“โรคหอบหืด” รู้จัก เข้าใจอาการ และการรักษา
โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจากภายใน และจากสิ่งแวดล้อมมากกว่าปกติ ส่งผลให้หายใจไม่สะดวกและมีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะตอนกลางคืนและช่วงเช้ามืด โดยหอบหืดสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และทำให้เสียชีวิตได้หากอาการรุนแรง หอบหืด ไม่ใช่โรคติดต่อแต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
โรคหอบหืดและโรคหืด เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
โรคหอบหืดและโรคหืดเป็นโรคเดียวกัน บางครั้งเรียกหอบหืดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหอบร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วยโรคหืดบางรายอาจไม่มีอาการหอบ มีเพียงอาการไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเกิดจากการอักเสบในหลอดลบลมและมีหลอดลมตีบแต่ไม่ถึงขั้นหอบ โดยอาการหอบจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หลอดลมตีบที่รุนแรง และในทางปฏิบัติพบว่าโรคหืดเป็นสาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่สำคัญ นอกจากกรดไหลย้อน และจมูกอักเสบเรื้อรัง
การเกิดอาการ
เมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปแล้ว เยื่อบุผนังทางเดินหายใจก็จะเกิดอาการอักเสบ การอักเสบจะทำให้หลอดลมตอบสนองโดยการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม ท่อทางเดินหายใจจะแคบลง นอกจากนี้เยื่อบุหลอดลมจะบวมขึ้ทำให้ช่องทางตีบ โดยรวมหลายๆ กลไกแล้วสรุปคือทำให้หลอดลมตีบแคบลงไปอีก การอักเสบจะทำให้มีการหลั่งเมือกหรือเสมหะออกมามากอีกด้วย ซึงจะไปอุดกั้นทางเดินอากาศเพิ่มขึน อาการของหอบหืดกำเริบที่เด่นๆ คือ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอมาก หายใจมักมีเสียงวี๊ด หายใจถี่
ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบริมฝีปากและเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดอากาศหายใจเพราะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นอย่างมาก และไม่สามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ เกิดระบบหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิต ในที่สุด
สาเหตุของโรคหืด
โรคหืดหรือหอบหืดเกิดจากการอักเสบของหลอดลมเรื้อรัง ร่วมกับการที่หลอดลมมีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรคหืด ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในและนอกครัวเรือน เช่น ฝุ่น และไรฝุ่น รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ รวมทั้งสารก่อมลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ ไอระเหยน้ำมัน สารเคมี ก๊าซพิษต่าง ๆ เป็นต้น หรือการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้ด้วย
สภาพอากาศเย็นกระตุ้นให้เกิดหอดหืดอย่างไร
ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง ปราศจากความชื้น จะกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบากและมีอาการหอบหืดกำเริบได้
วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น
อาการสำคัญที่เป็นสัญญาณของโรคหอบหืดมีทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจมีเสียงวี้ด เหนื่อยหอบ หากพบว่ามีครบทั้ง 3 อาการ ทำให้เพิ่มความน่าจะเป็นของการเป็นโรคหืด อย่างไรก็ตามควรทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคหืดในผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคหอบหืดด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพปอด เพื่อวินิจฉัยภาวะหลอดลมตีบจากหืด และวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ออกไป การเอกซเรย์ปอดในโรคหอบหืดผลเอกซเรย์ปอดมักจะไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่ชัดเจน ทำให้วิธีทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นการวินิจฉัยที่แม่นยำมากกว่า
การดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืด
ดังเช่นโรคเรื้อรังอื่นๆ ผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคหืดจะมียาประจำในการรักษา ได้แก่ ยากิน ยาฉีดและยาสูดพ่น ยากินจะอออกฤทธิ์รักษาอาการหอบหืดได้ช้ากว่ายาสูดพ่น เพราะยากินต้องผ่านกระบวนการดูดซึมในร่างกาย แตกต่างจากยาพ่นซึ่งสามารถเข้าถึงหลอดลมได้ทันทีที่พ่นเข้าไป และมีผลข้างเคียงต่ำกว่า หากแต่ต้องอาศัยเทคนิกการใช้ยาที่ถูกต้อง
สำหรับยาพ่นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาควบคุมโรคและยาบรรเทาอาการ
ยาควบคุมโรค เป็นยาสูดพ่นที่มีองค์ประกอบเป็นสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการ
ยาบรรเทาอาการเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เมื่อมีอาการหืดกำเริบเฉียบพลัน หรือเมื่อมีอาการหายใจลำบากเกิดขึ้น
ที่สำคัญผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และใส่ใจในเรื่องการพักผ่อนที่เพียงพอ ลดน้ำหนักในกรณีที่อ้วน หลีกเลี่ยงความเครียดทางจิตใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และมลพิษในอากาศรวมทั้งงดสูบบุหรี่ ที่กระตุ้นให้หอบหืดกำเริบ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ยา
-การปรับขนาดยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าปรับยาหรือหยุดด้วยตนเอง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
-ผู้ป่วยต้องพกยาฉุกเฉินติดตัวไว้ เพื่อบรรเทาอาการเมื่อหอบหืดกำเริบ และคนรอบข้างควรรู้ตำแหน่งที่คนไข้เก็บยาเอาไว้ หากฉุกฉินคนรอบข้างจะได้ช่วยเหลือทัน
โรคหอบหืดนั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษามิได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย
ข้อมูลจาก: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ