ป๋าเต็ดรอดหวุดหวิด รับการรักษาทันหลังเกิดภาวะ “หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน”
กลายเป็นข่าวช็อกโลกออนไลน์ กรณีของ ” ป๋าเต็ด ” ที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลด่วนหลังเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่มาแบบปุบปับ หากตั้งสติ จับสังเกตอาการและนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน มีสิทธิ์เสียชีวิตได้เลย
เรามาดูเนื้อข่าวบางส่วนจาก thairath.com กันก่อนค่ะ
“ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” กล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา ตนมีอาการเหงื่อซึมทั้งที่กำลังเปิดตู้เย็นอยู่ และขณะที่กำลังเปิดเครื่องชงกาแฟ รู้สึกแน่นหน้าอกมาก มีอาการวิงเวียนรู้สึกบ้านหมุน เลยตัดสินใจโทร.หาเพื่อนที่เป็นหมอและเล่าอาการให้ฟัง บอกให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้ตรวจคลื่นหัวใจทันที ตนตะโกนเรียกภรรยาให้รีบขับรถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด บ้านตนอยู่แถวสุขาภิบาล 3 แต่พอขึ้นรถ ภรรยาบอกอาการตนแย่มาก หน้าซีดเลยตัดสินใจมาสมิติเวชที่สุขุมวิท เพราะมีประวัติรักษาที่นี่เป็นประจำ และ ตรงไปที่แผนกหัวใจ หลังจากติดเครื่องมือต่างๆ ตามตัวเพื่อเช็กหัวใจแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากเจ้าหน้าที่เข็นตนไปยังห้องผ่าตัดอย่างเร็วที่สุด คุณหมอไพฑูรย์บอกตนว่า กำลังจะเจาะเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาเพื่อฉีดสีดูความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถ้าเกิดมันแย่ก็ต้องทำบัลลูน พอกระบวนการนั้นเกิดขึ้น อาการแน่นหน้าอกก็หายไปอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นก็ออกมาพักที่ห้องไอซียู อาการดูปกติมาก ตนถึงได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังผ่านช่วงเฉียดตายเลย รู้สึกแค่ว่าในทุกขั้นตอนมันมีความโชคดีอยู่มาก
อ่านข่าวเต็มๆ ได้ ที่นี่
5 อาการผิดปกติจากโรคหัวใจขาดเลือด สังเกตได้ทัน ส่งรพ.ทัน เพิ่มโอกาสรอด
ข้อมูลจาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 464
ศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิ มหานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ อธิบายว่า หัวใจของคนเราทำงานตลอด 24 ชั่วโมง วันหนึ่งๆหัวใจเต้นประมาณ 1 แสนครั้ง มีเส้นเลือด 3 เส้นหลักที่นำเลือดมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยเพียง 3 มิลลิเมตร เมื่อเวลาผ่านไปจะมีไขมันมาเกาะตามผนังหลอดเลือดและเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีเซลล์ต่างๆและหินปูนสะสมในผนังหลอดเลือด ซึ่งพบได้2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 เมื่อคราบเหล่านี้พอกหนาขึ้นจนทำให้หลอดเลือดตีบมากกว่าร้อยละ 70 จะทำให้มีอาการเหนื่อย อึดอัด แน่น เจ็บหน้าอกเวลาออกแรง เมื่อพักแล้วจะมีอาการดีขึ้น
กลุ่มที่ 2 คราบไขมันและหินปูนเกาะผนังหลอดเลือด เกิดการแตกร้าวที่ผิวของผนังหลอดเลือด ทำให้เลือดซึ่งไหลเวียนอยู่ภายในหลอดเลือดเกาะตัวเป็นลิ่มเลือดกะทันหัน ถ้าร่างกายไม่สามารถละลายลิ่มเลือดได้ โดยเฉพาะในรายที่มีเลือดข้นกว่าปกติ เช่น คนที่สูบบุหรี่ เกล็ดเลือดจะจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดก้อนโต ทำให้หลอดเลือดอุดตันเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ จึงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ทั้งนี้สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ระบุถึงอาการที่พบบ่อยของผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดไว้ดังนี้
• เจ็บแน่นๆ อึดอัดบริเวณกลางอก เจ็บร้าวไปที่แขน จุกแน่นที่คอ เหงื่อออกมาก เป็นลม
• เกิดอาการขณะออกกำลังกาย ขึ้นบันได โกรธ และอาการดีขึ้นเมื่อหยุดกิจกรรมดังกล่าวนอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการที่พบบ่อยซึ่งเป็นสัญญาณความผิดปกติของหัวใจประเภทอื่นๆ
• หอบ เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว มักมีอาการขณะออกแรง เดิน วิ่ง อาจเกิดจากโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคแพนิก แต่ถ้าเหนื่อยแบบหมดแรง มือ- เท้าเย็น แต่มีอัตราการหายใจปกติ ไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ
• ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เต้นผิดจังหวะ เต้นไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดจากโรคหัวใจ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษโรคปอด
• ขาบวม การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากหัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาจึงไม่สามารถไหลกลับไปยังหัวใจได้สะดวก มีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดดำอุดตัน ขาดสารอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำโรคตับได้
• เป็นลม หมายถึง การหมดสติหรือเกือบหมดสติ อาจรู้สึกหน้ามืด มองเห็นภาพไม่ชัด อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ความผิดปกติของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ
นอกจากนี้ยังพบได้ในคนที่ขาดน้ำ เสียเลือด หรือคนที่ใช้ยาลดความดันโลหิต
สุดท้ายหากมีอาการเจ็บคล้ายเข็มแทง เจ็บที่จุดจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก มีอาการเจ็บขณะพัก อาการเกิดขึ้นนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน มีอาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือเมื่อหายใจเข้าลึกๆ เจ็บร้าวขึ้นศีรษะปลายมือ ปลายเท้า อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
แม้ไม่ใช่อาการของโรคหัวใจขาดเลือด แต่อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจ
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ข้าวกล้องแก้โรคหัวใจ + ปลากะพงย่าง เมนูอาหารสุขภาพชีวจิต
วิถีกินอยู่อย่างง่าย ประหยัด หยุดความเสี่ยง โรคหัวใจ
หยุด โรคอ้วน โรคหัวใจ ด้วยการปรับวิถีชีวิตตามศาสตร์จีน