แผลร้อนใน ปัญหากวนตัวกวนใจที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น
“โอ๊ย… ปากเป็นแผลร้อนใน อีกแล้ว” เราเป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นแผลร้อนในปากบ่อยมาก ๆ บางครั้ง 5-8 วันก็หาย แต่บางครั้งก็นานถึง 1-2 สัปดาห์กว่าจะหาย ต้องทนเจ็บแสบร้อน ลำบากทั้งเวลากินอาหารและเวลาพูด ปัญหานี้เป็นสิ่งที่มากวนตัวกวนใจเราอยู่เรื่อย เราเชื่อว่าอาการร้อนในปากเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากจะเป็นกัน เมื่อเป็นแล้วแสนจะทรมาน กินอะไรก็ไม่อร่อย
แต่หลายคนที่เคยเป็นอาจยังไม่รู้ว่าแผลร้อนในคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมต้องเป็นร้อนใน ถ้าเกิดเป็นแล้วเราต้องดูแลรักษาอย่างไร หรือมีวิธีป้องกันไหม วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ
แผลร้อนในคืออะไร?
คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า “แผลร้อนใน” คือ โรคที่เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อบุผิวช่องปาก อาจเกิดเพียงหนึ่งหรือหลายแห่ง ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก โดยจะเกิดเป็นจุดแดงหรือตุ่ม ต่อมาจะพัฒนาแยกออกมาเป็นแผลเปิด มีลักษณะเป็นสีขาว รูปวงรี โดยมีขอบเป็นสีแดงนูนออกมา โดยระยะเวลาของอาการอาจเกิดได้ตั้งแต่ 1 ถึง 2 สัปดาห์ พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยผู้หญิงพบได้บ่อยกว่าผู้ชาย มักพบที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก
6 สาเหตุหลักของแผลร้อนใน คือ
- ความเครียด หรือกังวล
- การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ขาดวิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารบางชนิด
- แพ้สารเคมี หรือแพ้อาหารบางชนิด
- กรรมพันธุ์
- การกัดโดนเนื้อเยื่อ
หากคุณเป็นแผลร้อนใน ไม่ต้องกลัวนะคะ เรามีวิธีการดูแลรักษาให้สามารถหายได้ มาดูกันค่ะ
วิธีการดูแลรักษา
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสจัด หรือแอลกอฮอล์
- เปลี่ยนไปใช้หลอดดูดแทนการดื่มน้ำจากแก้วโดยตรง
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป และเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่ผสมจากมิ้นต์
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละ 2 ครั้ง
- หากแผลรุนแรงให้ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ป้ายบริเวณแผล ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
- หากแผลไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
นอกจากนี้ เรายังมีวิธีการป้องกันง่าย ๆ 4 วิธีด้วยกันค่ะ
4 วิธีป้องกันแผลร้อนใน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่ให้ตนเองเครียด
- กินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เลี่ยงการกินอาหารที่เป็นฤทธิ์ร้อน ของทอด และของมัน
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ ในอุณหภูมิห้อง ควรเลี่ยงน้ำเย็นจนเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีอยู่เสมอ
เห็นไหมคะว่าแผลร้อนในนั้นเป็นปัญหากวนตัวและกวนใจของเราเป็นอย่างมากเลยทีเดียว หากใครไม่อยากเป็นร้อนในก็ขอให้ดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีตามไปด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
………………………………………………………………………………………………..
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ลลิตา ศรีหาบุญมา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แผลร้อนใน โรคของช่องปาก ที่เป็นกันบ่อย
7 สมุนไพรแก้ร้อนใน ดับร้อน ป้องกันสิวเห่อ
อาหารตัวช่วยสยบ แผลร้อนใน