ตามดูพฤติกรรมการดูแลเท้าของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานที่ควรทำ!
สำหรับใครที่ต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องให้ความสำคัญให้มาก โดยเฉพาะการดูแลระวังรักษาเท้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง หรือเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงมากกว่าคนปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ อาจลุกลามถึงต้องเสียนิ้วหรือเสียขา สิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการเอาใจใส่สำรวจเท้าทุกวัน ถ้าเกิดความผิดปกติควรได้รับการดูแลแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
สาเหตุที่ผู้เป็นเบาหวานเกิดแผลที่เท้าง่ายกว่าคนปกติ
ส่วนมากแล้วโรคเบาหวานจะมีอาการชาปลายมือปลายเท้า ซึ่งเกิดจากปลายประสาททำงานลดลงและสูญเสียการทำงาน ทำให้ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ประกอบกับระบบไหลเวียนของเลือดที่ปลายทือปลายเท้าทำงานไม่ดี ทำให้เกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัวบ่อยๆ โดยเฉพาะเท้ากว่าจะสังเกตพบแผลก็ลุกลามไปมาก เมื่อประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อขาและเท้าเสื่อม กล้ามเนื้อจะแฟบลงทำให้รูปร่างของเท้าผิดปกติ นิ้วเท้างอขึ้นเท้ารับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ บริเวณที่รับน้ำหนักมากหรือถูกกดอยู่เป็นเวลานานจะหนาขึ้นเกิดเป็นตาปลาหรือเป็นแผล
.การไหลเวียนของโลหิตที่ไปสู่ขาลดลง เนื่องจากผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้น ทำให้ขาดออกซิเจน ผิวหนังจะบางลง แผลหายช้า เกิดอาการปวดน่องเวลาเดิน ถ้าเป็นมากจนหลอดเลือดอุดตันเนื้อเยื่อส่วนปลายจะตายมีสีคล้ำดำขึ้น จนต้องตัดนิ้วหรือนิ้วแห้งดำหลุดไปได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในโลหิตสูงอยู่นาน จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังระหว่างนิ้วเท้า ทำให้ผิวหนังถลอกมีแผลเกิดขึ้น อาจจะมีเชื้อโรคที่รุนแรงเกิดขึ้นตามมา
การแก้ปัญหาการเกิดแผลที่เท้าของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน
ปัญหาดังกล่าวผู้ดูแลผู้ดูแลผู้สูงอายุสามารถที่จะแก้ไขได้ดังนี้
1.ต้องคอยดูแลเท้า หรือตรวจเท้าทุกวันว่ามีบาดแผลหรือไม่ โดยใช้แว่นขยายเป็นเครื่องมือช่วยในการส่องดูเท้าได้อย่างทั่วถึงว่ามีรอยแตก มีรอยแดง แผลพุพอง ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ขุยขาวที่ซอกนิ้วเท้า ตาปลาและสีเล็บ หรือไม่ หากมีควรปรึกษาแพทย์ทันที
2.ทำความสะอาดเท้า ล้างเท้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่และน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น ไม่ใช้น้ำเย็นจัดหรือร้อน เช็ดเท้ารวมทั้งตามซอกนิ้วเท้าให้แห้ง อย่าถูแรง
3.นวดผิวหนังที่ขาและเท้าด้วยน้ำมันวาสลิน หรือโลชั่นเพื่อให้ผิวหนังนุ่ม ป้องกันผิวแห้งและป้องกันอาการคันและเกาจนเกิดแผล แต่ไม่ควรทาบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า หรือหากท่านมีแผลห้ามทาบริเวณที่เป็นแผลนั้นๆ
4.เราควรใส่ใจเรื่องเล็บของท่านด้วย ก่อนที่จะตัดเล็บควรให้ท่านเอาเท้าแช่น้ำอุ่นสักพักในกรณีที่ไม่มีแผล แล้วต่อยๆ ตัดเล็บท่านในแนวตรงอย่าตัดลึกเข้าไปในบริเวณมุมเล็บเพราะอาจทำให้เกิดบาดแผล หรือเล็บขบได้
5.ควรให้ท่านใส่รองเท้าที่ถูกต้องแบบรัดส้นเท้ารองเท้าต้องนุ่มสบาย ใส่สบาย ระวังถ้าใส่รองเท้าคู่ใหม่ไม่ควรเดินเกินครั้งละ 1/2-1 ชั่วโมง ควรมีรองเท้า 2-3 คู่ ที่เหมาะสมไว้สับเปลี่ยน หรือให้ท่านใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีที่เป็นสิ่งผิดปกตินั่นเอง โดยถุงเท้าที่ใส่ต้องสะอาด และไม่ใช้ถุงเท้าที่รัดเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก
6.อย่านั่งไขว้ขา เพราะจะกดเส้นเลือดทำให้โลหิตไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก หมั่นบริหารเท้า เพื่อให้มีการไหลเวียนของโลหิตไปสู่เท้าดีขึ้น ควบคุมเบาหวานให้ดี รักษาระดับน้ำตาลอยู่ให้ระหว่าง 80-130 มก./ดล. และให้ท่านออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดเท้าดีขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ดูแลควรพาผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานไปพบแพทย์ทันทีเมื่อพบว่าเท้าของท่านมีแผล เท้ามีอาการชา และดูว่าเท้าของท่านเย็นผิดปกติ และเปลี่ยนสีเป็นคล้ำลง เมื่อท่านเดินจะเป็นตะคริวที่ขา พบเห็นว่าผิวหนังถลอกบริเวณร่องนิ้ว หรือพบว่าพวกท่านมีไข้สูง ปวดบวมแดงที่แผล ควรพาไปพบแพทย์ด่วน อย่าปล่อยไว้อย่างเด็ดขาดค่ะ
ข้อมูลประกอบจาก: สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เรื่องนี้เพื่อวัยเก๋า…ใช้ชีวิตในห้องน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ!
“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ
เรียนรู้เรื่อง “การล้ม” ปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้สูงอายุ !