเบาหวานแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ เพราะค่านิยม การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการทานรสจัด คาเฟ่ที่อุดมด้วยของหวานมากมาย ทำให้เราเข้าถึงของหวานได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

จากการศึกษาของ สสส.  พบว่า คนไทยได้รับน้ำตาลมากที่สุดผ่านทางเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นชานม น้ำอัดลม เป็นต้น และพบพฤติกรรมติดหวานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากนมที่เด็กๆ ดื่ม มีการเติมน้ำตาลนั้นเอง

คนไทยได้รับน้ำตาลโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 25 ช้อนโต๊ะต่อคน ทั้งที่จริงแล้วควรได้รับเพียง 6 ช้อนโต๊ะเท่านั้น!

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อ คนในวัยต่ำกว่า 20 ปี จะเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของคนในประเทศเพิ่มสูงขึ้นภายใน 7 ปี

โดยสิ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้คือการอ่านฉลากด้วยความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหา นอกจากนั้นยังต้องอาศัยการร่วมมือกันของภาคธุรกิจ และภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณให้เล็ก ซึ่งจะทำให้ส่วนผสมน้ำตาลลดน้อยลง รวมไปถึงภาษีความหวาน ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได้

สำหรับตัวผู้บริโภคเองการเลือกทานสิ่งต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน

เยาวชนไทย บนโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน

ในวันที่เทคโนโลยีเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย การปรับตัวของสิ่งต่างๆ จึงเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่การพนัน ที่ผันตัวจากการอยู่บนโลกออฟไลน์ เจ้าสู่โลกไร้พรมแดนในอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ว่าจะอยู่สถานที่ใด เมื่อไหร่ ก็สามารถเข้าถึงได้ทุกเมื่อ และยากต่อการตรวจจับ

เป็นที่น่าตกใจว่าเป้าหมายของการพนันไร้พรมแดน ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์เช่นในอดีต แต่เปลี่ยนเป็นเยาวชนวัย 15 ปีขึ้น ที่มีแรงผลักดันจากสังคมทั้งทางตรง และทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการรีวิวต่างๆ การติดตามการใช้ชีวิตที่หรูหรา ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการในทรัพย์สิน ทำให้เยาวชนต้องการที่จะมีรายได้เร็วขึ้นกว่าในยุคเก่า จึงเกิดทางเลือกบ้างก็เลือกที่จะค้าขาย และมีไม่น้อยที่เลือกทางลัดเช่นการพนันออนไลน์ ที่พร้อมจะ “เด้งฟีด” ทางโซเชียลเชิญชวนให้เสี่ยงโชค

ดังนั้นแล้วการให้ความรู้ และทำความเข้าใจ เริ่มต้นที่หน่วยเล็กที่สุดของสังคม อย่างครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อระวังไม่ให้เยาวชนหลุดเข้าไปสู่วังวนแห่งการพนัน ด้วยการทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ “การได้” เพียงอย่างเดียว แต่เมื่อหลวมตัวไปแล้ว “การสูญเสีย” ก็รออยู่ไม่ไกล รวมถึงเต็มไปด้วยกลโกงมากมายที่พร้อมจะดูดเงินของเรา

สุรา คุณค่าความหลากหลายบนความเสี่ยงการควบคุม และ เยาวชนกับภูมิคุ้มกันในยุคที่ยาเสพติดเข้าถึงง่าย

เป็น 2 ประเด็น ที่มีการพูดถึงอย่างมาก และมักมาควบคู่กัน โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียลของสังคมไทย คือ สุรา ที่มีทั้งในแง่ประเด็นความหลากหลายของอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาค อย่างสุราท้องถิ่น ซึ่งมีมาเนิ่นนาน เพียงแต่ภาพลักษณ์ในสังคมยังไม่ชัดเท่าทุกวันนี้ รวมถึงมีหลายแง่มุมที่ต้องคิด ไม่ว่าจะเป็นการผลิต ที่อาจขาดความเข้าใจ เช่นการเลือกใช้เมทิลแอลกอฮอล์ แทนเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ยังไม่นับประเด็นที่อาจเกิดขึ้นจากความมึนเมาสุรา เช่น อุบัติเหตุ และความรุนแรง

สำหรับประเด็นยาเสพติด ที่นับวันจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้นทุกที ยังไม่นับเรื่องของกัญชา และกระท่อม ที่ยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน ว่าเท่าไหร่ถึงจะพอดี ทั้งในแง่เพื่อการรักษา และในแง่ของธุรกิจ

จากการศึกษาข้อมูล โดย สสส. พบว่าเยาวชนต้องการพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด นอกจากนี้แล้วอีกหนึ่งประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือการพยายามให้เกิดการให้โอกาสกับผู้ที่พลาดในเส้นทางที่ผิด

ทำความเข้าใจกับสังคมว่าผู้เสพ คือ “ผู้ป่วย”

ที่ต้องเข้ารับการบำบัด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม ไม่ใช่ผู้กระทำผิดที่ต้องถูกลงโทษ

ลมหายใจในม่านฝุ่น ต้นตอปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย

นับเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนานที่มีมายาวนาน จนกลายเป็นปัญหาประจำปีถึงขนาดที่มีฤดูกาลเป็นของตัวเอง ในชื่อว่า “ฤดูฝุ่น” แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นปัญหาที่ต้องถูกเร่งแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่เพียงสภาพอากาศที่ถูกทำลาย แต่สุขภาพก็จะยิ่งถูกทำร้าย ไม่เพียงระบบทางเดินหายใจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย

ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจสูงถึง 1.7 ล้านคน!

Pm2.5 เกิดขึ้นทุกปี แต่จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปี ปัญหาจะเริ่มเร็วขึ้น มากขึ้น และถี่ขึ้น ซึ่งจากการศึกษาของหลายภาคส่วนพบว่า ในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยการเกิดที่แตกต่างกัน เช่น ภาคใต้ ปัญหาเกิดจาการเผาป่าของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ภาคเหนือเกิดจากการเผาในประเทศ ส่วนกรุงเทพฯ ปัญหาฝุ่นมาจากการคมนาคมขนส่ง จึงทำให้การแก้ปัญหาต้องใช้หลายวิธี และหลายองค์กรร่วมด้วยช่วยกัน

อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในฐานะประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่

สำหรับการแก้ไขในปัจจุบัน หลายภาคส่วนระดมความคิด เพื่อการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เพียงกำจัดฝุ่น แต่ยังแก้ไขที่ต้นตอด้วยการควบคุมการเกิดฝุ่นพิษ เช่น การสร้างแอปเพื่อสำรวจจุดความร้อน (Hot Spot) สร้างกฎระเบียบเพื่อลดฝุ่น ซึ่งหนึ่งในความคืบหน้าที่ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีคือ การผ่านร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งหวังว่าในอนาคตไทยจะสามารถจัดการปัญหาที่ยืดเยื้อนี้ได้

โลกเดือด สะเทือนไทย ทางออกในวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

ประเทศไทย เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ทางอาหารประเทศหนึ่ง นี่คือความจริงที่ไม่อาจเถียงได้ แต่ในยามวิกฤตโรคระบาด ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยกลับถูกสั่นคลอน จนเกิดภาวะขาดแคลนทางอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น การกักตุนสินค้า การจำกัดเวลาและการเดินทาง บทบาททางสังคมที่เป็นผู้บริโภค และอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การเปลี่ยนทางสภาพอากาศของโลก ที่ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น

              ไทย ติดอันดับ 9 ที่จะได้รับผลกระผลมากที่สุดจากสภาพอากาศสุดขั้วซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน

ภาวะโลกรวน คือสภาวะที่อากาศ ฟ้าฝน ดินน้ำ อุณหภูมิแปรปรวนจากที่เคยเป็น เช่น เอลนีโญ ลานีญา เป็นต้น ซึ่งการที่ไทยติดอยู่ในอันดับ ที่ 9 จาก 180 กว่าประเทศ ก็เนื่องมาจากการเป็นประเทศกสิกรรม เกษตรกรพึ่งพาดินฟ้าอากาศ และอุณหภูมิเป็นหลัก หากเกิดสภาวะโลกรวน แน่นอนว่าเราได้รับผลกระทบนั้นโดยตรง

ผศ. ชล บุนนาค ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ดร. กฤษฎา บุญชัย

ดังนั้นแล้วในการแก้ปัญหาดังกล่าว และเรียกคืนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศให้กลับคืนมา จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผลกระทบมาถึงตัวเราซึ่งเป็นผู้บริโภค นั่นหมายความว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต้นทางไปมากแล้ว และวิกฤตเกินเยียวยา หากไม่อยากให้วันนั้นมาถึง การร่วมมือจากทุกฝ่าย และการแก้ปัญหาในภาพรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.