สำหรับคุณผู้อ่านที่ค้างคา กับ ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 1 วันนี้แอดมาต่อตอนที่ 2 แล้วค่ะ ครั้งนี้ ปอมอ หรือ คุณประมวล โกมารทัต จะไปพาดูทั้งการตรวจมะเร็ง ว่ามีขั้นตอนอย่างไร รวมทั้งสิทธิ์ที่ใช้ในการรักษาว่าครอบคลุมมากน้อยเพียงใด ว่าแล้วก็ ไปอ่านกันเลยค่ะ
ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ)
ดีใจน่ะ คุณๆ เอฟซี (ซี้รุ่นเก่า)ทักมาเกรียวกราวเชียว หลายรายอวยชัยให้พรมาด้วย ก็ขอให้พรนั้นจงส่งผลร่วมกัน และขอเสริมกลับไปด้วย
เจริญสุขๆ
มาต่อเรื่องของเรา (ตอนสอง) ดีกว่า
จะได้รู้กันละว่า อาการ “จิ้มแล้วเจ็บ” ที่สองคุณหมอ(ชายหญิง)แรกว่าเป็นโรคกระเพาะอักเสบ แต่คุณหมอที่สามจิ้มแล้วสงสัย จึงส่งตัวไปหาอาจารย์หมอส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้น พบว่า กระเพาะอักเสบ จริงหรือ
พรุ่งนี้มาส่องกล้องลำไส้ใหญ่กัน
อาจารย์หมอ (เรียกตามคุณหมอที่ส่งตัวมา) แรกพบก็รู้ ดูท่านเป็นหมอหนุ่ม (ราวสี่สิบต้นๆ) อารมณ์ดีมีเมตตา (เกินกว่าความเป็นหมอ) ยิ่งได้รู้ว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางเรื่องโรคร้ายในช่องท้องยิ่งชวนให้ศรัทธานัก
หลังอ่านรายงานจบ ท่านเงยหน้าขึ้นมองนิ่งอยู่ แล้วให้ขึ้นนอนบนเตียง จากนั้นเดินมาเอานิ้วจิ้มชายโครงขวา แม้ไม่แรงแต่ค่อนข้างลึกเชียว ถามว่า เจ็บหรือ ตอบว่า เจ็บ (ท่านคงรู้ตามรายงานอยู่แล้ว)
อาจารย์หมอบอกว่า อาการเจ็บนี้ ลำไส้ใหญ่น่าจะมีส่วนสำคัญอยู่มาก และจากที่สัมผัส พบคล้ายมีก้อนเป็นไตแข็งๆ อยู่ด้วย อาจเป็นข่าวไม่ค่อยดีนัก แต่ยังไม่แน่ใจ จะต้องดูให้เห็นชัดๆ (กับตา) โดยวิธีส่องกล้องดูภายในลำไส้กันเลย
“คืนพรุ่งนี้มานอนที่นี่ เพื่อล้างลำไส้ใหญ่ก่อน” ท่านว่าดีกว่าเอาน้ำยากลับไปทำที่บ้าน
“ล้างสิ่งที่มีอยู่ออกให้หมด แล้ววันถัดไป เราจะได้ส่องกล้องกันแต่เช้า” หนึ่งในเหตุผลที่ว่าดีกว่า
“พรุ่งนี้มาบ่ายๆ ก็ได้ แล้วค่ำๆ จึงล้างลำไส้ใหญ่กัน คุณต้องอดอาหารหลังเที่ยง ไปจนกว่าจะส่องกล้องเสร็จรุ่งขึ้น”
หาคนมานอนเป็นเพื่อนด้วย เพราะคนอายุมาก เมื่อล้างลำไส้ใหญ่ ต้องถ่ายท้องหนักๆ อาจจะเกิดอะไรๆ ได้ทั้งนั้น
วิธีล้างลำไส้ใหญ่ก่อนการส่องกล้องไม่มีอะไรพิสดาร ก่อนค่ำวันนั้นคุณพยาบาลเอาน้ำผสมยาสีส้มๆ (คงเป็นยาถ่ายอ่อนๆ) ใส่ขวดมาให้ (คะเนด้วยตาน่าจะ 2 ลิตร) ให้รินเต็มถ้วยแก้ว ดื่มเป็นระยะๆ ติดต่อกันไปจนหมด หลังจากดื่มน้ำยาหมดขวดสักพักก็เริ่มรู้สึกอยากถ่าย ออกจากห้องน้ำ พอดีคุณพยาบาลเดินถือน้ำยาเข้ามาอีกขวด สั่งให้ดื่มให้หมดก่อนนอน น้ำยาเข้าไปอัดแน่นในท้อง แต่ก็ได้ผล น้ำไล่ทุกสิ่งในลำไส้ใหญ่ให้ออกมา ต้องเข้าห้องน้ำถ่ายหลายครั้ง (จนครั้งสุดท้ายออกมาแต่น้ำขุ่นๆ ไม่มีเนื้อเลย) การดื่มนั้นให้ดื่มจริงๆ ไม่ใช่ค่อยๆ จิบ (มันไม่ใช่ไวน์และไม่อร่อยหรอก – คุณพยาบาลพูดยิ้มๆ ก่อนจากไป)
คืนนั้น หนีบลูกชายวัยรุ่น (เกือบสี่สิบ) มานอนด้วย ไว้ช่วยบริการรินน้ำยาและตอนจะไปเข้าห้องน้ำ
นอนไม่ค่อยหลับเลย ทั้งใจที่กระวนกระวายคิดถึงวันพรุ่งนี้ แล้วยังต้องลุกเข้าห้องน้ำถ่ายบ่อยมาก (ด้วยฤทธิ์น้ำยาที่ไม่อร่อยอย่างไวน์แถมมีรสเฝื่อนๆ อีก – จริงดังคุณพยาบาลว่า)
เช้าอันแสนจะตื่นเต้นที่รอคอยก็ช่างมาถึงช้ากว่าทุกเช้า ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ ก็สวมชุดคนไข้รอไว้ ใจยังนึกหวาดๆ อยู่ นี่จะถูกวางยาให้หลับ แล้วมีคนเอาสิ่งแปลกปลอมมาสอดใส่เข้าทางทวารหนัก (จริงๆ หรือ)
อึ้ย! นึกแล้วเสียว (ก็หนูไม่เคยนี่นา)
ภายในลำไส้ใหญ่มีอะไรน่าดูนักหรือ
ผู้ช่วยพยาบาล(ชาย) มารับ ให้ขึ้นนอนบนเตียงรถเข็นพาไปห้องทำหัตถการ
ถึงห้องยังไม่เห็นอาจารย์หมอ แต่มีหลายคุณพยาบาลกำลังเตรียมการกันอยู่ ลงนอนเตียงใหญ่แล้ว คุณพยาบาลท่านหนึ่งมาจัดแจงท่านอนให้ลงตัว แล้วอีกท่านเดินเข้ามา ในมือมีเข็มฉีดยาที่บรรจุยาไว้มาด้วย
“จะให้ยา ทำให้เคลิ้มๆ เกือบหลับค่ะ” คุณพยาบาลบอกก่อนปักเข็มส่งยาเข้าเส้นเลือด (ฝีเข็มเบาแทบไม่รู้สึกเลย)
จากนั้นสักพักก็หลับไป ไม่รู้อะไรแล้ว นับแต่นี้ จะมีใครมาทำอะไร จับพลิกคว่ำพลิกหงายเอาอะไรสอดใส่ทวารหนัก ลักหลับท่าไหนก็ไม่รู้แล้ว (คงเพราะเมื่อคืนนอนไม่ค่อยหลับ เจอยาเข้าหน่อยจึงหลับเอาง่ายๆ)
ไม่น่าจะใช่หมดสติแบบสลบ แต่ก็ไม่ใช่แค่เคลิ้มๆ อย่างคนลงเข็มบอก เรียกหลับสนิทละถูกสุด
(เคยคุยกับคนอื่น เขาว่าเขาไม่หลับสนิท แค่เคลิ้มๆ ยังได้ยินเสียงและรู้ตัว แต่ไม่รู้สึกเจ็บขณะคุณหมอส่องกล้อง)
จะนานแค่ไหนก็ไม่รู้อีก จนรู้สึกตัวตื่นขึ้น แต่ยังนอนหลับตาทบทวนเรื่องราว
“ตื่นแล้วนะ” จำได้ว่าเป็นเสียงอาจารย์หมออยู่ใกล้ๆ จึงลืมตา
“ครับ”
อาจารย์หมอให้ไขเตียงยกตัวขึ้นนั่ง และให้เชิญเจ้าของคนไข้ตัวจริง (คือคุณภรรยาคนเก่งที่รออยู่หน้าห้อง) เข้ามา
“ผมจะเล่าให้ฟัง ว่าเห็นอะไรและทำอะไรกับลำไส้ใหญ่ของคุณไปบ้าง”
ท่านไม่ได้มาสารภาพหรอกนะ ทว่าจะเล่าเรื่องราวที่ทำให้รู้
ขณะหลับอยู่นั้น อาจารย์หมอสอดเครื่องมือที่เป็นกล้องและคีมเล็กๆ ใส่เข้าไปในลำไส้ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก เห็นภายในลำไส้ทั้งหมด พบมีติ่งเนื้อจำนวนมากอยู่ตรงส่วนต้นๆ ของลำไส้ใหญ่ และเลยเข้ามาเป็นติ่งค่อนข้างใหญ่ จึงใช้คีมที่เป็นกรรไกรตัดออกทั้งหมด ก็หลายติ่งอยู่ (ไม่ได้ถามและท่านก็ไม่ได้บอก ว่าตัดแล้วเอาออกมาทิ้งข้างนอกหรือปล่อยไว้ในท้อง นะ)
ส่วนติ่งเล็ก ติ่งน้อย ติ่งซิวสร้อย (อีกมากเหมือนกัน) ไม่ได้ตัด ยังอยู่อย่างเดิม (ไม่ได้ถามอีกว่า ทำไม)
อาจารย์หมอให้ความรู้ว่า ติ่งขนาดใหญ่ปล่อยไว้ไม่ได้ มันจะพัฒนาเป็นเนื้อร้าย แล้วอาจกลายเป็นมะเร็งได้
ฟังแล้วใจฟู รู้สึกโล่งพิกล – ติ่งใหญ่ๆ ที่อาจกลายเป็นมะเร็ง ถูกอาจารย์หมอตัดออกไปหมดแล้ว
แต่คำบอกเล่าต่อไปนั่นซี….
“แล้วพบก้อนเนื้อขนาดใหญ่ เริ่มจากส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ ตรงที่ต่อกับลำไส้เล็ก มันเกาะอยู่เป็นแนวยาวเรื่อยไปตามลำไส้ใหญ่ที่มีเส้นเลือด และมีต่อมน้ำเหลืองเป็นระยะๆ” ฟังแล้วไม่น่ากลัวเท่าประโยคต่อไป
“เชื่อว่า น่าจะเป็นก้อนเนื้อร้าย” ยังไม่พอ อาจารย์หมอยังย้ำต่อไปอีกว่า
“ก้อนเนื้อร้ายนี้ค่อนข้างใหญ่มาก และคงเป็นสาเหตุให้รู้สึกเจ็บเมื่อจิ้มไปถูกมันเข้า”
ใจที่ฟูเมื่อฟังตอนแรกกลับแฟบลงทันที
“แล้วมันเป็นยังไงครับ”
แม้จะพยายามระงับใจไม่ให้ตื่นเต้นแล้ว เสียงก็คงสั่นๆ(เอง) หันไปมองคนที่นั่งข้างๆ ดูท่าจะไม่ต่างกัน
“ไม่ต้องตกใจนะ ทุกวันนี้คนไทยเป็นกันเยอะมาก” อาจารย์หมอพูดด้วยน้ำเสียงปกติ แต่ใจคนฟังสิ ไม่ปกติเลย
“คุณอยากให้บอกชัดๆ ตอนนี้เลยไหมล่ะ” อาจารย์หมอถามเสียงนิ่มๆเช่นเดิม
“ครับ”
“คุณเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ”
โอ มายก็อด !
ถ้าเป็นฝรั่งคงร้องหาพระเจ้าลั่นไปแล้ว แต่เราไม่ใช่ จึงแค่เงียบไป ไม่พูดไม่จา (ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึง ‘เก่งซะไม่มี’)
เคยฟังที่เล่ากันมา คนได้ยินหมอบอกว่าเป็นมะเร็งถึงกับเป็นลมหมดสติไปเลยก็มี เพราะเชื่อกันว่า เป็นมะเร็งแล้วต้องตาย และก็เป็นตามนั้นหลายรายด้วย ยังแปลกใจอยู่จนเดี๋ยวนี้ ทำไมได้ยินแล้ว รับฟังแล้ว… เฉยและนิ่ง
จริงๆ… ขอบอกตามตรงว่า ณ ขณะนั้น มันพูดไม่ออก บอกไม่ได้น่ะ
ใจนึกอยากสมน้ำหน้าตัวเองนัก ถ้าเชื่อสองคุณหมอชายหญิงที่วินิจฉัยแต่แรกว่าเป็นโรคกระเพาะอักเสบซะ ก็สบายไปแล้ว (แต่คงไม่ได้มาเล่ากันวันนี้ เนอะ) เพราะรักษาแค่ให้ยาลดกรดและยาแก้ปวดเท่านั้น (แล้วคำว่า ‘ปอมอ’ ก็จะยังแปลเหมือนเดิม – อะไรดีนะ) แต่นี่กลับต้องกลายเป็นว่า ….
ปอมอ = เป็นมะเร็ง “เพราะไม่เชื่อหมอ”
เป็นมะเร็งแล้วไง (ก็ตัดมันทิ้งไปซะซี่)
“คุณเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่” อาจารย์หมอพูดชัดมาก
“แล้ว… ต้องทำยังไงต่อครับ” ในใจ (ยังอุตส่าห์) อยากได้แค่ฉายแสง (มารู้ทีหลังว่าเขาไม่ทำกันกับมะเร็งลำไส้ใหญ่)
“คงต้องผ่าตัด ต้องตัด ตัดลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งทิ้งไป” สังเกตไหม มีคำว่า ‘ตัด’ ถึงสามครั้ง
เหมือนที่เคยได้ยินไง “นิ้วไหนร้าย ก็ตัดทิ้งไป” คนเรามีแค่ 20 นิ้ว ถ้ามันร้ายยังตัดทิ้งได้ สำมะหาอะไรกับลำไส้ใหญ่ยาวตั้งเมตร จะตัดทิ้งไปซะบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร (เนอะ)
ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ยังไม่มีห้องศัลยกรรมผ่าตัดใหญ่ คนไข้ที่ต้องผ่าตัดใหญ่ จะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่
อาจารย์หมอถามถึงโรงพยาบาลในสิทธิบัตรทองของเรา ท่านได้ยินชื่อแล้วยิ้ม
“พอดีเลย หมอจะทำใบส่งตัวคุณไปที่นั่น ให้อาจารย์หมอผ่าตัดให้” หมายถึงอาจารย์หมอของอาจารย์หมอ
“อาจารย์ผมเอง ท่านเก่งมาก”
“ขอบพระคุณมากครับ”
การรักษาโรคเป็นหน้าที่ของแพทย์
กลับถึงบ้านรีบหาข้อมูล อยากรู้ประวัติและความเก่งกาจของ “อาจารย์หมอของอาจารย์หมอ” ที่ได้ชื่อมา เลยพบชื่อคุณหมอผู้เชี่ยวชาญการทำศัลยกรรมลำไส้ใหญ่ท่านอื่นๆ ที่โรงพยาบาลนี้ด้วย
จะเรียกว่าบังเอิญก็ได้ พบชื่อศัลยแพทย์ท่านหนึ่ง มีประสบการณ์ศัลยกรรมในช่องท้องมานานนับสิบปี เชี่ยวชาญการผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง มากกว่านั้นก็คือ นามสกุลเดียวกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งเข้าอีก (น่าสนใจจัง)
“หลานชายหนูเอง”
เพื่อนตอบกลับมาเมื่อถามไป พร้อมบรรยายสรรพคุณเพิ่มเติมว่า คุณหมอหลาน(อา) เคยศึกษาและปฏิบัติงานในต่างประเทศมาแล้วอย่างโชกโชน ก่อนกลับมาประจำที่โรงพยาบาลนี้และหลายโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนว่าเท่าที่รู้ หลานชายตัดลำไส้คนมาเยอะ เชี่ยวชาญศัลยกรรมช่องท้องและมะเร็งลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง ขณะนี้เป็นอาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ทั่วไปของโรงเรียนแพทย์ ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ฯลฯ (ที่ใส่ไปยาลใหญ่ไว้นี่ แปลว่ายังมีอีกเยอะสรรพคุณ แต่จะขอไม่เล่าละ)
เพื่อนกุลีกุจอโทรศัพท์ไปหาอาจารย์หมอหลานชายให้เสร็จสรรพ (ไม่แน่ใจว่าอยากช่วยเพื่อน หรือดีใจที่ได้เหยื่อมาให้หลานตัดลำไส้อีกคน – 5555) หมอหลานชายตอบยินดีรับเพื่อนอาเป็นคนไข้รายใหม่ ให้วันนัดเสร็จสรรพ …(ขอบใจมากเพื่อน)
มติเอกฉันท์ (ก็แค่ภรรยากะสามี) เลือกขอเป็นคนไข้ของอาจารย์หมอหลานชายเพื่อนคนนี้แหละ (จะไม่ไปหาอาจารย์หมอของอาจารย์หมอที่ส่งตัวมาละ)
ถึงวันนัดพบอาจารย์หมอหลานชายเพื่อน (เพื่อให้กระชับ ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า อาจารย์หมอ เฉยๆ นะ) นอกจากเราสองคนยังมีหลานสาว(เจ้าปัญญา) ผู้คุ้นเคยกับโรงพยาบาลแห่งนี้อาสาไปช่วยอีกแรง ตามนัดนั้นเหมือนเป็นคิวโดด จึงเป็นคนไข้รายสุดท้ายของวัน เลยได้พูดคุยกันนานอยู่
ตอนทำความรู้จักในฐานะหมอกับคนไข้หน้าใหม่ เมื่อบอกว่าเป็นเพื่อนกับคุณอาของท่านมานาน ฟังคำตอบ(ซี)
“การรักษาโรคเป็นหน้าที่ของแพทย์ แพทย์จะเลือกคนไข้ไม่ได้ ไม่ว่าจะรู้จักกันหรือเป็นญาติกันหรือไม่ แพทย์ต้องทำหน้าที่รักษาจนสุดความสามารถ เหมือนกันและเท่าเทียมกันทุกคน ขอให้ทำใจสบายๆ”
(น่าชื่นใจ เนอะ)
“ขอบพระคุณครับ”
อาจารย์หมอมองด้วยสงสัย คนไข้โรคร้ายที่ใครๆ เขากลัวกันนักกำลังจะต้องผ่าตัด แต่กลับหน้าตาสดใส ไร้กังวลใดๆ
“รู้ไหม คุณเป็นโรคอะไร”
“มะเร็งลำไส้ใหญ่ครับ”
อาจารย์หมอยิ้มอย่างอารมณ์ดีที่ได้ยินเสียงตอบหนักแน่น ก้มลงเขียนยุกยิกๆ บนใบรายงานแล้วใส่แฟ้ม ยื่นส่งให้
“ไปติดต่อเจ้าหน้าที่นัดหมายวันผ่าตัด แล้วไปจองห้องพักฟื้นหลังผ่าตัดไว้ซะเลย”
หลังการผ่าตัดจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 5-7 วัน ทั้งสองงานนั้น หลานสาวเจ้าปัญญาเป็นคนไปจัดการให้เป็นที่เรียบร้อย เสร็จสิ้นกระบวนการ เพียงรอให้ถึงวันผ่าตัด (ด้วยใจระทึก)
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง
การผ่าตัดลำไส้ใหญ่เดี๋ยวนี้พัฒนาไปมาก จากเดิมที่จะต้องผ่าเปิดหน้าท้อง เพื่อตัดลำไส้ส่วนที่มะเร็งเกาะกินอยู่ออก ไป หลังผ่าตัดเสร็จก็เย็บปิด จึงเมื่อแผลหายจะเห็นรอยแผลเป็นยาวๆ (คงเหมือนรอยแผลเป็นหน้าท้องคุณแม่ที่ผ่าคลอด)
ปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต้องผ่าเปิดหน้าท้องแล้ว จะใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ (ประมาณดินสอรอดได้เท่านั้น) พอแผลหายแล้วจึงมีรอยแผลเป็นขนาดเล็กมาก แล้วบางรอยรูจะเลือนหายไป (ก้มดูตัวเอง ตอนนี้จากสามเหลือสอง)
วิธีการคือ เจาะรูหน้าท้อง 3 รู บริเวณที่พบก้อนมะเร็ง สำหรับสอดใส่เครื่องมือ รูหนึ่งสอดใส่กล้องที่มีกำลังขยายสูงเข้าไปภายในไว้ดู อีกรูหนึ่งสอดใส่เครื่องมือผ่าตัด ส่วนรูที่สาม (อยู่ใกล้ๆ สะดือ) เป็นทางสำหรับเอาลำไส้ที่ถูกตัดแล้วออกมาทิ้ง การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบนี้เรียกว่า Laparoscopic Colectomy (คำหน้าแปลว่า การส่องกล้อง คำหลังแปลว่า การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ รวมเป็น การผ่าตัดลำไส้ใหญ่แบบส่องกล้อง)
ก่อนศัลยแพทย์ลงมือผ่าตัด จะต้องตรวจระบบหัวใจและเลือด (สำคัญนะ ยิ่งเป็นผู้สูงอายุและกำลังรักษาโรคหัวใจอยู่นี่) และมีวิสัญญีแพทย์วางยา เพื่อให้คนไข้หลับหมดสติ
นั่นเป็นประสบการณ์จริงส่วนตัวเท่าที่ยังพอมีสติรับรู้ (คิดว่าคนอื่นก็คงเช่นเดียวกันแหละ เนอะ)
ในระหว่างอาจารย์หมอทำหัตถการนั้น ไม่รู้สึกตัวและไม่มีสติรับรู้อะไรหมด (คือ หลับไม่รู้เรื่องเลย) แม้คุณหมอจะบอกว่าไม่ใช่วางยาสลบ เพียงทำให้หลับหมดสติไป แต่ก็มีการให้ยาชาก่อนฉีดยาให้หลับ (เป็นคนไม่กลัวการผ่าตัด แต่กลัวเจ็บ จึงขอคุณพยาบาลว่า กรุณาเพิ่มยาชาให้มากกว่าปกติได้ไหมครับ – เธอรับตามขอหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าตื่นมาไม่เจ็บเลย)
เริ่มตั้งแต่ อาจารย์หมอเจาะหน้าท้องแล้วสอดใส่กล้องและเครื่องมือเข้าไปในท้อง เพื่อเอาลำไส้ส่วนที่มีก้อนมะเร็ง ออกมา ใช้เวลานานแค่ไหนก็ไม่รู้ (คง 30-45 นาที ที่แน่ๆ น่าจะนานกว่าตอนส่องกล้องเมื่อวันก่อนนู้น)
มารู้สึกตัวงัวเงียขึ้น ก็อยู่ในห้องพักฟื้นแล้ว ได้ยินเสียงคุณพยาบาลพูดอยู่กับคุณภรรยา (คนเก่ง) และลูกชายคนเล็ก (ผู้มากประสบการณ์) ที่จะมานอนเฝ้าไข้ พวกเขาคงเห็นกระดิกตัว (ก็มันเมื่อย) จึงไปเชิญอาจารย์หมอเข้ามา
“ตื่นแล้วนะ” ท่านยิ้มอย่างผู้ประสบความสำเร็จ
“เจ็บไหม”
“ไม่เจ็บครับ ขอบพระคุณมากครับ”
“จะเล่าให้ฟังว่า ขณะคุณหลับอยู่ หมอทำอะไรไปบ้าง ในท้องคุณ”
อาจารย์หมอเล่าว่า จากกล้องมองเห็นมะเร็งก้อนโต ตรงส่วนต้นของลำไส้ใหญ่ต่อลำไส้เล็กที่มีไส้ติ่ง ลามออกมาต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ต่อกัน 2-3 ต่อม กับมีติ่งเนื้อเล็กๆ อีกเยอะที่ไม่สำคัญอะไรนัก
“เรียก มะเร็งขั้นไหนแล้วคะ” เสียงคุณภรรยาถาม ส่วนคนไข้หลับตาอยู่
“ขั้นสาม”
การแบ่งระยะมะเร็งของแพทย์
ขออนุญาตอ้างอิงตามข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่แบ่งระยะมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 1-4
- ระยะแรก เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้
- ระยะที่ 2 มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/ หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง
- ระยะที่ 3 มะเร็งเริ่มลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง (ที่อยู่ด้านนอกลำไส้ใหญ่) และบริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 4 มะเร็งจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสเลือดไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก เป็นต้น
“ที่ให้ถึงขั้น 3 ก็เพราะมันลามไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว 2-3 ต่อม โชคดีที่ยังไปไม่ไกลกว่านี้ และยังไม่ลามไปอวัยวะอื่น”
อาจารย์หมอยังใช้คำว่า ‘โชคดี’ ได้ ก็คงจะโชคดีจริง คนฟังก็ได้แต่ภาวนาว่า ขอให้สมพรปากเถอะ
“นี่ก็ตัดเผื่อไปให้แล้ว ตัดเลยจากที่มันลุกลามออกไป หน่อยหนึ่ง”
ท่านมองการณ์ไกลและไม่ประมาท
“ติ่งเนื้อเล็กๆที่เห็น รวมทั้งไส้ติ่งที่อยู่ช่วงต้นๆ ก็ตัดไปด้วยเลย รวมแล้วตัดลำไส้ใหญ่ไป 40 เซนติเมตร”
นอนหลับตา นึกในใจว่า ยาวสี่สิบเซนติเมตรนี่ ก็เกือบครึ่งท้องเลยนะ
เท่าที่รู้ ลำไส้ใหญ่นี้ต่อกับลำไส้เล็ก ด้านริมขวาของท้องช่วงใต้ชายโครง จะมีไส้ติ่งอยู่ แล้วจะย้อนเป็นทางตรงขึ้นมาเหนือลำไส้เล็ก ก่อนเลี้ยวไปหน้าท้อง พาดขวางจากขวาไปซ้าย ทำหน้าที่เป็นด่านสุดท้ายในการดูดซึมสารอาหาร ที่หลงเหลือจากที่ลำไส้เล็กดูดซึมเอาสารอาหารมีประโยชน์ไปแล้ว เมื่อเหลือแต่กากแท้ๆ จะเคลื่อนตรงต่อไปตามลำไส้ใหญ่ที่จะหักลงตรงๆ แล้วเลี้ยวสั้นๆอีกที วกลงส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า ลำไส้ตรง (ยาวราว 12 เซนติเมตร) ลงสู่ทวารหนัก เพื่อขับถ่ายกากซึ่งเป็นของเสียออกไปจากร่างกาย
ยังงงก็ลองนึกถึงเครื่องหมายคำถาม ที่เป็นเส้นวนรอบนอกคือลำไส้ใหญ่ กอดกองลำไส้เล็กที่ขดไปมาอยู่ตรงกลางวงที่ว่างๆนั่นแหละ (ยังนึกไม่ออกก็ลากเส้นวาดภาพดู) ลำไส้ใหญ่ยาวราวหนึ่งเมตร ส่วนลำไส้เล็กยาว 7-8 เมตร แน่ะ
เจอหมอเทวดาในห้องพักฟื้น
วันแรกๆ ต้องนอนอย่างเดียว ห้ามลุก ตอนกินอาหารให้ไขเตียงยกตัวขึ้น แต่ต่อรองว่า ตอนถ่ายหนักขอไม่นอนถ่ายกระโถน จึงผ่อนผันให้ลุกเดินช้าๆ ไปห้องน้ำใกล้ๆ ได้วันละครั้งเดียว (ต้องเอาสายสวนปัสสาวะและขวดที่ใส่ไปด้วย) ไม่มีการอาบน้ำ แต่คุณพยาบาลจะเช็ดตัวให้ (ยอมให้ทำหมดแค่วันแรก วันต่อมาขอทำเองในส่วนเร้นลับ)
แพทย์เวรเข้ามาดูอาการและตรวจร่างกายละเอียดช่วงผลัดเวรทุกครั้ง ส่วนคุณพยาบาลก็จะคอยถามว่าเจ็บแผลในท้องมากน้อยแค่ไหน ให้บอกเป็นตัวเลข ระดับเต็ม 10 (สองวันแรกถึง 8 วันหลังๆ เหลือ 4-5) จะให้ยาแก้ปวด
จนล่วงเข้าวันที่สี่ ก็เกิดเรื่องจนได้ ….
เกือบเที่ยงคืน รู้สึกปวดหน้าท้องมาก (ขั้น 9-10) ลูกชายคนเล็กที่นอนเฝ้าไปบอกคุณพยาบาล แพทย์เวรมาดู คงพบสิ่งผิดปกติในท้องจึงโทรศัพท์ไปหาอาจารย์หมอ(ที่อยู่บ้าน) จากนั้นคุณพยาบาลนำอุปกรณ์เข้ามาเป็นเครื่องมือขนาดไม่เล็กเลย (ใช่เครื่องเอ็กซเรย์ไหมไม่รู้) ตรวจหน้าท้อง (ขณะคนไข้นอนบนเตียง) แล้วคงเห็นอะไร
คุณแพทย์เวรรายงานไปที่อาจารย์หมอ แล้วหันมาบอกว่า ไม่เป็นอะไรมาก เพียงมีแผ่นพังผืดเล็กๆ ในท้องที่ทำให้ปวด พังผืดนี้เกิดจากหลังผ่าตัดแล้วนอนนิ่งๆ นานไป ปัญหานี้แก้ไม่ยาก อย่ากังวลเลย ท่านจัดการได้ และอาจารย์หมอก็แนะนำมาแล้ว จากนั้นให้ยาฉีดแก้ปวดและยานอนหลับ
อาการปวดหายไปก่อนหลับจริงๆ จนวันต่อมาก็ไม่กลับมาปวดอีกเลย (หรือ เป็นหมอเทวดา !)
รุ่งขึ้น อาจารย์หมอมาแต่เช้า ถามอาการและตรวจหน้าท้อง พบว่าผล “เป็นที่น่าพอใจของแพทย์” ทั้งแผลที่ลำไส้ และรูแผลหน้าท้อง ครบเจ็ดวันคงได้กลับบ้าน
สิทธิบัตรทองช่างน่าป่วยจริงๆ
สายๆ วันที่เจ็ด ขณะกำลังรู้สึกเบื่อและอยากกลับบ้านเอามากๆ คุณพยาบาลมาบอกว่า เดี๋ยวอาจารย์หมอจะมาดู และท่านบอกมาว่าจะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้แล้ว จึงหากจะไปติดต่อฝ่ายการเงินก่อนเลยก็ดี จะได้เร็วขึ้น
หลานสาว (เจ้าปัญญา) ไปทำหน้าที่ กลับมาเล่าว่า นอกจากต้องจ่ายเพิ่มค่าห้องพิเศษนิดหน่อยแล้ว อย่างอื่นไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งการทำศัลยกรรม (รวมค่าใช้จ่ายแล้วเป็นแสน) อยู่ในสิทธิบัตรทองทั้งหมด (ไม่ต้องจ่ายเลย !)
โอ มายก็อด ! (ฝรั่งคงร้องอีกครั้งแน่) ประเทศไทยของฉัน ช่างน่ารักน่าป่วย จริงๆ !!
เลยเที่ยงเล็กน้อย อาจารย์หมอเข้ามา ตรวจร่างกายและถามไถ่อาการ พบว่าทุกอย่าง “เป็นที่น่าพอใจของแพทย์” อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
แพทย์พอใจ แต่คนไข้น่ะไม่เพียงพอใจ หากดีใจเอามากๆ อยากจะเข้าไปกราบขอบพระคุณอาจารย์หมอที่อกด้วยความซาบซึ้งในพระคุณยิ่งนัก (แต่ไม่ได้ทำหรอก เพราะท่านไม่ยอม)
“เอาละ วันนี้กลับบ้านได้แล้ว วันพฤหัสฯ ค่อยมาพบกัน นะ”
ใบหน้าอาจารย์หมอเต็มไปด้วยรอยยิ้ม (ถ้าเป็นนักเขียนคงจะใช้คำว่า อาจารย์หมอหน้าเปื้อนยิ้ม)
“จะได้นัดวันทำคีโม”
อ่าน ปอมอ = เป็นมะเร็ง (เพราะไม่เชื่อหมอ) ตอน 1
ที่มา นิตยสาร ชีวจิต ฉบับ 594 คู่มือดูแลลำไส้ให้แข็งแรง สั่งซื้อ คลิก
เรื่องอื่นๆ ที่น่าติดตาม
เครียด ซึมเศร้า ก่อโรคมะเร็ง จริงหรือ?
แกงไทย กับการช่วยป้องกันมะเร็ง