เป็นมะเร็ง

ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 3

แฟนๆ ที่กำลังรอบทสรุปของการรักษามะเร็ง ของ ปอมอ หรือ คุณประมวล โกมารทัต ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ การเป็นมะเร็ง และการรักษา ตั้งแต่วันแรกที่พบ การผ่าตัด มาสู่บทสรุปในตอนสุดท้าย เมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการถัดไป นั้นคีอ กระบวนการคีโม เรื่องราวจะเป็นอย่างไร การดูแลตัวเองแบบไหน เพื่อให้ได้ผล เราไปตามอ่านกันต่อเลยค่ะ

ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ)  ตอนที่ 3

คีโม

หนึ่งชื่อสองพยางค์เท่านั้น แต่ทำเอาผู้ป่วยมะเร็งแทบทุกคนได้ยินแล้วถึงผวา หมดอารมณ์สุนทรีย์ไปเลย ด้วยคำเล่าขานเกี่ยวกับฤทธิ์เดชของเจ้านี่  

ทำไมต้องทำคีโม

หลักการรักษามะเร็งของแพทย์ปัจจุบันที่จะนำมาใช้รักษาร่วม ก่อนหรือหลังการผ่าตัด เพื่อกำจัดมะเร็งให้สิ้นซาก คือ คีโม หรือฉายแสง หรือยามุ่งเป้า (ฝรั่งเรียก Chemotherapy , Radiotherapy และ Targeted therapy ตามลำดับ)

แพทย์จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความเหมาะสมและด้วยความยินยอมของผู้ป่วย

สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น หลังการผ่าตัดแล้ว แทบทุกรายมักจะมาจบที่ คีโม

คีโม หรือการใช้ยาเคมีบำบัด จะออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วและต่อเนื่อง ให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้และตายไปในที่สุด ขณะเดียวกันยาเคมีนี้ก็จะทำลายเซลล์ดีๆที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งไปด้วย ผู้รับคีโมจะได้รับผลกระทบในทางไม่สู้ดีต่อร่างกาย บางคนถึงใช้คำว่าต้องทนทุกข์ทรมานจากคีโม (นี่เองที่ทำให้ผู้ป่วยกลัวกันนักกลัวกันหนา)

ถามว่า ทำคีโมแล้ว มะเร็งจะหายไปหมดเสร็จเด็ดขาด ไม่กลับมาอีก และผู้ป่วยไม่ตาย(ในเวลาอันควร)ทุกรายไหม

คำตอบคือ ไม่ 100 %

ถามว่า ถ้าแพทย์เลือกวิธีทำคีโม แล้วผู้ป่วยจะเลือกไม่ทำคีโมล่ะ ได้ไหม

ก็ลองดูซิ ชีวิตของเรา (เนอะ)

ค่าซีอีเอสูงไม่มากก็เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ถึงวันนัดพบอาจารย์หมอ ต้องเจาะเลือดก่อน เพื่อดูค่าของสารบ่งชี้มะเร็ง สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เรียกค่า CEA  (Carcinoembryonic  antigen) หลายคนเรียกง่ายๆ ว่า ค่ามะเร็ง แต่ความมุ่งหมายจริงๆ คือ เพื่อติดตามดูผลการรักษา

คนมักเข้าใจผิดว่า ค่าซีอีเอ บอกว่ามีมะเร็งอยู่มากน้อยเพียงใด แล้วทึกทักเอาว่าเป็นหรือยังเป็นมะเร็งอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่ถูกต้องนัก ค่าซีอีเอ ไม่มีความหมายมากมายถึงขนาดนั้น การมีค่าซีอีเอต่ำ ไม่แปลว่ามีมะเร็งน้อยหรือหายจากมะเร็ง คนเป็นมะเร็งถึงขั้นต้องผ่าตัด ไม่จำเป็นต้องมีค่าซีอีเอสูงมากๆ เช่นรายนี้ เมื่อตอนคุณหมอที่ศูนย์การแพทย์ตรวจพบมะเร็งนั้น ค่าซีอีเออยู่ที่ 5.5 แล้วตอนที่ผ่าตัด ค่าซีอีเอ 4.77 เท่านั้น การจะชี้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หมอจะดูหลายอย่างประกอบกัน แต่นี แค่ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ก็เห็นก้อนมะเร็งชัดเจนแล้ว (จึงเมินค่าซีอีเอได้เลย)

ที่โรงพยาบาลนี้กำหนดเอาค่าซีอีเอ 5 เป็นตัวกลาง ถ้าต่ำกว่าแปลว่าการรักษาได้ผล ถ้าสูงกว่า แสดงว่า น่าจะมีปัญหาอะไรบางอย่าง (ในการรักษา)  

วันพบอาจารย์หมอ เพื่อประเมินผลหลังผ่าตัด ค่าซีอีเอ 2.9  แสดงว่าการผ่าตัดรักษาอยู่ในขั้นดีมาก  

อาจารย์หมอหน้าเปื้อนยิ้มอีกครั้ง  เพราะผลการผ่าตัด “เป็นที่น่าพอใจของแพทย์” ฝ่ายคนไข้น่ะไม่ใช่แค่ “น่าพอใจ” แต่หัวใจสิ พองโตขึ้นมาทันทีเลย

“ขั้นตอนต่อไปคือ จะทำคีโมกันนะ” เห็นคนไข้ทำท่าชะงักเมื่อได้ยินคำว่า คีโม    

“เคมีบำบัดน่ะ” อาจารย์หมอจ้องหน้า

“ไม่ต้องกลัวหรอก อาจารย์หมอคีโมท่านเก่งและชำนาญมาก อย่ากลัวไปเลย เดี๋ยวออกไปนี่ ไปจัดการนัดหมายเลย ให้เขาจัดคิว นัดวันพบอาจารย์หมอคีโม” ท่านรีบสรุป

“เอาละ จากนี้อีก 3 เดือนเราค่อยพบกัน นะ”

ประสบการณ์หน้าห้องหมอคีโม

วันไปพบอาจารย์หมอคีโม มีคุณภรรยา(คนเก่ง) กับหลานสาว(เจ้าปัญญา) และลูกชายคนเล็ก (ผู้มากประสบการณ์) ประกบไปเป็นกำลังใจด้วย  ที่หน้าห้องหมอ มีคนไข้รอคิวกันอยู่ 6-7 คน ทักทายพวกเขา จึงได้รู้ว่า ทุกคนผ่านคีโมมาแล้ว (มีแต่เราที่จะมาเป็นน้องใหม่)

ฟังเล่าจากพวกเขาถึงบรรยากาศตอนรับคีโมของแต่ละคนแล้ว ชวนให้น่าหวาดเสียวอย่างบอกไม่ถูก เพราะแต่ละคำเล่า ออกมาทางลบทั้งหมด คนหนึ่งเปิดใจว่า เคยคิดจะเลิกกลางคันแล้ว แต่ที่ต้องทนทำต่อก็เพราะถูกญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดฝ่ายลูก  ขอร้องแกมบังคับ

หลายคนทำคีโมกันมานานปีแล้ว จนคิดว่าน่าจะหายขาด แต่กลับพบมะเร็งหวนคืนมาอีก บางคนมะเร็งเปลี่ยนที่ไปจากอวัยวะเดิม บางคนต้องผ่าตัดอีก และต้องกลับมาทนทรมานกับคีโมอีก บางคนผ่านมาตั้ง 5 – 6 ปี นึกว่าหายแน่แล้ว แต่มะเร็งก็ยังกลับมา(ที่เก่า)

คนหนึ่งเล่าว่า คุณหมอบอกหายแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน ตอนนี้มีตัวใหม่โผล่หน้ามาเยี่ยมๆ มองๆ โชคดีที่รู้ตัวเร็ว รีบมาหาหมอ จึงไม่ถึงต้องผ่าตัด ที่มาก็เพื่อให้คุณหมอดูว่าจะต้องทำคีโมแทนหรือไม่

เป็นมะเร็ง

นั่นแปลว่า แม้จะผ่าตัดแล้ว ทำคีโมแล้ว มะเร็งก็ยังไม่หมดเสร็จเด็ดขาด อาจกลับมา หรืออาจลามไปอวัยวะอื่น หรือเกิดตัวใหม่ขึ้น

ส่วนกระบวนการทำคีโม ก็คือทำเป็นชุด บางคน 6 ชุด บางคนถึง 8 ชุด ชุดหนึ่งๆ ใช้เวลา 1 – 5 วัน แต่ละชุด ห่างกัน 3 หรือ 4 สัปดาห์

ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นขณะรับยาคีโมดูจะเหมือนๆ กันเกือบทุกคน โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้  อ่อนเพลียหมดแรง จนลุกไม่ขึ้น เดินไม่ไหว คนหนึ่งเล่าว่า เคยเกิดอาการวูบ ขณะนั่งอยู่ดีๆ ล้มหน้าคว่ำลงไปเฉยเลย โชคดีเป็นขณะอยู่บ้าน  

เกือบทุกคนจะเจ็บในปากมากจนกินไม่ได้ เพราะเยื่อบุในปากอักเสบ บางคนหนังฝ่ามือลอก บางคนเล็บเปลี่ยนเป็นสีดำ บางคนถึงเล็บหลุด (แล้วงอกใหม่หลังจบคีโม) บางคนผมร่วงหมดแล้วจึงขึ้นใหม่ (ก็ไม่เหมือนเดิม) ผมของบางคนร่วงแล้วร่วงเลย เห็นคนหนึ่งผมยาวสลวย ถามเธอว่า คือเส้นผมที่ขึ้นใหม่หรือ ดูดีเชียว ตอบว่า วิก (ไม่เสียมารยาทขอให้ถอดดูหรอก)

ฟังแล้วล้วนแต่ออกมาในทางลบต่อ ‘คีโม’ (ผู้โหดร้ายหรือน่าสงสารดีนะ) ยิ่งฟังยิ่งหวาดเสียวมากขึ้น

ลูกชาย (ผู้มากประสบการณ์) เตือนสติว่า อย่าไปถามพวกเขามากนักเลย ฟังแล้วทำให้กลัวและไม่สบายใจเปล่าๆ

โดยส่วนตัว ยังคิดว่าการรักษาร่วมหลังการผ่าตัดด้วยวิธีคีโมนี้ น่าจะมีผลดีอยู่บ้างหรอก หรือดีเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป ถ้าไม่ดีจริง ไม่มีคนหายจากมะเร็งได้จริง ก็คงเลิกทำกันไปแล้ว ที่เล่ากันมานี่ ก็เพียงแค่คำระบายจากคนไข้ส่วนหนึ่งที่เผอิญได้รับผลกระทบไม่ดีมาเท่านั้นเอง (เนอะ)

คีโมเป็นการรักษาร่วมหลังการผ่าตัด

ถึงคิวพบอาจารย์หมอคีโมเป็นครั้งแรก พบว่าท่านอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส น่านับถือ ท่านถามไถ่อาการทั่วไป (ซ้ำติดตลก) เช่น รู้สึกเบาตัวดีไหม ผ่าตัดครั้งนี้ได้ลดน้ำหนักตัวลงตั้งสิบกิโลกรัม

เรื่องน้ำหนักตัวนี้ ปกติเคยถึง 95 แล้วเริ่มลดลงเองในช่วงที่พบภาวะโลหิตจาง แต่ยังไม่เฉลียวใจว่ามะเร็งอาจเริ่มก่อตัวขึ้น แอบกินเลือดที่ลำไส้ใหญ่แล้ว ก่อนวันผ่าตัดลดเหลือ 80 และหลังผ่าตัดเหลือ 70 เท่านั้น

อาจารย์หมอคีโมเสนอทางเลือกให้ ว่าจะมานอนรับยาคีโม (ชนิดน้ำ) ที่โรงพยาบาลตามนัด หรือจะเลือกวิธีรับยา (ชนิด เม็ด)ไปกินที่บ้าน แต่วิธีหลังนี่ต้องมีค่าใช้จ่าย (ในเวลานั้น ค่ายาคีโม 12 ชุด ชุดละประมาณ 7,000 บาท รวมอื่นๆ แล้วไม่เกินหนึ่งแสน) ส่วนอย่างแรก (มาทำและนอนที่โรงพยาบาล) สิทธิบัตรทองครอบคลุมหมด ไม่ต้องจ่ายเลย !      

หรือถ้าไม่ต้องการทำคีโม ก็ไม่บังคับกัน เพราะเป็นสิทธิของคนไข้  

เพียงแต่ในความคิดของท่านเห็นว่า น่าจะทำ เพราะคีโมเป็นการรักษาร่วมหลังผ่าตัด เพื่อกำจัดมะเร็งที่หลงเหลือให้หมดไป ส่วนใหญ่จริง อาจมีผลข้างเคียงบ้าง บางคนรุนแรงจนกลัว แต่จริงๆ แล้วไม่น่ากลัวเลย มีอาการก็แค่ชั่วคราว

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคนไข้และญาติจะตัดสินใจ ให้เวลาคิดหนึ่งสัปดาห์ว่าจะเอาอย่างไร แล้วมาบอก ถ้าตัดสินใจไม่ทำคีโมแน่ จะไม่ต้องนัดวันมาอีก (ก็ได้)

อาจารย์หมอคีโมท่านน่ารักมาก เสนอทั้งทางเลือกและคำแนะนำที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

ขอบพระคุณแล้วลากลับ …

วันนั้น ไม่ได้คิดเลยว่า จะเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของการพบกับอาจารย์หมอคีโม (เป็นการพบเพื่อจากโดยแท้)

เมื่อกลับถึงบ้าน เปิดประชุมผู้มีส่วนร่วมทั้งสี่และลูกหลานโตๆ ปรึกษาและฟังเหตุผลกับประสบการณ์ของแต่ละคน  

ทุกความเห็นตรงกันว่า คีโมไม่น่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะใช้กับคนไข้มะเร็งได้ทุกคน ในการกำจัดและป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมาอีก ซ้ำจะต้องทนทรมานจากผลกระทบของคีโม (โดยเฉพาะลูกชายคนเล็กน่ะ ยืนยันไม่ให้ทำเด็ดขาด) ที่สุด มติจึงออกมาเป็นเอกฉันท์

“ไม่ทำคีโม”

การกินผักรักษามะเร็งยังไม่มีผลวิจัยหรืองานวิจัยรองรับ

เมื่อตัดสินใจไม่ทำคีโม ก็ต้องมีวิธีรักษาที่ดีที่สุดแทน เพื่อกำจัดมะเร็งให้จบเสร็จเด็ดขาด และป้องกันไม่ให้หวนกลับมา(ที่เก่า) หรือลามไปยังอวัยวะอื่น หรือมีเชื้อตัวใหม่เข้ามาจนเกิดมะเร็งอีก

วันรุ่งขึ้น “งานใหญ่” จึงเริ่มทันที ไม่ใช่งานฉลองความสำเร็จในการผ่าตัดเอามะเร็งออกไปจากร่างกาย แต่เป็นงานที่ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อชีวิตดำรงอยู่อย่างเป็นสุขโดยปราศจากมะเร็ง จนตลอดอายุขัย จึงเป็นงานใหญ่ งานสำคัญที่ต้องทำทันที

“งานเพื่อชีวิต”

ครบสามเดือนตามนัด  ต้องไปพบอาจารย์หมอ  

“เป็นอย่างไรบ้าง ทำคีโมกี่ชุดแล้ว” ถามอย่างอารมณ์ดี

“ต้องกราบขออภัยอาจารย์หมออย่างยิ่งค่ะ พวกเราตัดสินใจไม่ทำคีโม”

คุณภรรยา (คนเก่ง) เป็นตัวแทนแจ้งและชี้แจงเรื่องการตัดสินใจไม่รับคีโมว่า ทั้งที่ได้ศึกษาและจากประสบการณ์วันไปพบอาจารย์หมอคีโม พบว่าคนไข้หลายคนที่เคยทำคีโมแล้ว มะเร็งก็ยังหวนกลับมา บางรายมีมะเร็งเกิดใหม่ จึงคิดว่าคีโมไม่น่าจะเป็นวิธีเดียวที่กำจัดมะเร็งให้หมดสิ้น ทั้งยังไม่สามารถป้องกันมะเร็งตัวใหม่ได้ด้วย  จึงจะใช้วิธีอื่น ซึ่งเชื่อว่ามะเร็งตัวเดิมจะไม่กลับคืนมาอีก และไม่มีตัวใหม่เกิดขึ้นได้   

“ท่านอาจารย์หมอเคยบอกว่า ตัดมะเร็งออกไปหมดแล้ว รวมทั้งยังตัดเผื่อให้ เลยออกไปจากที่เป็นด้วย จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีมะเร็งเหลืออยู่แล้ว หากจะเกิดเป็นอีกก็คงจากตัวใหม่ จึงคิดไปถึงการป้องกันด้วย”

ขณะพูดนั้น ไม่มีใครสักคนกล้าสบตาอาจารย์หมอที่มองมายังพวกเรา

“ก็จริงอยู่ที่ว่า ตัดเผื่อออกไปให้แล้ว แต่ที่ตัดไปนั่น เป็นเพียงส่วนที่มองเห็นด้วยตาเท่านั้น เซลล์มะเร็งนี่มันเล็กมาก เล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นหรอก แล้วส่วนที่มองไม่เห็น มันอาจจะยังหลงเหลืออยู่ก็ได้ ไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ การทำคีโมเป็นวิธีกำจัดเซลล์มะเร็งที่มองไม่เห็นและที่ยังหลงเหลือเล็ดรอดสายตาให้หมดสิ้นไป เราไม่ควรประมาท”

อาจารย์หมออธิบายอย่างง่ายๆ ไม่ได้แสดงอาการว่าไม่พอใจหรืออะไรเลย

“แล้วจะใช้วิธีการอย่างไร”

“เริ่มแล้วค่ะ คือปรับการบริโภค เลิกกินเนื้อสัตว์ เลิกกินน้ำตาล เลิกกินอาหารแปรรูป และกินแต่ผักและผลไม้ และอาหารที่ให้สารอาหารทดแทนเนื้อสัตว์ได้ค่ะ”

“ยังไม่มีผลวิจัย หรืองานวิจัยใด รับรองว่า กินผักรักษามะเร็งได้” ท่านพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ช้าๆ

“ก็ตามใจ เอาอย่างนั้นก็ได้”

อาจารย์หมอไม่ได้ยอมแพ้ แม้จะไม่สนับสนุน แต่ก็ไม่เอ่ยคำค้าน

“ส่วนเรื่องของเรา”

อาจารย์หมอหันมาพูดถึงแผนการดูแลหลังผ่าตัด

“ช่วงต้นๆ นี้ จะพบกันเพื่อตามดูผลทุก 3 เดือน ตลอดไป 5 ปีก่อนนะ”

นี่เป็นมาตรฐานการติดตามผลการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ทั่วไปสำหรับผู้ป่วยเกือบทุกคน ในระยะห้าปีแรกหลังผ่าตัด

“อีกสามเดือนพบกัน ขอให้โชคดี”  

สูตร “อาหารเพื่อชีวิต” เมื่อไม่คีโม

“งานเพื่อชีวิต” มีคุณภรรยา (คนเก่ง) เป็นผู้บัญชาการ วางแผนและดำเนินการทุกอย่าง รวมทั้งงานปรุงอาหาร ส่วนคนไข้มีหน้าที่ปฏิบัติโดยเคร่งครัด (คือ ต้องกิน) อย่างเดียวเท่านั้น

ผู้บัญชาการของเรา ศึกษาและมีประสบการณ์โภชนาการทั้งแบบชีวจิต แมคโครไบโอติกส์ และมังสวิรัติ นำมาประสมประสานกัน เป็น “สูตรอาหารเพื่อชีวิต” โดยวางหลักการสำคัญคือ แม้เบื้องต้นนี้จะงดเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่ต้องยึดหลักตามแผนโภชนาการว่า ร่างกายจะต้องได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ คือ  โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน ไขมัน เกลือแร่และแร่ธาตุ  

เป็นมะเร็ง

เนื้อสัตว์ที่งดนั้น หมายรวมถึงนมเนยและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย สารอาหารหลักทั้งห้าที่มาทดแทนจึงต้องบริโภคให้เพียงพอ (แต่ไม่มากจนเกินไป) ดังนี้

โปรตีน จากถั่วชนิดต่างๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่ว (เต้าหู้ เตมเป้) ไข่ และเห็ด

คาร์โบไฮเดรต จากข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี

เกลือแร่และแร่ธาตุ จากผักสดสะอาด ผักปรุงสุก เห็ด และผลไม้

ไขมัน ใช้แต่น้ำมันมะกอกและน้ำมันงา ปริมาณน้อยเมื่อจำเป็น

วิตามิน จากผักและผลไม้สดทุกชนิด ที่รสไม่หวานจัด ยกเว้นกล้วยน้ำว้าสุก ที่แม้จะมีน้ำตาล แต่ก็มีสารอาหารที่ร่างกายต้องการอยู่มาก ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินเอ บี 1 และบี 2

นอกจากอาหารหลักที่สำคัญและกินทุกมื้ออย่าง ข้าว ถั่ว เห็ด และผักผลไม้สดและปรุงสุก ยังมีที่สำคัญมากคือ ไข่ไก่

กินไข่ไก่มื้อละ 2 ฟอง (รวมวันละ 6 ฟอง) เพื่อให้ได้สารอาหารที่มีอยู่ในไข่ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไข่ขาวเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีและมีกรดอะมีโนที่ร่างกายต้องการ  ไข่แดงมีทั้งวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 บี 6 บี 12 แล้วยังมีแคลเซียม ไขมัน และอื่นๆ อีก จะใส่ไข่ในข้าวต้มที่มีผักต้มและซุปผัก เป็นต้น  ถ้าทำไข่ดาว จะทอดด้วยน้ำ

คุณภรรยา (คนเก่ง) ลงทุนสั่งผักผลไม้อินทรีย์ ไข่อินทรีย์ เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารมาโดยตลอด

สิ่งที่ใช้ปรุงแต่งและประกอบอาหาร ใช้เครื่องปรุงที่ไม่ผ่านกระบวนการใดๆ มีเพียง ดอกเกลือ หรือซีอิ๊วชนิดปลอดสาร ใส่พอมีรสปะแล่มๆ ใช้มิโซะ เครื่องปรุงรสของญี่ปุ่น ที่ใช้ถั่วและข้าวบาร์เลย์หมัก ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ถ้ารสเปรี้ยวใช้มะนาวสด เครื่องเทศจะใช้ พริกไทย พริกสด ตะไคร้ ใบมะกรูด วาซาบิ โรสแมรี่ ออริกาโน เป็นต้น

นอกจากอาหารตาม “สูตร” นี้แล้ว ไม่มีอาหารเสริมหรือยาบำรุงใดๆ

สุขภาพจากอาหารและการแพทย์ในสามปีแรก

ในช่วงสามปีแรก แม้จะเน้นหนักและเคร่งครัดเรื่องอาหาร แต่ไม่พบว่ากระทบต่อสุขภาพของคนไข้ ทั้งร่างกายและจิตใจ พบว่าอยู่ในภาวะปกติดี ไม่อ่อนเพลีย ไม่บ่งชี้ว่าขาดสารอาหาร รูปลักษณ์ไม่ดูว่าร่างกายผ่ายผอมลง ผมไม่ร่วง ผิวไม่คล้ำลง น้ำหนักตัวคงที่ (ตื่นเช้า 68 – 69 กิโลกรัม ก่อนนอน 70 -71 ตลอดหลังผ่าตัด) สมบูรณ์แข็งแรง ใช้กำลังได้สมวัยดี เดินได้เองดีเช่นคนปกติ (ไม่ต้องใช้ไม้เท้า) ใช้เครื่องสูบน้ำเอาน้ำในคลองหลังบ้านมารดน้ำต้นไม้ในสวนหลังบ้านได้เช่นเคยทำมาก่อน (จนวันนี้) อารมณ์สดชื่นแจ่มใส หยอกล้อเล่นหัวกับลูกหลานและสุนัขเลี้ยง ฟังวิทยุ (รายการสุขภาพ) และดูทีวี(ข่าวและกีฬา) นึกครึ้มๆ ก็ยังร้องเพลงเบาๆ เป็นปกติ ความจำมีลืมบ้างตามวัย (ดูดีไปหมดเนอะ)

ส่วนทางด้านการแพทย์ในระหว่าง 3 ปีแรกนี้ อาจารย์หมอให้เจาะเลือดตรวจค่าซีอีเอทุกสามเดือนเว้นสามเดือน ตัวเลขจะสูงต่ำขึ้นลงต่างกันบ้างเล็กน้อย ระหว่าง 3.1 – 4.1 ในสามปีมีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ 2 ครั้ง ผลก็คือ “เป็นที่น่าพอใจของแพทย์” ไม่มีติ่งเนื้อเกิดใหม่ในลำไส้ และไม่มีร่องรอยการกลับมาหรือเกิดใหม่ของมะเร็ง

อาหารและการติดตามผลทางการแพทย์ในปีที่สี่และห้า

ทางด้านการบริโภคเมื่อขึ้นปีที่สี่ต่อไปจนจบปีที่ห้า ผู้บัญชาการผ่อนคลายเงื่อนไขอาหารลง เริ่มให้กินปลาทะเล สัปดาห์ละ 1-2 มื้อ คือข้าวสวยกับปลาทะเลนึ่ง (เปล่าๆ) หรือต้มยำปลา (ปรุงแต่มะนาวสดและดอกเกลือ) หรือข้าวต้มปลา ส่วนใหญ่ใช้แซลมอน จึงได้น้ำมันปลาและโอเมก้า 3 กับสารอื่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากอยู่

การติดตามผลทางการแพทย์ในปีที่สี่ นอกจากเจาะเลือดดูค่าซีอีเอแล้ว ยังทำซีทีสแกนบริเวณหน้าท้อง เพื่อตรวจดูอวัยวะในท้อง ทั้งลำไส้ และตับไต กับอวัยวะอื่นๆ ซึ่งพบว่า ทุกอย่างปกติดี ยังคง “เป็นที่น่าพอใจของแพทย์”

ล่วงเข้าปีที่ห้า อาจารย์หมอท่านไม่ประมาท คงยังไม่วางใจนัก และคงสงสัยด้วยว่าเจ้ามะเร็งร้ายหายหัวไปไหนหมด หายไปจริงๆ หรือไปแอบหลบฟักตัวอยู่ที่อวัยวะอื่น โดยเฉพาะปอด ที่พบกันบ่อยมาก

อาจารย์หมอจึงส่งไปหาอาจารย์หมอผู้ชี่ยวชาญโรคมะเร็งปอด

สภาพปอดของคนไข้เคยเสพบุหรี่

วันแรกพบอาจารย์หมอปอด ท่านซักประวัติการเสพ  เล่าว่าเคยเสพบุหรี่อยู่ 20 ปี แต่ก็หยุดเด็ดขาดมา 42 ปีแล้ว สารเสพติดอื่นไม่มี ส่วนแอลกอฮอล์เคยดื่มหนักแต่ก็หยุดมา 10 ปีแล้ว

หลังการเอกซเรย์ปอด ปรากฏมีร่องรอยเหมือนฝ้าที่ปอด ลักษณะเป็นผงๆ เม็ดๆ ขนาดเล็กมากกระจายอยู่ทั่วๆ ไป วินิจฉัยว่า “ไม่น่าจะผิดปกติ สำหรับคนเคยเสพบุหรี่นานกว่ายี่สิบปี” เพราะไม่พบเม็ดใหญ่ๆ ที่พอจะวัดหรือกำหนดขนาดได้ รวมทั้งนับจำนวนก็ไม่ได้ จึงนัดอีกสามเดือนพบกันใหม่ และให้ทำซีทีสแกนทรวงอกมาก่อน

ผลซีทีสแกนในสามเดือนต่อมา บ่งชี้ว่า ไม่พบการเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนและขนาดของเม็ดเล็กๆ ที่เห็น

“ถ้าไม่เคยเป็นมะเร็งที่ใดมาก่อน ก็จะปล่อยผ่านไปแล้ว แต่ตอนนี้พูดได้เพียงว่า ณ ขณะนี้ ทุกอย่างไม่มีสิ่งผิดปกติ”

อาจารย์หมอปอดอธิบาย เป็นผลให้คนไข้หายใจคล่องปอด และสดชื่นขึ้นมาทันทีเลย

“เพื่อความไม่ประมาท จะขอติดตามดูขนาดของเม็ดเล็กๆ ที่เห็นต่อไปนะ”

นัดพบครั้งใหม่อีกหกเดือนต่อมา และให้ทำซีทีสแกนก่อนพบหมอ ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนไป

“หมอว่า เราอย่าเพิ่งใจร้อนกันเลย เอาใหม่ อีกหกเดือน มาพบกันอีกที ทำซีทีสแกนดูกันอีกที เอาให้ชัดๆ”   

หกเดือนต่อมา จากซีทีสแกน ก็ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ เม็ดและฝ้ายังคงมีอยู่ แต่ไม่เพิ่มจำนวนและขนาดไม่ใหญ่ขึ้น จึงคิดว่าเม็ดเหล่านี้ไม่น่าจะมีผลอะไร และเชื่อว่าไม่น่าจะมีมะเร็งมาอยู่ที่ปอด !

อาจารย์หมอปอดพูดอย่างมั่นใจ

“หมอว่า คุณหายจากโรคมะเร็งแล้วละ นี่ก็เลยห้าปีมาแล้วด้วย”

มะเร็งหายแล้ว !

เป็นไปได้หรือ

“แต่เพื่อความไม่ประมาท หมอขอติดตามต่อไปอีกสักพัก” อาจารย์หมอปอดก็ไม่ทอดทิ้งเช่นกัน

“อีกหกเดือน มาพบอีกทีก็แล้วกัน ทำซีทีสแกนทรวงอกส่วนบน ล่วงหน้าไม่เกินหนึ่งสัปดาห์นะ”

แต่หลายประโยคท้ายก่อนจากกันนี่ซี ที่ทำให้เกิดอาการปอดกระเส่าขึ้นมาอีก

“เพียงแต่ ยังมีสิ่งหนึ่งที่หมอสงสัย แต่ก็ไม่มั่นใจ ทั้งไม่ได้ดูแลเคสนี้โดยตรง คือค่าซีอีเอครั้งนี้ มันสูงขึ้นจากเดิม 4.1 เป็น 4.6   แนะนำให้ถามอาจารย์หมอเรื่องนี้ด้วย นะ” แสดงความห่วงใยอย่างจริงจัง

“หมอไม่สบายใจ ที่ตัวเลขมันสูงขึ้น” อาจารย์หมอปอดย้ำ

การพบวันนี้เป็นคิวสุดท้าย จึงใช้เวลานานร่วมครึ่งชั่วโมง (เท่าที่สังเกต ท่านจะให้เวลาคนไข้แต่ละคนไม่ต่ำกว่า 20 นาที ทั้งซักถามและตรวจอย่างละเอียด ท่านจะไม่หยุดพักจนกว่าจะหมดคิวคนไข้ที่นัด แม้จะเลยเวลาเที่ยงไปมากแล้วก็ตาม)

ออกจากห้องหมอมาอย่างมีความสุข สุขจากการได้พบแพทย์ (ทุกท่าน) ที่มีความเป็นแพทย์ยิ่งกว่าแพทย์

กลับถึงบ้าน สูดหายใจโล่งปอด และเปี่ยมสุข        

“หมอว่า คุณหายจากโรคมะเร็งแล้วละ”

สุขที่สุดในโลก (ได้ไหม)

ห้าปีกว่าแล้ว มะเร็งไปอยู่ไหนนะ

ถึงวันนัดพบอาจารย์หมอ วันนี้ นับได้ 5 ปี  4 เดือน 5 วัน หลังวันผ่าตัด

ทันทีที่พบกัน ท่านจ้องมองสำรวจใบหน้าและร่างกายคนไข้ ก่อนลุกเดินมาใช้สเต็ทโตสโคป แนบที่หน้าอกคนไข้ ฟังเสียงหัวใจและภายในทรวงอก ช่องท้อง เลื่อนไปมาทั่วหน้าท้อง แล้วกลับไปนั่ง

“ภายในก็ดี ไม่ผิดปกติใดๆ เลย” อาจารย์หมอพูดถึงผลการฟังเสียงภายในท้อง (มีแต่เสียงลม) และช่วงอก (มีแต่เสียงหัวใจเต้น – ดังโครมครามหรือเปล่านะ ก็รู้สึกว่ามันเต้นระทึกน่ะ)

“ท่านอาจารย์หมอปอดฝากให้เรียนว่า ท่านกังวลค่าซีอีเอที่สูงขึ้นครับ” มัวมีความสุขจนเกือบลืมเรื่องนี้

“ผมเห็นแล้ว ในรายงาน” สีหน้าอาจารย์หมอไม่วิตกกังวลอะไรเลย มีแต่รอยยิ้ม

“เพิ่มนิดหน่อย ขึ้นไม่ถึง 1 โดยรวมก็ยังไม่ถึง 5 แล้วครั้งนี่ก็แค่ 3.6 เอง” หยุดนิดหนึ่ง

“ซีอีเอไม่มีผลอะไรหรอก และเลยห้าปีมามากแล้ว ไม่มีมะเร็งแล้ว” อาจารย์หมอจ้องหน้าและพูดอย่างจริงจัง

“มะเร็งคุณหายแล้ว !”

“คุณหายแล้ว แต่เรายังจะพบกันต่อ คราวนี้จะเป็นปีละครั้งนะ” ท่านเน้นเหมือนจะให้แน่ใจ ว่าฟังไม่ผิด

“ขอบพระคุณมากที่สุดครับ” ก้มลงกราบงามๆ บนโต๊ะอาจารย์หมอ ท่านยิ้ม (อีกแล้ว)

ลุกยืนไหว้ลาอาจารย์หมอ เดินเหมือนลอยออกจากห้องมาอย่างไม่รู้ตัว แต่ในใจคงยังคิดอะไรอยู่แน่ มะเร็งมันหายไปไหน หายไปจริงหรือ หันหาคุณพยาบาล ขอกลับเข้าห้องอาจารย์หมออีกที  ไปยืนพนมมืออยู่ตรงหน้าโต๊ะ ท่านเงยหน้าขึ้นมอง

“อาจารย์หมอครับ นี่หมายความว่า ผมหายจากโรคมะเร็งแล้ว จริงๆ หรือครับ”

“ใช่ คุณหายจากโรคมะเร็งแล้ว”

อ่านตอนที่ 1 และ 2

ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 1

ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 2

ที่มา นิตยสาร ชีวจิต สั่งซื้อ คลิก

เรื่องอื่นๆ ที่น่าติดตาม

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าตัวเอง ” เป็นมะเร็ง “

ลำไส้ไม่ปกติ มีอะไรบ้างที่พังตาม

เช็ก 7 พฤติกรรม ทำบ่อยเสี่ยง มะเร็งตับ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.