ผลของน้ำมันหอมระเหย

ผลของน้ำมันหอมระเหย (Aroma Therapy) ต่อการทำงานของร่างกาย

ผลของน้ำมันหอมระเหย (Aroma Therapy) ต่อการทำงานของร่างกาย

ผลของน้ำมันหอมระเหย (Aroma Therapy) ต่อการทำงานของร่างกาย ตำราวิชาการสุคนธบำบัด โดยกองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์ แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายการทำงานของน้ำมันหอมระเหยต่อร่างกายไว้ดังนี้

การดมกลิ่น เมื่อน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดดม ผ่านเข้าทางจมูกพร้อมกับออกซิเจนที่หายใจเข้าไป และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางเส้นเลือดฝอย ภายในปอด ทำให้สามารถกระจายไปทั่วร่างกายได้

การทาและการนวดผ่านผิวหนัง โมเลกุลของน้ำมันหอมละเหย จะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ ระบบเส้นเลือดฝอย แล้วกระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ตามระบบหมุนเวียนโลหิตได้ เช่นเดียวกับการสูดดม

เมื่อน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ดังนี้

  • การส่งผลต่อระบบประสาท เมื่อสูดดมเข้าไป จะมีผลต่อระบบประสาทในการสั่งงาน โดยเฉพาะระบบลิมบิก (Limbic System) ซึ่งประกอบไปด้วยทาลามัส (Thalamus) ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูล จากตัวรับความรู้สึกสัมผัส ไปยังเปลือกสมองไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ควบคุมแรงกระตุ้นทางเพศ และสิ่งเร้าอื่น ๆ อะมิกดาลา ( Amygdala) ทำหน้าที่ควบคุมความกระวนกระวายใจ และความกลัว ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีบทบาทเกี่ยวกับ การเรียนรู้และความจำ
  • การส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ต่อมไร้ท่อเป็นต่อมขนาดเล็กกระจายอยู่ตามร่างกาย ทำงานร่วมกับระบบประสาท ส่งผลให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ และสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ ระบบประสาทจะทำงานผ่านกล้ามเนื้อ และต่อมต่าง ๆ โดยส่งกระแสไฟฟ้า และสารเคมีไปตามเส้นประสาท ด้วยความเร็วสูง

ขณะเดียวกัน ต่อมไร้ท่อจะหลั่งฮอร์โมนไปตามกระเเสเลือด กระจายไปสู่เซลล์เป้าหมายที่อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยฮอร์โมนจะทำหน้าที่ควบคุม และรักษาสภาวะสมดุลภายในร่างกาย เช่น รักษาระดับเกลือเเร่ และน้ำ ภายในร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลต่อฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยควบคุมไขมันในร่างกาย และอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความกลัว ความโกรธ ความสุข และความเศร้า

เมื่อ “น้ำมันหอมระเหย” ถูกส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว จะถูกขับออกภายใน 48 ชั่วโมง

สุดท้าย เพื่อคงคุณภาพของน้ำมันหอมระเหย ควรเก็บในขวดทึบแสง เพื่อชะลอการละลายตัว ที่ทำให้ฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยลดลง และเกิดการสลายตัวทางเคมี อีกทั้ง อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ตัวอย่าง เช่น น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกต้นสนที่สลายตัว แล้วก่อให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น

จากเหตุบังเอิญสู่การศึกษาน้ำมันหอมระเหย

คำว่า “อโรมาเทอราปี” บัญญัติขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Rene – Maurice Gattafosse ในปี 1910 เขาเกิดแผลไฟที่ลวกที่มืออย่างรุนแรง เพราะมีการระเบิดในห้องทดลอง ในห้องทดลองของตัวเอง จึงใช้น้ำมันหอมระเหย จากดอกลาเวนเอดร์ ทามือ ปรากฏว่าอาการปวดลดลง แผลไม่เน่า และสมานตัวกัน โดยไม่เกิดแผลเป็น เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาหันมาศึกษาประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยอย่างจริงจังต่อเนื่องตลอดชีวิต และนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้รักษาผู้ป่วย ในโรงพยาบาลทหารยุคสงครามโลก ครั้งที่ 1 องค์ความรู้ที่ได้จากทั้งการค้นคว้า และใช้จริงกับผู้ป่วย ทำให้เขาสามาถรวบรวมข้อมูล และตีพิมพ์เป็นตำราการใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อรักษาสุขภาพ ในปี 1937

ต่อมา ในช่วงสงครามอินโดจีน ปี 1948 – 1959 Dr. Jean Valnet ผู้ช่วยแพทย์ทหาร ด้านการผ่าตัดชาวฝรั่งเศส ใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อรักษาบาดแผล และแผลเนื้อตาย เพื่อทดแทนยาที่ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบัน หลังสงครามสงบ เขาได้ศึกษาผลของการใช้น้ำมันหอมระเหยเพิ่มเติม และนำไปใช้ดูแลผูป่วยที่มีอาการผิดปกติทางจิตได้ผลดี นำมาสู่การรวบรวมองค์ความรู้ มาตีพิมพ์เป็นหนังสือ The Practice of Aromatherapy ที่ต่อมาได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1980

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพจาก Pixabay

ชีวจิต 533 – ฉบับพิเศษ 100 วิธี กิน อยู่ หยุดอ้วนถาวร

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 23 : 16 ธันวาคม 2563

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

CHECK กันก่อน เพราะ IF อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน

รู้จักการกินแบบ IF (GET TO KNOW INTERMITTENT FASTING)

ลดน้ำหนักแบบIF กับ หลักการเผาผลาญ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.