ซีสต์ในรังไข่

ป้องกันและรักษา ” ซีสต์ในรังไข่ ” โรคใกล้ตัวที่ควรรู้ไว้ก่อนจะสาย

” ซีสต์ในรังไข่ ” ภัยใกล้ตัวสำหรับคุณผู้หญิง มาทำความรู้จักเพื่อป้องกันและรักษาก่อนจะสายเกินแก้

วันนี้ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ” ซีสต์ในรังไข่ ” ภัยใกล้ตัวสำหรับคุณผู้หญิง เพราะอาจจะมาโดยไม่สัญญาณเตือน มาทำความรู้จักเพื่อเป็นหนทางในการป้องกันและรักษากันดีกว่า

ซีสต์ คืออะไร ?

ซีสต์ หรือ cyst ในภาษาอังกฤษหมายถึง “ ถุงน้ำ ” โดยร่างกายของคนเรานั้น จะมีโอกาสที่จะเกิดซีสต์ได้แทบทุกอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง กระดูก หรือแม้กระทั่งสมอง แต่อวัยวะภายในของเพศหญิงนั้น จะมีความพิเศษกว่าเพศชาย เพราะเพศหญิงจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ คือ มดลูก และรังไข่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดซีสต์ได้ง่าย โดยเฉพาะรังไข่ เพราะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุง

ดังนั้นโรคซีสต์จึงไม่ใช่โรคไกลตัวของคุณผู้หญิงอย่างที่หลายคนคิด โดยซีสต์จะมีลักษณะเป็นถุงที่เต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งสามารถก่อตัวขึ้นได้ในรังไข่ เมื่อเกิดการตกไข่ผิดปกติจะทำให้เกิดการคั่ง มีถุงน้ำในรังไข่ หรือไข่ไม่ตก ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่ทั้งสองข้าง หรือมีการแบ่งเซลล์ในรังไข่ที่ผิดปกติไป ทำให้รังไข่มีโอกาสเกิดซีสต์ที่รังไข่ได้บ่อยกว่าอวัยวะอื่น ๆ หากพบในคนอายุน้อยมักจะเป็นซีสต์ปกติที่หายได้ แต่ถ้าพบในคนวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจเป็นซีสต์ผิดปกติที่มีโอกาสเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้

ซีสต์ในรังไข่ หรือถุงน้ำในรังไข่ สามารถพบได้ทั่วไปในผู้หญิงที่มีประจำมาเดือนไม่ปกติและมีไข่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ แต่ไข่กลับไม่ตกกลายเป็นประจำเดือนส่งผลให้น้ำในมดลูกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ท้องบวม คล้ายกับตั้งครรภ์ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำจนเป็นเลือดเก่าข้น ในระยะแรกโรคนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานจนถุงน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจจะส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรงได้ โดยถุงน้ำนี้มีเปอร์เซ็นต์ที่จะกลายไปเป็นมะเร็งนั้นมีค่อนข้างน้อย เพราะบางรายสามารถหายได้เอง โดยกรณีคนมีปัญหาเกิดโรคนี้บ่อยๆ จะส่งผลต่อการมีบุตรในอนาคต

ปวดท้องประจำเดือน ซีสต์ในรังไข่
ซีสต์ในรังไข่

ชนิดของซีสต์รังไข่

ซีสต์รังไข่ หรือ ถุงน้ำในรังไข่ (Cystic Ovary) มีหลากหลายชนิดและสามารถพบบ่อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 15 – 49 ปี โดยซีสต์ในรังไข่ที่ควรรู้จักไว้มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่

  • Functional Cyst ซีสต์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตกไข่ พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง เป็นถุงน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธ์ เมื่อถุงน้ำโตขึ้นแล้วจะแตกออกทำให้ไข่ไหลออกมา แล้วถุงน้ำนั้นจะค่อย ๆ ยุบตัวไปเอง
  • Ovarian Cyst หรือ Ovarian Tumor หรือ เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดที่ไม่ร้ายแรง ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีน้ำ (Dermoid Cyst), ไขมัน, เส้นผม หรือ กระดูกและฟัน โดยการทำอัลตราซาวด์ หรือ เอ๊กซเรย์ ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นชนิดใด
  • Tumor like condition หรือ ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือบางครั้งเรียกว่า Chocolate Cyst

อาการของโรคซีสต์ในรังไข่

อาการของโรคซีสต์ในรังไข่จะขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการจนกระทั่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน หรือบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ ดังนี้

  • คลำเจอก้อนที่หน้าท้อง
  • ปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย หรือมามากผิดปกติ
  • เจ็บหรือปวดหลังส่วนล่าง
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ท้องอืด แน่นท้อง
  • ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ถ่ายปัสสาวะลำบาก
  • ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากมีถุงน้ำรังไข่แตก  หรือมีการบิดของถุงน้ำ หากเป็นในกรณีนี้ควรรีบพบแพทย์

*** ในบางราย ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่างๆ หรือตัวเองมีประวัติเป็นมะเร็งส่วนอื่นๆของร่างกาย หากแพทย์ตรวจพบถุงน้ำรังไข่ แพทย์อาจให้น้ำหนักในการกลายเป็นเนื้อร้ายได้เช่นกัน

ป้องกันและรักษาซีสต์ในรังไข่

สาเหตุของซีสต์ในรังไข่นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่มีการกลายเซลล์ที่ผิดปกติ โดยสามารถสังเกตได้จากประจำเดือนมาผิดปกติ มีอาการปวดท้อง ปัสสาวะ หรืออุจจาระผิดปกติ

การป้องกันการเป็นซีสต์ในรังไข่ หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภายในของผู้หญิงที่ดีที่สุด คือ การอัลตราซาวด์มดลูก และรังไข่ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถทำให้เราพบความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับมดลูกและรังไข่ได้ แม้ซีสต์ในรังไข่จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้น้อย แต่การตรวจสุขภาพ หรือการอัลตราซาวด์มดลูก และรังไข่ยังมีความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคซีสต์ในรังไข่ที่เกิดขึ้นกับในเฉพาะผู้หญิงได้

การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยสูติ-นรีแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งวิธีตรวจที่ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน คือ การอัลตราซาวนด์เพื่อดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน โดยสามารถตรวจได้ 2 วิธีคือ ตรวจผ่านทางหน้าท้องหรือตรวจผ่านทางช่องคลอด ใช้เวลาไม่นานและไม่รู้สึกเจ็บปวด ที่สำคัญคือบอกขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และจำนวนได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างตรงจุดชัดเจนและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

โดยการรักษาซีสต์ในรังไข่จะมีวิธีที่หลากหลาย บางรายอาจต้องผ่าตัด แต่บางรายอาจทำเพียงแค่ติดตามอาการเท่านั้น โดยการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ จะมีรายละเอียด ดังนี้

  • ติดตามอาการ หากพบว่าเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แพทย์จะนัดตรวจอาการว่าถุงน้ำมีขนาดโตขึ้นหรือไม่ โดยอาจต้องรับประทานยาคุมกำเนิด
  • การผ่าตัด จะมีทั้งการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉิน และแบบฉุกเฉิน โดยการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินจะใช้รักษาในกรณีที่มีซีสต์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรยาก อาจจะผ่าตัดเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมดขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิด และขนาดของซีสต์ ส่วนการผ่าตัดแบบฉุกเฉินมักทำในกรณีที่ถุงน้ำรังไข่แตก หรือถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด

ปัจจุบันการรักษาซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งข้อดีของวิธีการผ่าตัดแบบนี้คือ ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ดังเดิม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งกับสูติ-นรีแพทย์ในผู้ที่ยังไม่เคยเป็น และสำหรับผู้ที่เคยเป็นซีสต์รังไข่แล้ว แนะนำให้พบสูติ-นรีแพทย์ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช และ โรงพยาบาลธนบุรี

___________________________________________

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ถุงน้ำในรังไข่ หรือ ซีสต์รังไข่ (Cystic Ovary)

ซีสต์ในรังไข่คืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่

เช็ก 7 สัญญาณ อาการปวดส่อช็อกโกแลตซีสต์

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.