อาการนอนไม่หลับในผู้สูงวัย ใครว่าเรื่องเล็ก!

ภาวะการนอนไม่หลับของคนแก่ หรือปัญหาที่ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ถือเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความรำคาญในผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติแล้วผู้สูงอายุที่แม้จะใช้พลังงานแต่ละวันไม่มากเท่าใดนัก แต่ก็มีระยะเวลาการใช้ชีวิตมานาน ย่อมมีปัญหาสุขภาพ และการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลง ทำให้ผู้สูงอายุบางคนมีอาการนอนไม่ค่อยหลับในช่วงเวลากลางคืน เกิดอาการนอนไม่พอ ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เราควรที่จะหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้สูงอายุแต่ละท่านนอนไม่หลับ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุดมากที่สุด

เพราะหากมีอาการนอนไม่หลับนานวันเข้าจะทำให้กลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง และเมื่อเป็นแล้วอาจต้องใช้ยารักษาไปตลอดชีวิต ทางที่ดีควรรีบรักษาและหาวิธีการดูแลอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับของผู้สูงอายุที่เรารักจะดีที่สุดค่ะ

ผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ คนใกล้ชิดห้ามปล่อยปละละเลย

อาการนอนไม่หลับเป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากสมองทำงานไม่เป็นปกติ เช่นเดียวกับอาการหมดสติหรือหลับไม่ยอมตื่น แต่อย่างหลังจะน่ากลัวมากกว่า โดยผู้สูงอายุที่มีอาการนอนไม่หลับ ส่วนใหญ่ญาติหรือผู้ที่ดูแลมักจะปล่อยปละละเลย หรืออาจแก้ปัญหาแบบผิดๆ ด้วยการไปหาซื้อยานอนหลับมาให้รับประทาน ซึ่งการทำแบบนั้นถือเป็นดาบสองคมที่อาจส่งผลเสียต่อตัวผู้สูงอายุได้ และใครจะรู้บ้างว่าการนอนไม่หลับนั้นได้สร้างความทุกข์ทรมานให้ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปเป็นอย่างมาก

ยิ่งกว่านั้นอาการนอนไม่หลับอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆ ทางสมอง ที่สมควรได้รับการตรวจพบและแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดนี้แสดงถึงขนาดของปัญหานอนไม่หลับและความรุนแรงของอาการที่ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาสนใจอย่างจริงจังค่ะ

สำหรับสาเหตุของการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ แบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1.เกิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความชรา

โดยปกติเมื่อมนุษย์เริ่มเข้าสู่วัยชรา สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมเหมือนเช่นอวัยวะอื่น โดยลักษณะการนอนของผู้สูงอายุจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ระยะเวลาของการนอนตอนกลางคืนจะลดลง
  • ใช้เวลานานขึ้นหลังจากเข้านอนเพื่อที่จะหลับ
  • ช่วงระยะที่หลับแบบตื้น (ตอนที่กำลังเคลิ้มแต่ยังไม่หลับสนิท ) จะยาวขึ้น ขณะที่ช่วงระยะที่หลับสนิทจริงๆ จะลดลง
  • จะมีการตื่นขึ้นบ่อยๆ กลางดึก

ดังนั้นผู้สูงอายุแม้จะมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ สมวัย ก็อาจรู้สึกว่าตัวเองนอนน้อยลง หรือคิดไปว่านอนไม่หลับ แต่มีข้อที่น่าสังเกตคือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้จะดูเหมือนว่า “ นอนไม่หลับ ” แต่ช่วงกลางวันก็มักจะไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแต่อย่างใด

2.เกิดเนื่องจากมีโรคที่เป็นพยาธิสภาพซ่อนอยู่ ได้แก่

  • จากยาที่ผู้สูงอายุกำลังใช้อยู่ 

ยาบางประเภทโดยเฉพาะยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยๆ เช่น การใช้ยานอนหลับนานๆ ยารักษาอาการสั่น เคลื่อนไหวช้าในโรค Pakinsonism หรือบางครั้งอาจเป็นส่วนผสมของยารักษาโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางสมองเช่น alcohol ในพวกยาน้ำแก้ไอ หรือ caffeine ที่ผสมในยารักษาโรคหวัด เป็นต้น เมื่อผู้สูงอายุหยุดการใช้ยาเหล่านี้ อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปเอง

  • โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ

ผู้สูงอายุที่มีโรคใดก็ตามที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะบ่อยๆ ตอนกลางคืน ก็จะมีผลต่อการนอนด้วย เช่น โรคเบาหวาน จะทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณปัสสาวะมาก โรคต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุชาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือแม้แต่การใช้ยาขับปัสสาวะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือภาวะหัวใจวาย ก็ทำให้มีปัสสาวะตอนกลางคืนได้บ่อย

  • ความเจ็บปวด

ความเจ็บปวดทางกายไม่ว่าจากอวัยวะใด จะมีผลทางอ้อมต่อการนอนหลับในผู้สูงอายุเสมอ ที่พบบ่อยมักเกิดจาก โรคของกระดูกและข้อเสื่อม ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรังได้ เช่น ข้อเข้าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม เป็นต้น นอกจากนั้นอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากอวัยวะภายในช่องท้องเช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาการไม่ย่อย เป็นต้น

  • โรคสมองเสื่อมและภาวะจิตผิดปกติ

ผู้สูงอายุที่เริ่มมีสมองเสื่อมในระยะแรกจะมีอาการนอนไม่หลับได้ เพิ่มจากอาการขี้หลงขี้ลืม หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมักเกิดจากการอุดตันของเส้นโลหิตในสมองที่เกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง อาจจะมีหรือไม่มีอาการของอัมพาตร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้นภาวะซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุของการนอนยากในผู้สูงอายุได้ โดยผู้ป่วยมักจะมีลักษณะที่เข้านอนได้ตามปกติ แต่ตื่นขึ้นกลางดึกเช่น ตี 3-4 แล้วไม่สามารถนอนต่อได้อีก

  • สาเหตุอื่นๆ

ผู้สูงอายุบางรายเวลานอนหลับสนิท สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการหายใจจะทำงานลดลง ผู้ป่วยอาจหยุดหายใจได้ชั่วขณะ จากนั้นสมองจะถูกกระตุ้นอีกครั้งอย่างรุนแรงเพื่อให้หายใจ ขณะนั้นผู้ป่วยอาจตื่นขึ้นมาได้ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่องได้ หรือบางรายเวลาหลับสนิท ลิ้นในช่องปากจะตกย้อนไปข้างหลังและอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้นได้ และถ้าอุดกั้นมากขึ้นถึงกับทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าหลอดลมและปอด สมองก็จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง เพื่อให้ร่างกายพยายามหายใจก็ทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นได้อีกเช่นกัน

จากสาเหตุของการนอนหลับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติการเจ็บไข้ได้ป่วย ประวัติการนอน และตรวจร่างกายจากแพทย์โดยละเอียดเพื่อสืบสาวถึงสาเหตุที่แท้จริงของการนอนไม่หลับในผู้ป่วยแต่ละราย

ในขั้นต้น ผู้สูงอายุที่เริ่มประสบปัญหาการนอนไม่หลับ มีข้อปฏิบัติบางประการที่อาจช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับได้ ดังนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน หรือจำกัดเวลาการนอนกลางวัน ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมงในช่วงบ่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ โดยเฉพาะเวลาเย็น เป็นต้น
  • ไม่ควรดื่มน้ำในช่วงเวลา 4-5 ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเวลาเข้านอน ถ้ามีปัญหาปัสสาวะเวลากลางคืนบ่อยๆ
  • เพิ่มกิจกรรมหรือการออกกำลังกายในช่วงเวลากลางวันให้มากขึ้น

  • ถ้าผู้สูงอายุไม่มีอาการง่วงนอนเมื่อถึงเวลาเข้านอน และไม่สามารถนอนหลับได้ ก็ควรลุกขึ้นมาหาอะไรทำดีกว่าที่จะนอนกลิ้งไปมาบนเตียง
  • กำหนดเวลาอาหารมื้อเย็นให้คงที่สม่ำเสมอและควรจะเป็นอาหารที่มี protein สูงเมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
  • พยายามจัดสิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนให้เงียบและมืดพอสมควร ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ไม่มีสิ่งรบกวน อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ฝึกการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ หรืออ่านหนังสือ ฟังเพลง ก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุจะมีช่วงเวลานอนที่สั้นลงกว่าวัยอื่นๆ ทำให้ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ เพราะร่างกายจะผลิตสารที่ช่วยให้นอนหลับน้อยลง ถ้าไม่มีการดูแลปล่อยเอาไว้นานๆ อาจจะทำให้ระบบการทำงานในร่างกายผิดปกติ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่าได้ค่ะ ดังนั้น ตัวผู้สูงอายุเอง หรือผู้ดูแล ควรต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก เพราะเรื่องนอนสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เลยก็ว่าได้

ข้อมูลจาก: เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างไร ให้รับมือได้กับอากาศหนาวๆ?

รู้เท่าทัน “อัลไซเมอร์” เตรียตัว และป้องกันกันไว้ ก่อนจะสายเกินแก้

ภาวะสำลักอาหารในผู้สูงอายุ คืออีกสิ่งที่คนใกล้ชิดต้องใส่ใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.