รู้จักความรักแต่ละประเภท ตามทฤษฎี “สามเหลี่ยมความรัก” แล้วคุณหละกำลังมีความรักแบบไหน
ความรักในโลกใบนี้มีหลากหลายประเภทและหลากหลายรูปแบบตามแต่ใครจะนิยาม แต่รู้หรือไม่ว่ามีอยู่ทฤษฎีหนึ่งซึ่งนั่นก็คือทฤษฎี “สามเหลี่ยมความรัก” (Triangular Theory Of Love) ตามแนวคิดของ Sternberg (1986) ที่อธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรัก จาก 3 องค์ประกอบก็คือ ความใกล้ชิด ความเสน่หา และความผูกมัด ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะผูกพันธ์เชื่อมโยงกันและแยกย่อยออกไปเป็น 8 ประเภทของความรัก
1.การไม่มีความรัก
การไม่มีความรักนั้นก็ถือเป็นอีกประเภทหนึ่งของความรักเช่นกัน แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีความใกล้ชิด ความเสน่หา และความผูกมัดเลย เป็นแค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแบบง่าย ๆ ระยะเวลาหนึ่ง ที่ไม่มีความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง
2.ความชอบ
เป็นรูปแบบความรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดเท่านั้น ไม่มีความเสน่หา และความผูกมัด มาเกี่ยวข้อง มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เราสนิทสนมใกล้ชิดด้วย เช่น เพื่อน คนรู้จัก
3.ความรักแบบหลงใหล
เป็นรูปแบบของความรักที่ประกอบและถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยความเสน่หาเพียว ๆ อย่างเดียวเท่านั้น และมักเกิดขึ้นได้บ่อย ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คงเป็น “การรักแรกพบ” นั่นเอง
4.ความสัมพันธ์ที่ปราศจากความรัก
เป็นความรักที่ประกอบด้วยความผูกมัดอย่างเดียว เช่น การแต่งงานที่ปราศจากความรู้สึกต่อกัน เพียงแค่อยู่ร่วมกัน อาจจะนึกภาพถึงการคลุมถุงชน หรือแต่งงานเพื่ออะไรบางอย่าง แต่ความรักประเภทนี้อาจจะมีการพัฒนาองค์ประกอบด้านความใกล้ชิด ความเสน่หา ขึ้นมาในภายหลัง
5.ความรักแบบโรแมนติก
เป็นความรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดและความเสน่หา จะเกิดหลังจากทำความรู้จักกัน ใกล้ชิดกัน จากนั้นก็จะมีความรู้สึกตื่นตัวทางร่างกาย ปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิด ได้สัมผัสและถ่ายทอดความรู้สึกระหว่างกันโดยยังไม่มีพันธะผูกมัด
6.ความรักแบบมิตรภาพ
เป็นความรักที่ประกอบด้วยความใกล้ชิดและความผูกมัด มักเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น เพื่อน หรือคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน
7.ความรักแบบไร้สติปัญญา
เป็นรักที่ประกอบด้วยความเสน่หาและความผูกมัด โดยเกิดขึ้นเมื่อพบรักกันและผูกมัดกันอย่างรวดเร็ว แต่ความรักในรูปแบบนี้ก็มักจบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
8.ความรักที่สมบูรณ์แบบ
เป็นรักที่มีทั้งความเสน่หา ความใกล้ชิด และความผูกมัด ความรักรูปแบบนี้เป็นรักที่หลายคนใฝ่หาและปรารถนา แต่ก็ยากที่จะเกิดขึ้นและยากที่จะรักษาให้คงสภาพไว้ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบความสัมพันธ์และสถานการณ์ที่แวดล้อมในความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล
อ้างอิง
- “ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบ ต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีองค์ประกอบของความรักทั้งสามเป็นตัวแปรส่งผ่าน” โดย สิริภรณ์ ระวังงาน (2553)
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
- แฟนเปลี่ยนไป ไม่ซึ้งไม่หวานไม่เอาใจเหมือนตอนแรก ทำไงดี?
- “อยากเจอ ความรัก ดีๆ” สิ่งแรกต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน
- 13 เรื่องง่ายๆ ที่ คู่รัก ควรทำให้กันในทุกๆ วัน เติมพลังให้ชีวิตคู่
- 6 กลเม็ดมัดใจเเฟน แบบยิ่งร้ายก็ยิ่งเลิฟ !
- คบรุ่นพี่ แล้วดีต่อใจ ข้อดีของการคบคนที่มีอายุมากกว่า
- 5 สิ่งควรรู้ คุยยังไงให้ได้คบ ไม่มีนก ไม่โดนเท รักกันไปยาวๆ