ใครว่า” แก่” แล้วมีเเต่เรื่องทางกาย เจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เท่านั้น รู้หรือไม่ว่า ความถดถอยในเรื่องของอารมณ์ และจิตใจก็เป็นอีกหนีงสิ่งที่สร้างปัญหาในชีวิตได้ไม่แพ้กันแม้ว่าจะเคยผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวมามาก แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างเมื่อเข้าสู่วัยชรา ทั้งโอกาสต่างๆ หน้าที่การงาน ชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งการเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง ก็พลันหายไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น
นั่นหมายความว่าความรู้สึกที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ได้หายตามไปด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผลสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จะออกมาว่าคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศชายในทุกช่วงอายุ
การรับมือเมื่อเข้าสู่ภาวะต่างๆ จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่จะทำให้ทั้งผู้สูงอายุและคนรอบข้างเข้าใจกันมากขึ้น เพื่อที่จะก้าวให้ผ่านวิกฤตนั้นไปได้ โดยที่กระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้น้อยที่สุด
ภาวะอารมณ์ของคนที่อยู่มานาน
การใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปแบบกะทันหัน ทำให้การปรับตัวอาจจะยังไม่เข้าที่ ส่งผลให้อารมณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายที่สุดอาการทางอารมณ์ของผู้สูงอายุนั้น มีตั้งแต่เครียด ซึมเศร้า และหงอยเหงาแต่ในบางครั้งก็หงุดหงิดง่าย ไปจนถึงกังวลใจแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนทำให้เอาแต่ใจเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
ดังนั้นการปรับอารมณ์ดีต้องแก้ที่ใจ โดยพยายามมองโลกให้บวก ทำใจสบายๆ หากิจกรรมที่สามารถทำได้นานๆ หรือกิจกรรมใหม่ๆ น่าสนใจ อีกสิ่งคือการลองกลับไปลองเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง ด้วยการสังสรรค์กับเพื่อนหรือเฮฮากับลูกหลานพยายามพูดคุยกับคนในครอบครัวเมื่อไม่สบายใจหรือปรึกษาคุณหมอหากลูกหลานไม่มีเวลาก็ได้ค่ะ
ภาวะสมองไม่ยอมตามเทรนด์
ภาวะทางความคิดของคนวัยชราที่มักเห็นกันบ่อย คือการไม่ยอมรับในความคิดใหม่ๆ เพราะเคยชินและฝังใจในความคิดเดิมที่เคยเป็นมา ผนวกกับวิธีใช้ชีวิตที่ร่างกายแกมบังคับให้ช้าลง ก็พลอยทำให้ตามอะไรใหม่ไม่ค่อยทัน ไม่ได้อัปเดตความเคลื่อนไหวของโลกเท่าแต่ก่อนทำให้สมองยังคอยแต่หมกมุ่นอยู่กับอดีต คิดมากในเรื่องปัจจุบัน และยังกังวลกับอนาคตแบบช่วยไม่ได้ ผนวกกับระบบประสาทที่ด้อยลง ทำให้ความเข้าใจบางเรื่องก็เป็นไปได้ยากจนนำพาให้หงุดหงิด คิดวนไปมา แต่เรื่องเดิมๆ
ดังนั้นต้องปรับสมองต้องฝึกมองมุมใหม่ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงและให้เวลาตัวเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ฝึกสมองด้วยงานที่ใช้ทักษะทำงานง่ายๆ เล่นเกมฝึกความคิด และการเชื่อมโยง ปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้ปลอดภัยน่าอยู่ จะช่วยเอื้อต่อความคิดในแง่บว พร้อม เปิดใจให้กว้าง ให้โอกาสตัวเองและคนรอบข้าง ยอมรับความแตกต่างของวัย
ภาวะจำเรื่องเก่ามาเล่าใหม
มาถึงภาวะสุดฮอตที่ถูกพูดถึงเมื่อชราแล้ว คงไม่พ้นภาวะทางความจำซึ่งก็มีทั้งที่เกิดมาจากโรคประจำตัวหรือพฤติกรรมที่สั่งสมมาจากการใช้ชีวิต เช่น การดื่มสุราเรื้อรัง หรือการบาดเจ็บทางสมอง ซึ่งส่วนใหญ่ภาวะความจำที่เสื่อมลงนี้ก็มีอาการคล้ายๆ กัน คือชอบเล่าแต่เรื่องเก่าๆ หรือเรื่องในอดีตที่ผ่านไปนานแล้วตรงกันข้ามกับเรื่องใหม่ๆ ที่มักจะลืมหรือจดจำรายละเอียดได้น้อยลง
ดังนั้นการปรับความจำต้องฝึกสมองออกกำลังกายสมองด้วยการเล่นเกมฝึกความจำเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้ให้ลูกหลานฟังเพื่อทวนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมถึงการมีส่วนร่วมกับสังคมและคนรอบข้าง ฝึกการพูดคุยและเข้าใจคนอื่น
ภาวะพฤติกรรมมนุษย์ตายาย
จากความเสื่อมของร่างกายและสมองที่พลอยส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนตามวัย แบบที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัว โดยพฤติกรรมที่พบได้บ่อยมากคือ การจู้จี้ ขี้บ่น เพราะไม่ได้ดั่งใจคิด การเรียกร้องความสนใจจากลูกหลาน ด้วยอาการน้อยใจหรือเอาแต่ใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในบางครั้งก็อาจจะเก็บตัวเพราะรู้สึกตัวเองแก่เกินไป หรือกลับกันอาจจะสนใจเรื่องของคนรอบข้างมากเกินปกติ
ดังนั้นการปรับพฤติกรรมต้องยอมรับความจริง คือต้องเปิดใจรับความเห็นแล้วสำรวจพฤติกรรมตนเอง หากิจกรรมที่สนใจไม่ให้ว่างจนเกินไปและไม่เก็บเรื่องเล็กน้อยมาเป็นเรื่องใหญ่ พยายามสื่อสารและทำความเข้าใจกับลูกหลาน ใช้เวลาที่มีไปกับการดูแลสุขภาพและใส่ใจตนเอง
พัฒนาการทางด้านจิตใจในผู้สูงอายุ
พัฒนาการทางด้านจิตใจของผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่น่าศึกษามิใช่น้อย เป็นระยะที่บุคคลควรจะสามารถรวบรวมประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมา และเมื่อหันกลับไปมองชีวิตตัวเองแล้วก็เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป ภาคภูมิใจในชีวิตของตนที่ผ่านมา เป็นภาวะที่บุคคลประกอบด้วยความรู้สึกกลัวตาย รู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาของตนนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง
นอกจากนี้ยังมีผู้อื่นอีกมากมายที่มองวัยสูงอายุนี้ว่าบุคคลเหล่านี้ได้สั่งสมประสบการณ์ในการสร้างชีวิตวัยต่างๆ มาได้สำเร็จ และก็กำลังทำต่อไปในช่วงของการมีอายุมากขึ้น การผสมผสานประสบการณ์ในอดีต ทำให้พัฒนาต่อไป จากการมีวุฒิภาวะ ไปสู่ความมีปัญญา การมองเห็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงทำให้เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในความยึดมั่นต่างๆ แม้แต่การที่สามารถมองชีวิตด้วยอารมณ์ขันมากขึ้น เป็นต้น
>>อ่านต่อหน้าถัดไป<<