ทำไมผู้สูงอายุถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายที่สุด?
ตอนนี้จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เนื่องจากการเดินทางเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งก่อนและหลังจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ออกประกาศปิดสถานที่และสถานประกอบการชั่วคราว
สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังให้ความสำคัญและเป็นห่วงอยู่ตอนนี้คือจำนวนของผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อจากผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เนื่องจากคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จึงไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อ ระหว่างการเดินทางหรือเมื่อถึงบ้านแล้วจึงแพร่เชื้อได้ หรืออาจได้รับเชื้อระหว่างการเดินทาง แล้วเอาเชื้อไปติดผู้สูงวัย หรือคนแก่ที่อยู่บ้าน ทางที่ดีลูกหลานที่กลับภูมิลำเนาควรกักตัว แยกอยู่ แยกกิน ตามระยะเวลาที่กำหนดจะปลอดภัยที่สุด
จากความเป็นห่วงในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน และอาจได้รับเชื้อจากลูกหลานที่เดินทางมาจากที่อื่น ทางวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ จึงแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับผู้สูงอายุ ไว้ดังนี้
จุฬาฯ ห่วงสูงวัย เกรงลูกหลานพาเชื้อมาติด
ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า ที่น่าห่วงมากที่สุดคือผู้สูงอายุที่อยู่กันตามลำพังหรือสองคนตายาย เพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนควรสอดส่องดูแลอาหาร น้ำ ยา และดูว่าท่านเหล่านั้นเกิดเจ็บป่วยหรือมีอาการบ่งชี้ว่าติดโควิด-19 หรือไม่
สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ซึ่งเดินทางกลับไปภูมิลำเนาหลังมีคำสั่งปิดสถานที่สำคัญในกทม. ตามที่เป็นข่าว กลุ่มนี้มีความน่ากลัวมากที่จะมีโอกาสเอาเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับไปติดผู้สูงอายุ หรือผู้ใหญ่ด้วย อยากให้คิดถึงตรงนี้ให้มากๆ
“ ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อตัวนี้ หากเรากลับไปใช้ชีวิตร่วมกับพวกท่านก็ควรกักตัวเอง แยกกันกิน แยกกันอยู่สัก 14 วัน แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยมากที่สุด ลูกหลานไม่ควรย้ายกลับไป ต้องจำเอาไว้เลยว่าสำหรับผู้สูงอายุเสี่ยงติดโรคได้ง่าย เลี่ยงได้ควรอยู่บ้าน”
ศ.ดร.วิพรรณ ยังตั้งข้ออสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า การที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการสูญเสียชีวิตของประชากรสูงจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางอายุของประชากรที่เป็นผู้สูงวัย โดยส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด เช่น ญี่ปุ่นซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเป็นอันดับหนึ่งของโลกโดยมีประชากรสูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป สูงถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับอิตาลีที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยเป็นอันดับที่สองรองลงมาจากญี่ปุ่น ก็สูญเสียผู้สูงวัยจากโรคระบาดครั้งนี้อย่างเป็นประวัติการณ์
ส่วนประเทศไทยเองนับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วตามประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยปัจจุบันมีผุ้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน ดังนั้น หากไม่มีการเตรียมทรัพยากรหรือมีนโยบายเพื่อมารองรับกับสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้อย่างทันท่วงที อาจทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียผู้สูงอายุซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานออกมาระบุอย่างแน่ชัดว่าทำไมผู้สูงอายุถึงมีความเสี่ยงต่อโควิด-19 มากกว่าวัยอื่นๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าสุขภาพโดยรวมของคนๆ นั้นจะแข็งแรงสมบูรณ์ดีก็ตาม ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ปอด ตับ ไต ฯลฯ ยิ่งเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่าอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัยนั่นเอง
เมื่อผู้สูงอายุในครอบครัวของเราตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสแบบนี้ เราจะมีวิธีดูแลผู้สูงอายุไม่ให้ติดเชื้อในช่วงนี้ได้อย่างไร ลองปฏิบัติตามคำแนะนำจาก หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้สูงวัยในบ้านของคุณกัน
วิธีดูแลสุขภาพ “ผู้สูงอายุ” ให้ห่างไกลจากโควิด-19
- ให้ผู้สูงอายุล้างมือ หรือล้างมือให้ผู้สูงอายุด้วยสบู่นาน 20 วินาที (ชวนร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบก่อนล้างน้ำสะอาด) หากไม่สะดวกล้างมือด้วยสบู่ สามารถใช้เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้สูงอายุ และไม่ให้ผู้สูงอายุไปสัมผัสมือ และร่างกายของคนอื่น
- ไม่พา หรือปล่อยให้ผู้สูงอายุไปรวมกลุ่ม ร่วมกิจกรรม หรือไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่รวมกันเยอะๆ
- ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้สูงอายุสัมผัสบ่อยๆ ทุกวัน (อาจจะวันละมากกว่า 1 ครั้ง)
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้สูงอายุใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เป็นต้น
- งดกิจกรรมการเดินทางร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ เช่น ทัวร์เที่ยวต่างประเทศ ขึ้นเรือสำราญ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนอื่นๆ หรือญาติต่างๆ ที่กำลังป่วย
- หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก เช่น ไปซื้อของ เลือกไปที่ที่มีคนน้อยกว่า เช่น เลือกไปซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ มากกว่าไปห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมากให้ได้มากที่สุด
- หากมีโรคประจำตัวที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ลองสอบถามแพทย์ประจำตัวดูว่ามีความจำเป็นต้องไปหรือไม่ สามารถพูดคุยปรึกษาผ่านวิดีโอคอลได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งการสั่งจ่ายยาออนไลน์โดยส่งยามาให้ที่บ้าน หรือให้ผู้ป่วยรับยาได้เองที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล รวมถึงสอบถามแพทย์ด้วยว่าสามารถซื้อยามาเก็บตุนไว้โดยไม่ต้องออกไปซื้อยาบ่อยๆ เหมือนเดิมได้หรือไม่
- ระมัดระวังในการปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวด้วย แม้ว่าจะปลอดภัย แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ คนในครอบครัวยังต้องดูแลเอาใจใส่ พูดคุย หรือใครที่อยู่ห่างไกลจากผู้สูงอายุที่เป็นญาติผู้ใหญ่ ยังควรโทรหา หรือวิดีโอคอลถามสารทุกข์สุกดิบบ้าง
- เตือนให้ผู้สูงอายุอย่าลืมทำกิจกรรมเดิมๆ ที่เคยทำแม้ว่าจะอยู่คนเดียว หรือไม่ได้เจอเพื่อน เช่น หากเคยทำอาหาร รดน้ำต้นไม้หน้าบ้าน หรือทำกายบริหารเบาๆ ก็ควรยังทำอยู่ต่อไป อย่าขาด
- หากมีอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบติดต่อลูกหลานทันที โดยลูกหลานอาจตั้งเบอร์โทรด่วน (เช่น กด 1 ค้าง) แล้วโทรเข้าเบอร์ลูกหลานทันทีเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย
ที่สำคัญลูกๆ หลานๆ ควรห่วงใยกลุ่มเสี่ยง ใส่ใจผู้สูงอายุให้มากๆ และฟังคำแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุขที่ออกมาตือน หรือออกมาแนะนำแนวทางป้องกัน ทำตามนั้นรับรองว่าตาจ๋า ยายจ๋า ห่างไกลเจ้าไวรัสร้ายโควิด-19 แน่นอนค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ