พุทธจิตวิทยา

พุทธจิตวิทยา สู่ความงามสง่าที่แท้จริง

พุทธจิตวิทยา สู่ความงามสง่าที่แท้จริง

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่สอนด้วยเรื่องการสร้างบุคลิกภาพให้งามสง่า และพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่สอนเรื่องจิตของมนุษย์ ก็มีคำสอนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็น พุทธจิตวิทยา ที่จะส่งเสริมสร้างความงามภายนอก ภายใน เพื่อผสานสู่ความงามสง่าที่แท้จริง

 

“การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนานี้  เป็นโชคดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้แล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้มีความสนใจในพุทธศาสนาให้มาก” – พุทธทาสภิกขุ

 

ผู้เขียน รู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เขียนศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก และคำสอนจากท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เขียนยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่เลือกเรียนปริญญาโททางด้านจิตวิทยา เพราะจิตวิทยาเป็นวิชาที่สนุกมาก มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ และทดสอบสมมติฐานอย่างเป็นขั้นตอน บางครั้งมีผลการวิจัยที่น่าแปลกใจ และชวนให้เกิดจินตนาการ เพราะการจินตนาการ เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา และการต่อยอดความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอส่งต่อความโชคดีแบบสองชั้นนี้ มอบแด่ผู้อ่านทุกท่าน เพื่อส่งเสริมงานพุทธจิตวิทยาร่วมกัน ในการดับทุกข์ และประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์

 

พุทธจิตวิทยา

 

การที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ  ผู้คนให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและความงามมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ จึงขอแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านความงามและคุณภาพชีวิต ด้วยการใช้หลักพุทธจิตวิทยา โดยในฉบับนี้จะขอนำเสนอเคล็ดลับความงามสง่า ที่จะช่วยจุดประกาย เปลี่ยนคุณให้เป็นคนใหม่ ได้ภายในเสี้ยววินาที!

 

ความงามสง่าภายนอก สามารถสร้างได้ทันที หากทำตามหลักการของผู้เขียน คือ การยิ้ม การหัวเราะ และการวิเคราะห์สถานการณ์” เดี๋ยวนี้ !

 

พุทธจิตวิทยา

การยิ้ม เป็นปราการด่านแรกที่จะสร้างความประทับใจแรกพบ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการปรับอารมณ์ให้รู้สึกดี การยิ้มเพื่อเสริมสร้างความงามสง่า ควรที่จะยิ้มทั้งใบหน้า โดยเฉพาะดวงตาให้มีประกายที่สดชื่นแจ่มใส ทรงพลัง เต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดีปรีดา ควรฝึกให้เป็นคนที่ยิ้มง่าย เพราะรอยยิ้มที่เป็นมิตรและจริงใจ จะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ชวนมอง เพิ่มความน่าไว้วางใจ และ “สร้างเสน่ห์” การยิ้มเป็นเรื่องของจิตวิทยา หากเรายิ้ม คนอื่นก็จะยิ้มตอบโดยอัตโนมัติ ลองดูนะคะ

 

พุทธจิตวิทยา

การหัวเราะ มีประโยชน์และส่งผลโดยตรงกับความงามสง่าภายนอก เชื่อกันว่า การหัวเราะและการออกกำลังกาย เป็นยาวิเศษที่ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้นทันตาเห็น มีทั้งแบบธรรมชาติและบำบัด การหัวเราะแบบบำบัด คือ การผสมผสานควบคุมลมหายใจ การเปล่งเสียง และการบริหารร่างกาย ปัจจุบัน มีการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีหัวเราะบำบัด แทนการใช้ยาคลายเครียดและยาแก้ปวด การหัวเราะทำให้ตนเองและคนรอบข้างอารมณ์ดี มีความสุข สนุกสนานร่วมกัน

 

พุทธจิตวิทยา

การวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อการแต่งกาย การเจรจา และการมีท่วงท่าที่เหมาะสมกับกาลเทศะ นับเป็นการสร้างความงามสง่าภายนอกที่สำคัญยิ่ง โดยพึงระลึกอยู่เสมอถึงมารยาททางสังคม ได้แก่ การแต่งกาย คือ การสะท้อนว่า บุคคลผู้นั้นให้เกียรติกับผู้ที่ปฏิสัมพันธ์ และเคารพในสถานที่มากน้อยเพียงใด ในส่วนของการเจรจา ควรคำนึงว่าใครเป็นผู้ฟัง เพื่อที่จะได้ใช้น้ำเสียงและถ้อยคำให้เหมาะสม การพูดที่มีประสิทธิภาพต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ต้องคิดให้ดี ให้รอบคอบก่อนที่จะพูดเสมอ  สำหรับการแสดงท่วงท่าที่เหมาะสมนั้น ขอให้มี “ความรู้เนื้อรู้ตัว” ดึงสติให้อยู่ที่ฐานกาย จัดท่วงท่าในการเดิน ยืน นั่ง ให้หลังตั้งตรง ดูมีสง่าราศี

 

ความงามสง่าที่แท้จริง ตามพุทธจิตวิทยา 

เป็นการผสมผสานเทคนิคความงามสง่าทั้งภายนอก ภายใน และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้าไว้ด้วยกัน เช่น การปฏิบัติตามหลักบุญกิริยาวัตถุ 3 ได้แก่ การให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา…แล้วเราจะประยุกต์พุทธจิตวิทยาเพื่อความงามสง่าที่แท้จริงในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ? ก่อนอื่น ขอให้ผู้อ่านเปิดใจเรียนรู้ และปฏิบัติด้วยความสุขใจในธรรม 3 ประการ ได้แก่

 

พุทธจิตวิทยา

 

การให้ทาน ตามหลักการสร้างความงามสง่าภายนอก ได้แก่ การให้รอยยิ้ม การสร้างเสียงหัวเราะ และการวิเคราะห์สถานการณ์ ในส่วนของการให้รอยยิ้มนั้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสโลแกนของ Sanrio ที่ว่า Small Gift, Big Smile สื่อถึง การให้ของขวัญแม้เพียงชิ้นเล็ก ๆ ก็ทำให้เกิดรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขได้

อย่างไรก็ตาม การให้นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของ อาจเป็นการเล่าเรื่องขำขัน เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ การให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้ความรู้ คำแนะนำ และหากเราอยู่ในสถานการณ์ความทุกข์ใจ ขอเพียงให้อภัยและอโหสิกรรมต่อกัน ถือเป็นการให้ที่มีคุณค่าทางจิตใจ และยิ่งใหญ่ในฐานะมนุษย์ คือ การตอบแทนคุณบิดามารดาและผู้มีอุปการะคุณ การที่บุคคลมีความกตัญญูกตเวที ซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดีนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีความงามสง่าที่แท้จริง

 

พุทธจิตวิทยา

การรักษาศีล ตามหลักการสร้างความงามสง่าภายใน ได้แก่ ทัศนคติ ความมั่นใจ และการใช้จิตใต้สำนึก เริ่มจากการมีทัศนะคติที่ถูกต้องในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาก่อน เช่น  ความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ความเชื่อและการปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างสุขใจ

ผู้เขียนขอเสริมการใช้จิตวิทยา เรื่อง พลังจิตใต้สำนึกในการสร้างมโนภาพ ร่วมด้วยในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น เราจะไม่กล้าคดโกงผู้อื่น คอรัปชั่นสังคมและประเทศชาติ หากเราเห็นภาพปลายทางที่ต้องถูกจองจำอยู่ในห้องขัง จิตใจมีแต่ความหวาดกลัว ในทางตรงกันข้าม หากเราเห็นภาพตนเองที่งามสง่า และมีความเชื่อมั่นในการทำความดี เราย่อมใช้ชีวิตในทุกขณะได้อย่างสุขสบายใจ การเฝ้ามองพฤติกรรมของตนเอง เป็นการฝึกสติที่ดีอย่างหนึ่ง และสามารถทำได้ทันที ทุกที่ ทุกเวลา พยายามฝึกตนให้เป็น “ผู้เฝ้ามอง” ทั้งอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก การมองเห็นตนเองในภาพที่งามสง่า จะคอยกำกับให้เราอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม

 

พุทธจิตวิทยา

การเจริญภาวนา ให้เกิดความสงบในจิตใจ โดยการสวดมนต์ ทำสมาธิในชีวิตประจำวัน เราสามารถเจริญสติได้ในทุก ๆ อิริยาบท การร้องเพลงที่มีความหมายที่ดี จรรโลงใจ แทนการสวดมนต์ ก็สามารถทำได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการสวดมนต์ซึ่งเป็นภาษาบาลีโดยที่เราไม่ทราบความหมายเลย… การทำสมาธิ จดจ่ออยู่กับกิจการงานที่ทำ ให้การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม และหมั่นฝึกจิตให้ว่าง ให้เกิดความสงบภายในจิตใจ จนกระทั่งได้ยินเสียงกระซิบจากภายใน หรือ Inner Voice ซึ่งมีประโยชน์มหาศาลในการรู้ และเข้าใจอริยสัจ 4 (หรือ ความจริงของชีวิต)

กล่าวโดยสรุป บุญกิริยาวัตถุ 3 ในการสร้างบุญโดยการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนานี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ เพื่อนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ ส่งผลให้มีชีวิตชีวา และมีจิตตื่นรู้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะนำหลักพุทธจิตวิทยา มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความงามสง่าที่แท้จริง เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวง

 

ผู้เขียน : อินทิรานี ขันทอง

อดีตเจ้าหน้าที่ UN สังกัดองค์การยูเนสโก สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ การส่งเสริมงานพุทธจิตวิทยา ในการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์และสังคม ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มูลนิธิพระพุทธสันติธรรม ซึ่งมีพันธกิจหลักในการสร้างธรรมสถาน และให้ปัญญาแก่ประชาชน

ติดต่อ : 02-714-9772-3, 084-467-5111

อีเมล : intiranee@santi-dharma.com

ภาพ : Photo by rawpixel on Unsplash


บทความน่าสนใจ

ความจริงของ “ความเจ็บ” โดย ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร

ทำงานด้วย จิตว่าง ทำอย่างไร พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ มีคำตอบ

7 วิธีสร้างความผ่อนคลายให้จิตใจด้วยการ เลิกกดดันตัวเอง

ประคอง จิต ถอนพิษรัก บทความดี ๆ จากพระราชญาณกวี

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.