ฟิตสุขภาพใจ รับภัย อากาศเปลี่ยนแปลง
อากาศเปลี่ยนแปลง “ลมหนาวมาเมื่อใด ใจฉันคงยิ่งเหงา คืนวันที่มันเหน็บหนาว ไม่รู้จะทนได้นานเท่าไร” เชื่อเหลือเกินว่าอุณหภูมิที่ลดลงในช่วงนี้คงทำให้หลายคนอดครวญเพลงนี้ไม่ได้ เพราะเนื้อหาเพลงสามารถบรรยายความรู้สึกเปลี่ยวเหงาภายในใจที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาวได้เป็นอย่างดี
ทว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน จิตใจคนเราอาจเปลี่ยนเป็นร้อนรน เพราะต้องทนกับอากาศแสนอบอ้าว ครั้นเข้าสู่ฤดูฝนก็กลับอ่อนไหวตามสภาพอากาศที่แปรปรวนของดินฟ้ายามหน้าฝน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอารมณ์อ่อนไหวตามสภาพอากาศดังข้างต้น ชีวจิต ขอนำเสนอความรู้เรื่องอารมณ์แปรปรวนจากสภาพอากาศ เพื่อเป็นแนวทางดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรงทุกฤดูกาลค่ะ
อารมณ์เปลี่ยนแปร เพราะอากาศแปรปรวน
มิใช่เพียงเรื่องราวที่พบเจอจะทำให้เราเกิดความรู้สึกและอารมณ์ได้เท่านั้น หากแต่สภาพอากาศก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญค่ะ แพทย์หญิงกมลเนตร วรรณเสวก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวว่า
“อารมณ์ในมนุษย์มีด้วยกันสองประเภท คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระทบจิตใจ เช่น ดีใจหรือเสียใจและอารมณ์พื้นฐาน หรือที่เรียกว่านิสัยใจคอ ซึ่งเกิดขึ้นและอยู่กับเรานาน แพทย์จะยึดอารมณ์อย่างหลังเป็นพื้นฐานในการวินิจฉัยอาการป่วยทางจิต
“สภาพอากาศถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และจิตใจของมนุษย์ ทั้งจากความชื้น อุณหภูมิและแสงแดด ดังจะเห็นได้จากผลวิจัยจากสถาบันหลายแห่งที่สรุปออกมาตรงกันว่า ช่วงเวลาที่อากาศแปรปรวน มีเมฆเยอะ หรือมีความชื้นสูง ผู้คนจะมีความเครียดเพิ่มขึ้น
“ขณะที่ช่วงเวลาอากาศดี ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไปและท้องฟ้าแจ่มใส ผู้คนจะอารมณ์ดี และจิตใจเบิกบาน ซึ่งระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ตามที่นักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาเคยศึกษาไว้ คือ 72 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 22.22 องศาเซลเซียส”
คุณหมอกมลเนตรกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องปกติที่สภาพอากาศในแต่ละฤดูย่อมส่งผลต่ออารมณ์ของคนเรา แต่หากอารมณ์เปลี่ยนไปในทางแย่ลงจนส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียดจากสภาพอากาศ