หมดประจำเดือน

3 อาการทำเตียงหัก หลังหมดประจำเดือน

3 อาการทำเตียงหัก หลังหมดประจำเดือน

ความรักของคู่แต่งงานใหม่นั้นแสนชื่นมื่น ขนาดน้ำต้มผักที่ขมยังชมว่าหวานเมื่อกาลเวลาผ่านไปความสาวไม่อาจคงอยู่ไปตลอดกาล หากฝ่ายหญิงเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือน หรือมี อาการวัยทอง แล้วร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชีวจิต จึงขอนําเสนอวิธีดูแลสุขภาพเพื่อรับมือกับ 3 อาการสําคัญหลังเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนอย่างอาการร้อนวูบวาบหรือเหงื่อออกตอนกลางคืนช่องคลอดแห้งและน้ำหนักตัวขึ้นเพื่อช่วยคงความสดชื่นตามวัย สามารถครองรักครองเรือนได้ราบรื่นไปอีกนานแสนนาน

เหงื่อออกกลางคืน พานอนไม่หลับ

เอ่ยถึงอาการยอดฮิตหลังเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้นอาการร้อนวูบวาบ ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมน    เอสโทรเจน (Estrogen) ลดลงส่งผลให้ระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกายซึ่งทํางานร่วมกับสมองส่วนไฮโปทาลามัสทํางานผิดปกติไปทําให้รู้สึกร้อนจากภายในส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที จากนั้นอาจกลับมาใหม่ได้และมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนทําให้นอนหลับไม่สนิท

สิ่งที่ตามมานั้นส่งผลกระทบต่อการครองคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้งานวิจัยใจ Journal of Clinical Endocrinology&Metabolism  ระบุว่าเมื่อชายหรือหญิงมีปัญหาในการนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลียหงุดหงิดง่ายและทําให้ความต้องการทางเพศลดลง

คราวนี้เราลองไปสํารวจพร้อมๆ กันว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพศหญิงในต่างประเทศมีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไรบ้าง

ปัญหาชีวิตคู่

วิธีสุดฮิตของชาวอเมริกัน

ลิซ เชียเรอร์(Liz Scherer) นักเขียนบทความสุขภาพชาวอเมริกัน วัย 52 ปี เจ้าของบล็อกชื่อ Flashfree:Not Your Mama’s Menopause มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีรับมือเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนซึ่งได้รับความนิยมในประเทศสหรัฐอเมริกาเล่าถึงประสบการณ์ของเธอไว้ว่า

“หลังหมดประจําเดือนดิฉันตื่นมาในสภาพเหงื่อท่วมตัวแทบทุกวันจึงตัดสินใจเลือกใช้สมุนไพรจีนเพื่อบรรเทาอาการโดยไปพบแพทย์แผนจีนและได้รับตัวยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหลักๆ จากแบล็ก โคฮอช(Black Cohosh) เป็นพืชล้มลุกมีดอกสีขาวคล้ายแส้ม้าโรดิโอลา(Rhodiola) พืชขนาดเล็กมีดอกสีเหลืองเติบโตในเขตเทือกเขาแอลป์และเชสต์เบอร์รี่ไม้พุ่มขนาดกลางมีดอกสีม่วงรวมถึงน้ํามันปลาที่มีโอเมก้า-3 เสริมด้วย

“หลังจากกินสมุนไพรเหล่านี้ติดต่อกันไม่กี่สัปดาห์อาการเหงื่อออกตอนกลางคืนของฉันก็หายไปโดยสิ้นเชิง”

ดร.เทียราโอนา โลว์ ด็อก(Dr.Tieraona Low Dog) คณะกรรมการประเมินด้านความปลอดภัยในยาและอาหารเสริมกระทรวงสาธารณสุขประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่าการใช้สมุนไพรเหล่านี้ช่วยบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากภาวะหมดประจําเดือนมีผลต่อการปรับอารมณ์และจัดการความเครียดได้ดีขึ้นในกรณีที่เริ่มมีประจําเดือนลดลงจะช่วยปรับฮอร์โมนทําให้ลดอาการร้อนวูบวาบได้

วิธีทั่วไปใครก็ทําได้

หากคุณไม่ต้องการใช้สมุนไพรยังมีวิธีอื่นที่ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ ดร.เจน เอลเลียตต์(Jane Elliott) อดีตประธานชมรมวัยทองออสเตรเลีย(Australian Menopause Society) แนะวิธีบรรเทาอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกเวลากลางคืนเพิ่มเติมเอาไว้ ดังนี้ “คุณสามารถใช้การประคบเย็นด้วยแผ่นเจลซึ่งช่วยให้เหงื่อระเหยและนําความร้อนออกจากผิวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ กินอาหารที่มีประโยชน์และออกกําลังกายอย่างสม่ําเสมอเพราะมีส่วนช่วยทางอ้อมเมื่อสุขภาพแข็งแรงขึ้นช่วยให้รับมือกับภาวะดังกล่าวได้ดีขึ้น”

ช่องคลอดแห้ง อาการหลักหญิงวัยทอง

การเข้าสู่วัยทองไม่ได้หมายความว่าความสุขในชีวิตคู่จะเหือดหายไปเสียทั้งหมด แม้ลักษณะทางกายภาพของช่องคลอดจะเปลี่ยนไปเนื่องจากหลังเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนจะลดลงทําให้ช่องคลอดขาดความยืดหยุ่นน้ำหล่อลื่นออกน้อยความเป็นกรดของช่องคลอดเปลี่ยนไปแต่ยังมีวิธีการอื่นๆ ที่ช่วยให้หญิงวัยทองสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ

หญิงชายทะเลาะกัน

วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวตรงกับหนึ่งในวิธีที่แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุ โขสูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลพิจิตร ที่ได้เคยแนะนําในคอลัมน์เปิดห้องหมอสูติตอนปัญหาช่องคลอดแห้งซึ่งลงตีพิมพ์ในนิตยสารชีวจิตฉบับที่373วันที่ 16 เมษายน 2557 ดังนี้

  • ใช้น้ำยาหล่อลื่นเลือกใช้เจลที่มีส่วนผสมจากน้ําไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่เป็นน้ำมัน เช่น วาสลีนหรือน้ำมันพืชเพราะอาจเกิดการตกค้างภายในทําให้มดลูกและอุ้งเชิงกรานอักเสบได้
  • ขมิบช่องคลอด ช่วยให้โลหิตไหลเวียนดี กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หูรูดรูปัสสาวะ และหูรูดรูทวารหนักแข็งแรงช่วยเพิ่มน้ำหล่อลื่นทําได้โดยขมิบเกร็งเหมือนกลั้นปัสสาวะอุจจาระนับ1-5 แล้วคลาย ทําให้ครบ 10 ครั้ง นับเป็น 1 เซต แนะนําให้ทําวันละ30-100 เซต
  • กินถั่วเหลือง เป็นอาหารที่มีฮอร์โมนไฟโตเอสโทรเจนตามธรรมชาติ กินวันละ 30-50 มิลลิกรัม เทียบเท่าเต้าหู้ก้อน 1 ก้อน เต้าหู้หลอด 1 หลอด หรือน้ำเต้าหู้ 1 แก้ว(250 ซีซี)

น้ำหนักเพิ่มไม่รู้ตัว เพราะฮอร์โมนเปลี่ยน

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่มักเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือน คือ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ น่าเสียดายที่ผู้หญิงหลายคนมองข้ามปัญหานี้เมื่อเวลาล่วงเลยรูปร่างจึงเปลี่ยนไปไม่อาจกลับไปสวมชุดสวยๆ ไซส์เดิมได้อีก

ทําให้ฝ่ายชายพลอยคิดว่าเมื่อภรรยาของตนรูปร่างไม่ชวนมองเหมือนแต่ก่อนเสียแล้วความรักใคร่ใกล้ชิดสนิทสนมจึงค่อยๆ เหือดหายไป แท้จริงแล้วปัญหาน้ำหนักตัวเกินหลังเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนมีสาเหตุจากอะไร

ดร.เจน เอลเลียตต์ ได้อธิบายไว้ดังนี้ เมื่อฮอร์โมนเอสโทรเจน(Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ลดลงระบบเผาผลาญก็ทํางานลดลง จึงมีส่วนทําให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละครึ่งกิโลกรัมโดยไขมันไม่ไปสะสมที่สะโพกต้นขาและก้นเหมือนตอนที่ยังมีประจําเดือนแต่จะเปลี่ยนไปสะสมที่หน้าท้องแทน

น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากต้องการรักษารูปร่างให้คงสัดส่วนตามเดิมหลังหมดประจําเดือนแล้วจึงจําเป็นต้องปรับเรื่องอาหารเลือกอาหารที่ให้โปรตีนสูงและไขมันต่ําอย่างเห็ดและเต้าหู้ลดปริมาณไขมันและของหวานที่สําคัญต้องเพิ่มความถี่ในการออกกําลังกายและทําอย่างต่อเนื่องเป็นประจําไม่ต่ำกว่าวันละครึ่งชั่วโมงด้วย”

กูรูชีวจิตแนะ สู้วัยทองด้วยวิตามิน

ฟังดูแล้วการเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เอาเสียเลยแต่ อาจารย์สาทิส อินทรกําแหง กูรูต้นตํารับชีวจิตกลับมองเห็นเป็นสภาวะธรรมชาติที่ใช้องค์ความรู้ชีวจิตมาดูแลได้สบายๆ โดยอธิบายไว้ในคอลัมน์ปัญจกิจสุขภาพนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 341วันที่16ธันวาคม 2555 ว่า การเจ็บป่วยของร่างกายเกิดจากความเสื่อมของร่างกายอาการต่างๆของวัยทองโดยเฉพาะอาการร้ายแรง เช่น สมองเสื่อม อารมณ์ร้าย กระดูกพรุน และปวดเนื้อปวดตัว ล้วนสามารถป้องกันได้ แต่ต้องทําเสียแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ยังสาวด้วยการปฏิบัติตัวให้แข็งแรงตามสูตร5 เล็ก กิน นอน พักผ่อน ออกกําลังกายและทํางานให้สมดุล

ร่างกายของเรานั้นเมื่อฮอร์โมนอย่างหนึ่งลดลงฮอร์โมนตัวอื่นๆ จะค่อยๆ เข้ามาทดแทน ไม่ช้าร่างกายก็จะปรับตัวได้และมีความสุขตามอัตภาพโดยไม่ต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน(Hormone Replacement Therapy) นอกจากนี้ อาจารย์ยังแนะนําให้กินวิตามินและแร่ธาตุเพื่อบํารุงสุขภาพเมื่อเข้าสู่ภาวะหมดประจําเดือนเอาไว้ ดังนี้

  • วิตามินเอ ซี ดี อี(กลุ่มแอนติออกซิแดนต์) อย่างละ1 เม็ดทุกวัน
  • วิตามินบี1 บี6 บี12 อย่างละ1 เม็ดทุกวัน
  • กรดโฟลิกเช้า-เย็น ครั้งละ 1 เม็ด
  • แคลเซียมเช้า-เย็นครั้งละ1เม็ด
  • แมกนีเซียมเฉพาะมื้อเช้า1 เม็ดเพื่อช่วยในการดูดซึม

รู้แบบนี้แล้วสบายใจได้เลยค่ะว่าหากคุณเลือกวิธีดูแลสุขภาพหลังหมดประจําเดือนที่สอดคล้องกับการทํางานของร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติรับรองว่าสุขภาพจะแข็งแรงจิตใจเบิกบานสามารถคงความสุขสดชื่นในชีวิตคู่ไปได้อีกนาน ภาวะหมดประจําเดือนจะมาเยือนเมื่อไรก็ยิ้มรับได้…สบายอยู่แล้ว

ที่มา: นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 376

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

6 วิธีรับมือวัยทอง ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

“วัยทอง” โรคและปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงทุกคนควรต้องรู้!!

แนะ !!! เมนูวัยทอง ลองแล้วจะเลิฟ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.