ข้อเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ที่เราควรรู้มีอะไรบ้าง เรามีข้อมูลดีๆ จาก ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม และ รศ. พญ.สิริอร วัชรานานันท์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่าสู่กันฟัง
COVID-19 มีวัคซีนป้องกันหรือไม่
ขณะนี้มีการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในประเทศ อิสราเอล เยอรมนี อเมริกา และจีน แต่อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะต้องใช้เวลาในการทดลองและวิจัยหลายขั้นตอนเพื่อศึกษาผลลัพธ์และผลข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาขั้นต่ำนานถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้นในการทดลอง
COVID-19 อยู่ในน้ำได้หรือไม่
ถ้าเป็นสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน มีการใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ โอกาสที่เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำนั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากการว่ายน้ำในสระ หรือแหล่งน้ำอื่น แต่ควรหลีกเลี่ยงสระว่ายน้ำที่มีผู้คนแออัดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ยุงเป็นพาหะนำโรคหรือไม่
ยุงไม่สามารถเป็นพาหะของ COVID-19 ได้โรคติดเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตหรือเพิ่มจำนวนในยุง และมีชีวิตอยู่ในยุงได้ เช่น ไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา และไข้ซิกา
ในช่วงกักตัวสามารถให้นมลูกได้หรือไม่
ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแม่ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 จะมีเชื้อไวรัสในน้ำนมหรือไม่ ซึ่งความเสี่ยงที่ลูกจะติดเชื้อจากแม่นั้นไม่ได้มาจากน้ำนมโดยตรง แต่มาจากการสัมผัสและใกล้ชิดลูก เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย การไอ การจาม ดังนั้นมารดาสามารถให้นมลูกได้ แต่ให้ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสลูกและใส่หน้ากากอนามัยระหว่างที่ให้นมลูก แต่ในกรณีที่ตัดสินใจที่จะไม่ให้นมลูก ก็ให้แยกแม่ออกจากลูกและปั๊มนมเก็บไว้ แล้วค่อยให้ลูกดื่มผ่านขวดนมที่สะอาด หรือให้ลูกดื่มนมผงแทนนมแม่
การบริจาคเลือดในช่วง COVID-19
ควรงดบริจาคเลือดเป็นเวลา 14 วัน หลังกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ในกรณีที่อาจไม่พบเชื้อภายใน 14 วัน แต่มาพบเชื้อภายหลัง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับบริจาคเลือดทันที ส่วนผู้บริจาคมีประวัติการสัมผัส ใกล้ชิด กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือเคยติดเชื้อแต่รักษาจนหายดีแล้ว ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ทันที ต้องงดให้บริจาคเลือดเป็นเวลา 4 สัปดาห์