ป้องกันโรคหัวใจ, แก้โรคหัวใจ, แพทย์แผนจีน, โรคหัวใจ, โรคอ้วน

หยุด โรคอ้วน โรคหัวใจ ด้วยการปรับวิถีชีวิตตามศาสตร์จีน

โรคอ้วน โรคหัวใจ พิชิตได้ด้วยการปรับวิถีชีวิต

อย่างที่รู้กันว่า โรคอ้วน โรคหัวใจ บางครั้งก็มาควบคู่กัน เมื่อเป็นแล้วยากจะรับมือ แถมยังเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆอีกด้วย ชีวจิต จึงนำศาสตร์แพทย์แผนจีนที่ช่วยดูแลหัวใจมาฝากผู้อ่านทุกท่าน เพื่อรักษาหัวใจดวงน้อยของเราให้แข็งแรงตลอดไป

โรคอ้วน,โรคหัวใจ

โรคหัวใจ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

โรคหัวใจหรือเรียกอีกชื่อว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคอันตรายซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากพฤติกรรม

สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) จึงแนะนำให้ประชาชนเริ่มต้นดูแลสุขภาพหัวใจตั้งแต่ที่บ้าน เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เน้นผักสดผลไม้ เตรียมอาหารกลางวันจากบ้านไปกินที่ทำงานเอง เน้นอาหารเพื่อสุขภาพ

ลดการกินอาหารสำเร็จรูปที่มีเกลือ ไขมัน และน้ำตาลปริมาณสูงเป็นส่วนผสม ไม่สูบบุหรี่ ไม่นั่งอยู่เฉยๆ หรือนั่งอยู่หน้าจอต่าง ๆ เกินวันละ 2 ชั่วโมง หมั่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้ง และตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้หัวใจ

แพทย์จีนอู๋ลี่ฉิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมานานกว่า 40 ปี แห่งคลินิกหัวเฉียวไทย- จีน แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า

สำหรับคนทั่วไปหรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจแล้วก็ตาม มีวิธีดูแลหัวใจให้แข็งแรงคือ ควรหลีกเลี่ยงความเหนื่อยล้าความเครียด และความวิตกกังวล

“นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดูแลคืออาหารการกิน การใช้ชีวิต การอยู่ในสภาพสังคมที่เหมาะสม และการดูแลจิตใจและอารมณ์ของเราให้เป็นปกติก็จะช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจได้

“อาหารที่ดีต่อหัวใจคือ อาหารรสจืดและรสขม เลี่ยงอาหารรสเค็ม หวานและมัน เช่น ของมัน ของทอด เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง ขนมเบเกอรี่ อาหารที่ผ่านการแปรรูป และควรกินผักผลไม้มากๆ เน้นกินเนื้อปลาที่ไม่ใส่สารเคมี

“กินในปริมาณน้อย แต่ต้องตรงเวลา อาจปรับการกินเป็นมื้อน้อยๆวันละ 4 – 5 มื้อ ซึ่งรวมแล้วได้ปริมาณตามความต้องการของร่างกาย การกินจนเกินอิ่มทำให้หัวใจรับภาระมากเกินไป อาหารเค็มจัดก็จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นภาระของหัวใจ”

แพทย์จีนอู๋ลี่ฉินตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยนิยมกินขนมหวานมาก ซึ่งจะทำให้เป็นโรคอ้วนและทำให้หัวใจรับภาระหนักเช่นกัน จึงแนะนำให้กินผักผลไม้มากขึ้น

“ควรกินผลไม้ระหว่างมื้อ ข้าวโอ๊ตก็เป็นอาหารที่ดีต่อหัวใจ ส่วนชาเขียวช่วยลดความหนืดของเลือด ทำให้หลอดเลือดไม่ตีบแคบและยังช่วยป้องกันมะเร็ง คนจีนในประเทศจีนนิยมกินเห็ดหูหนู เพราะมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคหัวใจ ส่วนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาได้วิจัยค้นพบว่า เห็ดหูหนูดีต่อคนไข้โรคหัวใจ แนะนำให้กินครั้งละน้อยๆแค่วันละ 5 – 10 กรัม”

ส่วนเรื่องกิจวัตรประจำวันที่ควรปฏิบัติ คุณหมออู๋ลี่ฉินกล่าวถึงการนอนที่ส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจว่า

“ให้เข้านอนเป็นเวลาทุกวันและไม่ควรนอนเกินสี่ทุ่มหรือ 22.00 น. การนอนดึกไม่ดีต่อหัวใจ เพราะหัวใจต้องทำงานหนัก ควรนอนอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง ควรงีบหลังกินอาหารกลางวันแล้วสักครึ่งชั่วโมง ถ้ากินอาหารเที่ยงตรงเวลาให้งีบหลังกินอาหารไปแล้วราวครึ่งชั่วโมง แต่ถ้ากินอาหารกลางวันช้าให้งีบก่อนกินและไม่ควรนอนเกินครึ่งชั่วโมงเพราะจะกระทบต่อการนอนในเวลากลางคืน

“การได้งีบหลับตอนกลางวัน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะช่วยให้ระดับความดันโลหิตคงที่ ช่วยให้อายุยืนขึ้น 3 – 4 ปี”

โรคหัวใจ

7 วิธีปรับชีวิตพิชิตโรคหัวใจ

นอกจากนี้คุณหมออู๋ลี่ฉินยังแนะนำวิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคหัวใจโดยทั่วๆไปไว้ดังนี้

1. ไม่ควรกินของเย็นหรือน้ำแข็งมากๆ เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว

2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะไม่ดีต่อหัวใจ ยกเว้นการดื่มไวน์แดงวันละไม่เกิน 50 มิลลิลิตร สัปดาห์ละไม่เกิน 5 วัน

3. ควรกินผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะผลไม้สีเหลือง เช่น แครอต ฟักทอง มะเขือเทศ เพราะดีต่อสุขภาพหัวใจ

4. กินปลาเป็นประจำจะมีอายุยืนเพราะหัวใจแข็งแรง

5. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ควรเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ โดยเฉพาะตอนตื่นนอน ไม่ควรรีบลุกขึ้นทันที เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลเสียต่อหัวใจ

6. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกและไม่ควรเบ่งถ่ายแรงๆ เพราะการออกแรงเบ่งถ่ายมากเกินไปทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

7. ผู้ป่วยโรคหัวใจควรพบแพทย์และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ดูแลเอาใจใส่หัวใจของเราเองวันละนิด ก็จะช่วยให้หัวใจทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งไปอีกนานแสนนาน ขอให้ทุกท่านมีหัวใจที่แข็งแรงนะคะ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ไม่อยากเป็น โรคหัวใจ ออกกำลังกายแบบนี้สิ

กฎเหล็ก ป้องกันโรคหัวใจ

โรคหัวใจ ออกกำลังกายได้หรือไม่

4 อาการ เสี่ยงโรคหัวใจ ภัยใกล้ตัวคนทำงาน

 

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.