ผมต้องเป็นครู ครูเชาว์ – เชาวลิต สาดสมัย
ซีเคร็ตชวนมารู้จักกับชายร่างผอมแต่มีพลังล้นเหลือ ครูเชาว์ – เชาวลิต สาดสมัย ชายวัย 40 ปี ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อส่วนรวม ครูเชาว์บอกว่า “ผมเน้นกินน้อยแล้วทำงานเยอะ ๆ” (หัวเราะ) ครูเชาว์พาชมโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อชุมชนบ้านปูน บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ก่อนมานั่งสนทนากันใต้ร่มไม้ใหญ่อย่างเป็นกันเอง
ในหลวง รัชกาลที่ 9 คือแรงบันดาลใจ
ผมเป็นเด็กกำพร้าในบ้านราชาวดีมาก่อน ผมจะเห็นในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกค่ำเลย เพราะที่บ้านราชาวดีเปิดข่าวพระราชสำนักให้เราดูทุกวัน พระองค์เป็นบุคคลที่ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม ก้าวแรกของผมคือช่วยเหลือแม่ ๆ ในบ้านราชาวดีเลี้ยงน้อง ป้อนข้าว และอาบน้ำให้น้อง ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 10 ขวบ
การช่วยเหลือแม่ ๆ ทำให้ผมได้เติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย ได้รับความรักจากน้อง ๆ ถึงผมจะขาดความรักจากพ่อแม่ แต่ผมก็ได้สิ่งนี้มาทดแทนช่วยให้ผมอบอุ่น ตอนนั้นทางรัฐบาลอนุญาตให้ผู้พิการเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ผมจึงตั้งใจที่จะสร้างอนาคตให้ตนเอง จึงขออนุญาตนักสังคมสงเคราะห์บ้านราชาวดีเรียนในระดับประถมศึกษา และได้เรียนที่โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผมก็ไปสมัครเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปากเกร็ด ระหว่างที่ผมเรียนหนังสือก็ไม่ละทิ้งงานจิตอาสา ผมป้อนข้าว อาบน้ำให้น้อง ช่วยแม่ครัวป้อนไข่และบดตับทุกเช้าก่อนไปโรงเรียน
ตอนแรก ๆ เพื่อน ๆ ในห้องไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าผมเป็นผู้พิการทางสมอง แต่ผมก็ไม่สนใจเรื่องนี้ ถึงจะเรียนไม่เก่ง หัวไม่ดีสู้เพื่อนเขาไม่ได้ แต่ผมอาศัยความขยัน อดทน และมุ่งมั่น ทำการบ้านถูกบ้างไม่ถูกบ้าง แต่พยายามทำส่งคุณครูตลอด หวังให้ท่านเห็นถึงความตั้งใจของผม เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผมต้องเป็นครู
ผมอยากเป็นครูมาเป็นตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ไม่ใช่ครูที่สอนในโรงเรียน ผมอยากเป็นครูที่คอยมอบความสุขให้กับเด็กในชุมชนที่ขาดแคลน พอผมเรียนจบปริญญาตรี ผมเข้าทำงานที่บ้านราชาวดี แต่ก็ทำอยู่ไม่นาน ก็ออกตามหาความฝันที่อยากเป็นครู
ผมไปสมัครงานอยู่หลายที่ จนกระทั่งทางกรุงเทพฯเปิดรับสมัครครูอาสากรุงเทพมหานคร ผมขอเงินเดือนแค่ 4,500 บาท เขาถึงกลับถามว่า ทำไมขอเงินเดือนแค่นี้ ผมก็บอกว่า ขอให้ผมได้ทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองก่อน ถ้าผมทำได้ค่อยปรับเงินเดือนผมก็ได้ เขาเห็นความมุ่งมั่นของผมก็รับเข้าทำงานทันที
งานของผมเป็นงานที่ทำเพื่อเด็กและคนด้อยโอกาสในชุมชน เมื่อผมเข้ามาทำงานให้ชุมชน ผมก็ลงพื้นที่ เข้าหาเด็ก ๆ และผู้ด้อยโอกาส ผมนำความรู้ที่ได้จากการอบรมและศึกษาดูงานมาประยุกต์ใช้ เช่น ผมปรับพื้นที่ที่ดูอันตรายหน้าชุมชนให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น เอาต้นไม้มาปลูก ทาสีกำแพงใหม่ เน้นสีที่สว่าง กลางคืนจะได้ไม่น่ากลัวและอันตราย
ไม่ได้สำเร็จภายใน 1-2 วัน
ตอนแรกผมไม่ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนเลย แต่เมื่อสร้างผลงานให้เขาเห็นว่าผมมีความมุ่งมั่นเพื่อชุมชน รักเด็ก และลูกหลานของเขาจริง เขาก็เริ่มเปิดใจแล้วยอมรับผมในที่สุด สิ่งที่ผมทำไม่ว่าจะเก็บของเก่าขายเพื่อหารายได้นำมาพัฒนาชุมชน รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการร้าน 0 บาท ให้เอาขยะพลาสติกมาแลกก็จะได้ของกลับไป เช่น อยากได้นมหนึ่งกล่อง เอาขวดพลาสติกมาให้ผม 10 ขวด หรือโครงการสำหรับผู้ป่วยติดบ้าน ผมมีเตียงผู้ป่วย และรถเข็นให้ยืม กว่าโครงการของผมจะประสบความสำเร็จอย่างนี้ ผมใช้เวลาเก็บเกี่ยวความรู้จากการไปอบรมและดูงานมาร่วม 10 ปี ไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จภายใน 1-2 วัน
ความภาคภูมิใจของครูเชาว์
มีเด็กในชุมชนมาบอกกับผมว่า “ครูเชาว์หนูอยากเรียนหนังสือ” แต่ทางบ้านไม่มีเงินส่ง ผมมองแล้วเด็กคนนี้มีแววที่เขาจะเรียนได้ ผมก็ช่วยหาช่องทางส่งเขาเรียน ตอนนี้ผมช่วยเด็กเรียน กศน. และปริญญาตรีอยู่หลายคน ถ้าพวกเขาสำเร็จการศึกษา นั่นคือความภาคภูมิใจของผมแล้ว
ผมคิดว่าผมเติมเต็มความสุขให้คนอื่นดีกว่า เขาสุขเราก็สุขไปด้วย อย่างผมไปหาเด็ก ๆ ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน วัดดาวดึงส์ เด็ก ๆ วิ่งมาหา “ครูเชาว์มาแล้ว ๆ” แค่นี้ผมก็หายเหนื่อยและมีความสุขแล้ว
ถ้าผมทำงานที่มีตำแหน่งงานที่มากกว่านี้ ผมเชื่อว่าผมเองคงไม่มีความสุข เพราะความสุขของผมคือการได้ช่วยเหลือคนอื่น
เรื่อง : เชาวลิต สาดสมัย
เรียบเรียง : ชนินทร์ ผ่องสวัสดิ์
ภาพ : ฝ่ายภาพ อมรินทร์พริ้นติ้งฯ
บทความน่าสนใจ
ชีวิตนี้ไม่เสียชาติเกิด ครูลิลลี่ กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์
ครูต้นกล้วย – วรินทร์ อาจวิไล : สร้างชุมชนคลองเตยให้เป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่ดี
ครูภูมิ พ่อพิมพ์หนุ่มหัวใจครู ลูกศิษย์มาเรียนไม่ได้ อาสาแว้นไปรับถึงบ้าน ระยะทางไกลกว่า 10 กิโลเมตร
บนเส้นทางธรรมไม่มีทางลัด ครูหนุ่ย – งามจิต มุทะธากุล
ครูวัยเกษียณขออุทิศชีวิตนี้เพื่อการศึกษา สอนหนังสือฟรี หวังช่วยเหลืออนาคตของชาติ