รู้จัก+ป้องกันมะเร็ง รังไข่
รังไข่ เป็นอวัยวะในช่องท้องของผู้หญิง อยู่ในอุ้งเชิงกราน รังไข่มีขนาดประมาณ 2 x 2 x 3 เซนติเมตร มีสองข้าง โดยวางอยู่ในแอ่งข้างๆ มดลูก และมีเอ็นยึดติดกับด้านข้างของมดลูก รังไข่ตั้งอยู่บริเวณปลายท่อรังไข่ และบนตัวรังไข่มีปลายท่องรังไข่ส่วนปากแตร (Fimbriae) วางอยู่
รังไข่มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ
- ผลิตไข่ที่จะไปผสมกับเชื้ออสุจิ และกลายเป็นทารก
- สร้างฮอร์โมนเพศหญิง ส่งให้ผู้หญิงมีรูปร่างหน้าตาเป็นหญิงและมีประจำเดือน
มะเร็งรังไข่
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมะเร็งรังไข่
- แม้ใคร ๆ จะบอกว่า โชคดีที่เนื้องอกรังไข่ประมาณร้อยละ 80 เป็นเนื้องอกธรรมดา เป็นมะเร็งรังไข่เพียงร้อยละ 20 แต่ตัวเลขนี้ก็ยังสูงมาก หากพูดกลับกัน ถ้าคุณเป็นเนื้องอกรังไข่ คุณมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 20 ในขณะที่ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูก คุณมีโอกาสเป็นมะเร็งที่เนื้องอกมดลูก (Sarcoma) น้อยกว่า 1 ใน 1,000 ราย
- มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบมากเป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งมดลูก แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกา มะเร็งรังไข่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี โดยคิดเป็นร้อยละ 50 ของการตายจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
- มะเร็งรังไข่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 7 ของมะเร็งทุกชนิดในผู้หญิงทั่วโลก
- ตลอดชีวิตของผู้หญิง 1 ใน 70 คนมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยมะเร็งรังไข่รายใหม่ ประมาณ 20,000 รายต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตปีละ 15,000 ราย
- ในคนทั่วไป การคัดกรองมะเร็งรังไข่ยังไม่ได้ผลดี ไม่ว่าจะโดยการเจาะเลือดหรือตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ มิหนำซ้ำอาจเกิดผลบวกลวง ส่งผลให้ต้องผ่าตัดทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่ แต่อย่างไรก็ตามควรใช้วิธีนี้คัดกรองผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ เช่น มีประวัติทางพันธุกรรม
- แม้ปัจจุบันการแพทย์จะเจริญก้าวหน้า ประชาชนมีความรู้ท่ามกลางเทคโนโลยีอันทันสมัย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ (ร้อยละ 75-80) จะไปพบแพทย์เมื่อเป็นในระยะหลังแล้ว ส่งผลให้อัตรารอดชีวิต 5 ปี เฉลี่ยเพียงร้อยละ 25-30 ซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีโอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปี เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรังไขทั้งหมด