เนื่องจากปัจจุบันนี้มีการใช้เลนส์สัมผัสหรือ “คอนแท็คท์เลนส์” เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาแทนแว่นสายตากันมากขึ้น รวมถึงยังพัฒนาคอนแท็คท์เลนส์ ไปสู่การเป็นอุปกรณ์แฟชั่นเพื่อความงามกันด้วย แต่ท่ามกลางจำนวนการใช้ที่มากขึ้นนี้ ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลับไม่มีความรู้ในการใช้คอนแท็คท์เลนส์ที่ถูกต้อง
ดังคำอธิบายของคุณหมอจุฑาไลที่ว่า “ปัจจุบันคนใส่คอนแท็คท์เลนส์มากขึ้น โดยเฉพาะ
ในกลุ่มวัยรุ่นที่ใส่ คอนแท็คท์เลนส์ เพื่อความงาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนเหล่านี้เลือกที่จะซื้อคอนแท็คท์เลนส์ จากร้านสะดวกซื้อหรือตลาดนัด ซึ่งไม่มีผู้มีความรู้ทางการแพทย์คอยแนะนำวิธีการใช้และการล้างทำความสะอาดที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จึงไม่รู้จริง ๆ ว่าการใส่คอนแท็คท์เลนส์ที่ไม่สะอาดก่อให้เกิดโรคติดเชื้อที่ดวงตาได้”
โดยคุณหมอบอกว่า สาเหตุของการติดเชื้อดังกล่าวมีมากมาย อาทิ
ทำความสะอาดไม่ดี
คุณหมอจุฑาไลชี้แจงว่า ผู้ป่วยดวงตาติดเชื้อจากการสวมคอนแท็คท์เลนส์ส่วนหนึ่งยืนยันว่า ล้างทำความสะอาดคอนแท็คท์เลนส์แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ “เวลาทำความสะอาดคอนแท็คท์เลนส์ บางคนอาจรีบร้อน จึงล้างไม่นานพอ เมื่อนำคอนแท็คท์เลนส์มาใส่ สิ่งสกปรกที่ยังคงตกค้างอยู่อาจทำให้กระจกตาระคายเคือง เกิดแผล และเกิดการติดเชื้อได้ในที่สุด”
ใส่คอนแท็คท์เลนส์ข้ามคืน
คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า คนไข้ที่มีปัญหาติดเชื้อจากการใส่คอนแท็คท์เลนส์จำนวนหนึ่งมาจากการใส่ข้ามคืน โดยไม่ถอดออกมาทำความสะอาด ด้วยเหตุผลที่ทั้งเกิดจากความจำเป็น เช่น เดินทางไปต่างที่ แล้วลืมอุปกรณ์ล้างทำความสะอาด หรือบางคนก็แค่ขาดวินัย ขี้เกียจถอดคอนแท็คท์เลนส์ออกมาทำความสะอาด
“ผลจากการใส่คอนแท็คท์เลนส์ข้ามคืนคือ กระจกตาถูกคอนแท็คท์เลนส์ปิดไว้นานทำให้ขาดออกซิเจน เกิดเป็นแผลขนาดเล็ก ๆ ส่งผลให้เคืองตา บางรายแผลเหล่านี้เกิดอักเสบติดเชื้อทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น”
พฤติกรรมอื่น ๆ
คุณหมอจุฑาไลชี้แจงว่า “หมอเคยเจอคนไข้เล่าว่า มีการยืมคอนแท็คท์เลนส์เพื่อนมาใส่ บ้างก็ไปซื้อคอนแท็คท์เลนส์มือสองจากตลาดนัดมาใส่ บางคนเมื่อน้ำยาล้างคอแท็คท์เลนส์หมดก็ผสมน้ำเกลือล้างคอนแท็คท์เลนส์เอง หรือใช้น้ำประปาล้าง บางคนนำคอนแท็คท์เลนส์ที่ตกพื้นมาใช้ต่อ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้ทั้งสิ้นค่ะ”
โดยคุณหมอจุฑาไลให้ข้อมูลว่า การติดเชื้อที่กระจกตาจากการสวมคอนแท็คท์เลนส์มีอาการดังนี้
ระดับที่ 1 เคืองตา น้ำตาไหล
คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า อาการเคืองตาและมีน้ำตาไหลเป็นอาการเบื้องต้นของการติดเชื้อจากคอนแท็คท์เลนส์ โดยหากยิ่งปล่อยไว้นาน อาการจะยิ่งเพิ่มขึ้นนำไปสู่การเกิดแผลที่กระจกตาได้
ระดับที่ 2 ปวดตา
“อาการปวดตาจะเกิดเมื่อมีแผลที่กระจกตาแล้ว และแผลค่อนข้างมีความลึก จึงเริ่มมีอาการปวดดวงตาตามมา” คุณหมอจุฑาไลชี้แจง
ระดับที่ 3 เกิดฝ้าในดวงตา
คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า “ฝ้าหรือรอยสีขาว ๆ ในดวงตาก็คือแผลที่เกิดจากกระจกตาแห้งมากหรือกระจกตาเกิดการติดเชื้อ จากกระจกตาสีใสจึงเปลี่ยนเป็นสีขุ่นขาว ยิ่งไปกว่านั้น
หมอเคยพบการติดเชื้อราที่เลนส์ ซึ่งลุกลามไปเกิดเชื้อราที่กระจกตาอีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เกิดจากการไม่ทำความสะอาดเลนส์ให้เพียงพอนั่นเอง”
โดยคุณหมอจุฑาไลกล่าวว่า อาการดังกล่าวมีอันตราย เนื่องจากหากปล่อยให้การติดเชื้อลุกลามไปจนยากจะรักษาได้ทันก็อาจทำให้ตาบอดได้
หากคุณมีพฤติกรรมแม้เพียงข้อเดียวในเช็กลิสต์ ที่เรียบเรียงจากบทความของนายแพทย์ธีรวีร์ หงษ์หยกในหนังสือ ตาดีได้ ตาร้ายไม่เสีย คุณก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อที่ดวงตาจากการใช้คอนแท็คท์เลนส์แล้ว
CHECKLIST!
คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อที่ดวงตาจากคอนแท็คท์เลนส์หรือไม่
- คุณเคยใส่คอนแท็คท์เลนส์ข้ามคืน โดยไม่ได้ทำความสะอาด
- หลังใส่คอนแท็คท์เลนส์ข้ามคืน คุณมีอาการเคืองตารุนแรงและมีน้ำตาไหลตลอด
- หลังจากใส่คอนแท็คท์เลนส์ข้ามคืน เมื่อส่องกระจกคุณพบฝ้าขาวบริเวณตาดำ
- คุณเคยใช้น้ำประปาหรือน้ำเกลือสำหรับล้างแผลมาล้างคอนแท็คท์เลนส์
- คุณเคยหยิบคอนแท็คท์เลนส์มาใส่ทั้งที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดมือ และเช็ดให้แห้ง
2 อาการอันตราย เป็นแล้วต้องรีบพบแพทย์!
อาการต่อไปนี้หากเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจเกิดความผิดปกติของตาหรือเป็นอาการผิดปกติทางสมองก็เป็นได้
- ตามัวเฉียบพลัน คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า หากเกิดภาวะตามัวทันทีทันใด หรือเห็นภาพผิดไปจากเดิม เช่น ภาพบิดเบี้ยว ภาพแหว่งหายไปเป็นส่วน ๆ อาจเกิดจากสภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ กรือโรคของดวงตาที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
- มองเห็นไฟแลบโดยที่ไม่มีแสงไฟ คุณหมอจุฑาไลอธิบายว่า ภาวะนี้เกิดจากวุ้นตาที่เสื่อมและหดตัวลงตามอายุที่มากขึ้น และอาจไปดึงจอตา ทำให้จอตาถูกกระตุ้นจนเห็นเป็นแสงคล้ายไฟแลบทั้งที่ไม่มีแสงไฟ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากในบางกรณี แรงดึงของวุ้นตาอาจทำให้จอตาขาดและลอกได้ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ผ่าตัดไม่ทัน ก็อาจตาบอด
วิธีดูแลความสะอาดคอนแท็คท์เลนส์ ป้องกันดวงตาติดเชื้อ
คุณหมอธีรวีร์ แนะนำวิธีดูแลทำความสะอาดคอนแท็คท์เลนส์ไว้ในหนังสือ ตาดีได้ ตาร้ายไม่เสีย สรุปเป็นขั้นตอนได้ดังนี้
- ทำความสะอาดมือก่อนสัมผัสคอนแท็คท์เลนส์
เนื่องจากมือเป็นอวัยวะที่มีเชื้อโรคจำนวนมาก การล้างมือให้สะอาดและซับให้แห้งก่อนหยิบคอนแท็คท์เลนส์มาใส่ จะช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาผ่านคอนแท็คท์เลนส์ได้ - ล้างคอนแท็คท์เลนส์ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
โดยวางคอนแท็คท์เลนส์บนอุ้งมือ เทน้ำยาทำความสะอาดบนเลนส์ จากนั้นใช้นิ้วมือถูเบา ๆ ล้างจนสะอาด ก่อนเก็บใส่ตลับแล้วปิดฝา - ดูแลน้ำยาทำความสะอาดเลนส์ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
ได้แก่ ไม่นำน้ำยาที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำ และไม่ควรให้ปลายขวดน้ำยาสัมผัสกับมือหรือสิ่งอื่น รวมถึงไม่เทน้ำยาใส่ขวดพกพา เนื่องจากระหว่างการเท น้ำยาอาจสัมผัสเชื้อโรคในอากาศ และนำไปสู่การติดเชื้อที่ดวงตาได้ - ไม่ควรใช้ของเหลวชนิดอื่นล้างคอนแท็คท์เลนส์
ไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือ น้ำตาเทียม น้ำดื่ม น้ำประปา เนื่องจากของเหลวเหล่านี้ไม่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค จึงไม่สามารถใช้แทนน้ำยาทำความสะอาดคอนแท็คท์เลนส์ได้ - รักษาความสะอาดของตลับใส่คอนแท็คท์เลนส์
โดยล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างเลนส์ จากนั้นเปิดฝาคว่ำไว้จนแห้งสนิทก่อนใช้ อีกทั้งควรเปลี่ยนตลับใส่คอนแท็คท์เลนส์ทุก 3 เดือน เพื่อป้องกันเชื้อโรคปนเปื้อนที่อาจยังซุกซ่อนอยู่ - เปลี่ยนคอนแท็คท์เลนส์อันใหม่เมื่อถึงกำหนด
เนื่องจากคอนแท็คท์เลนส์ที่หมดอายุอาจเสื่อมสภาพและนำไปสู่การติดเชื้อที่ดวงตาได้ - ถอดคอนแท็คท์เลนส์ทุกครั้งเมื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ เข้าสปา
เรื่อง ศุภรา ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้