แก้ ” ถ่ายยาก ” ด้วยการกินมื้อเช้า
วันนี้ผู้เขียนหยิบยกปัญหาที่ทางลูกเพจของ เพจนิตยสารชีวจิตมักประสบบ่อย ๆ นั่นก็คือ ถ่ายยาก ธาตุหนัก ขับถ่ายไม่เป็นเวลา ประจวบเหมาะกับได้ไปเจอคำแนะนำดีๆจากเว็บไซต์ LIVESTRONG มาดูกันเลยว่าเขาแนะนำแบบไหนบ้าง
ข้าวโอ๊ต
อุดมไปด้วยใยอาหารทั้งละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ทั้งยังเป็นพรีไบโอติกส์ ช่วยดูแลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
กาแฟ
แม้จะไม่แนะนำให้ดื่มมากๆ แต่ดื่มตอนมื้อเช้าช่วยได้มาก เพราะคาเฟอีนจะไปกระตุ้นกระเพาะอาหารให้เกิดกรด และกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนไหว
ผลไม้
อุดมไปด้วยในอาหารและน้ำ ช่วยกระตุ้นลำไส้ ผลไม้แนะนำคือกล้วย เพราะมีอนูลินที่เป็นพรีไบโอติกส์ ดีต่อลำไส้เข้าไปอีก
โยเกิร์ต
มีโพรไบโอติกส์ โดยเฉพาะแลคโตบาซิลัส คาเซอิ ที่ช่วยทำให้อุจจาระนุ่มลงได้
ก็แค่กินมื้อเช้า
หลายคนมักข้ามมื้อเช้าไป แต่ความจริงแล้วการกินมื้อเช้า ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยให้ระบบย่อยเริ่มกระบวนการทำงานโดยอัตโนมัติ
สูตรเน้นใยอาหาร ช่วยขับถ่ายคล่อง
การกินใยอาหารไม่ถูกวิธีนอกจากไม่ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง อาจทำให้อาการท้องผูกทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ฉะนั้นเรามาเรียนรู้วิธีกินใยอาหารเพื่อสุขภาพกันเถอะค่ะ
กินใยอาหารในปริมาณที่เพียงพอ สำหรับผู้ใหญ่ต้องการใยอาหารวันละ 25 – 35 กรัม เทคนิคการกินใยอาหารให้เพียงพอทำได้ง่ายๆ โดยกินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน และกินธัญพืชไม่ขัดสีอย่างน้อยวันละ 3 ส่วน
ผัก 1 ส่วน = ผักสด 1 ทัพพี ผักสุก 1/2 ทัพพี เช่น บรอกโคลี ผักโขม แครอต
ผลไม้ 1 ส่วน = แอ๊ปเปิ้ล ส้ม หรือกล้วยน้ำว้า 1 ผลกลาง ลูกพรุนแห้ง 4 ผล
ธัญพืช 1 ส่วน = ข้าวกล้อง 1 ทัพพี ข้าวโอ๊ตสุก 1/2 ถ้วย รำข้าวโอ๊ต 1/4 ถ้วย ถั่วเมล็ดแห้งสุก เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ปริมาณ 1/2 ถ้วย
ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะใยอาหารอาศัยน้ำในการช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวสามารถเคลื่อนที่ในระบบทางเดินอาหารและขับออกได้ง่าย จึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
4 วิธี แก้ท้องผูก ขับถ่ายดี ง่าย สไตล์แพทย์แผนจีน
แพทย์แผนจีนโสรัจ นิโรธสมาบัติ รองคณบดี คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉลียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การขับถ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายขับของเสียและสารพิษตกค้างออกไปได้ ดังนั้นถ้ามีอาการท้องผูกเป็นเวลานานย่อมทำให้ของเสียค้างในร่างกาย เกิดการสะสมสารพิษได้ โดยแบ่งได้ 4 ประเภท และมีวิธีบรรเทาอาการที่แตกต่างกัน ดังนี้
1. กินอาหารรสเผ็ดหรือหวานมัน
หากกินปริมาณมากเกินไป จะทำให้ความร้อนเข้าสู่ลำไส้ น้ำในลำไส้แห้ง อุจจาระจึงเคลื่อนตัวออกมาไม่ได้ เกิดการตกค้างในลำไส้ ยิ่งทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้งแข็ง มักมีอาการร่วมเกิดขึ้น ได้แก่ คอแห้ง กระหายน้ำ มีกลิ่นปาก และปัสสาวะอาจมีสีเข้ม
วิธีแก้ไข
ใช้การขับความร้อนและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำไส้ เพื่อให้อุจจาระเดินทางได้สะดวก โดยแนะนำให้กินกล้วย ฝรั่ง มะละกอ มันเทศ แตงกวา ถั่วงอก มะเขือเทศ ฟัก และผักบุ้งค่ะ
2. กินอาหารที่ดิบหรือเย็นมากเกินไป
เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม ผลไม้แช่เย็น ทำให้ความเย็นเข้าสู่ลำไส้ ชี่ที่ลำไส้ไหลเวียนไม่สะดวกจนเกิดอาการท้องผูกขึ้นได้ มีอาการรถ่ายอุจจาระยาก แต่อุจจาระไม่แห้งแข็ง มักมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง มือเท้าเย็นร่วมด้วย
วิธีแก้ไข
ใช้วิธีเพิ่มความอุ่นให้ลำไส้ ขจัดความเย็นออกโดยกินหัวหอม ขิง ข่า ต้นหอม และเพิ่มปริมาณพริกในการปรุงอาหาร
3. มีความเครียดสะสมหรือนั่งมาก ขาดการออกกำลังกาย
ทำให้การไหลเวียนของชี่ที่ลำไส้ติดขัด ขับอุจจาระออกยาก นอกจากอุจจาระแห้งแล้ว ยังมีอาการปวดอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายออกแต่ไม่สุด ผายลมหรือเรอบ่อย
วิธีแก้ไข
ต้องกระตุ้นการไหลเวียนของซี่ให้กลับมาเป็นปกติแนะนำให้กินหัวไช้เท้า แครอท มะละกอ กล้วย ส้ม มะนาว แอปเปิลเขียว
4. การเจ็บป่วย
เช่น สตรีหลังคลอด ร่างกายอ่อนแอ เป็นผู้สูงอายุหรือคนที่มีเลือดลมน้อย ทำให้ลำไส้ไม่มีแรงบีบตัว ถ่ายอุจจาระลำบาก
วิธีแก้ไข
หากเป็นกลุ่มชี่พร่อง ลักษณะอุจจาระจะไม่แห้งแข็ง แต่จะไม่มีแรงเบ่ง ต้องกินอาหารที่บำรุงชี่ช่วยขับถ่าย เช่น ซุปฟักทอง ซุปงาดำพุทราจีนใส่น้ำผึ้ง
หากเป็นกลุ่มเลือดพร่อง ลักษณะอุจจาระจะแห้งแข็ง และมีอาการหน้าซีด เวียนศีรษะ หน้ามือดร่วมด้วย แนะนำให้กินอาหารที่บำรุงเลือด ช่วยขับถ่าย เช่น ซุปงาดำใส่ตังกุย ลูกหม่อนหรือน้ำลูกหม่อน
หากเป็นกลุ่มหยินพร่อง อุจจาระแห้งแข็งเป็นเม็ด ๆ และมีอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับหรือนอนดึกร่วมด้วย ต้องใช้อาหารบำรุงหยินช่วยขับถ่าย เช่น กล้วย เห็ดหูหนูขาว น้ำผึ้ง งาดำ
หากเป็นกลุ่มหยางพร่อง อุจจาระอาจแข็งหรือไม่ก็ได้ แต่จะถ่ายออกยาก ปัสสาวะจะมากและใส แขนขาเย็น ต้องกินอาหารที่บำรุงหยางและช่วยขับถ่าย เช่น ต้นหอม กุยช่าย ถั่ว วอลนัท หรือใช้ขิง ข่า พริกหอมเสฉวนในการปรุงอาหาร
(อ่านเพิ่มเติม 4 สุดยอดวิธีแก้ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ให้ระบายง่ายถ่ายสะดวก )
ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต 532
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ท่าโยคะแก้ท้องผูก สุดง่าย ทำตามได้ สบายท้อง
ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
ติดตามชีวจิตได้ที่