6 ข้อดี ของการออกกำลังกายแบบ คาร์ดิโอ
การออกกำลังกายล้วนมีข้อดีที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันโรคภัย แต่การออกกำลังกายแบบ คาร์ดิโอ ให้มากกว่านั้นอีกนะคะ มาดูกันว่า การออกกำลังกายแบบนี้ ช่วยอะไรบ้าง
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ไทเลอร์ วีลเลอร์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอมอรี่ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า เขาจะแนะนำให้คนไข้ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเป็นกิจวัตรประจำวัน เน้นความต่อเนื่อง 30 นาที โดยไม่ต้องเน้นความหนัก ตัวอย่างเช่น การปั่นจักรยาน เดินเร็ว เต้นรำ
คาร์ดิโอ คือ
เป็นการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้ปอดและหัวใจ โดยจะทำให้ร่างกายนำออกซิเจนมาใช้ได้มากขึ้น ทำให้ออกกำลังกายอึดขึ้น เพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามแรงกระแทกที่เกิดขึ้น
- แบบที่มีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ออกกำลังกายในน้ำ
- แบบที่มีแรงกระแทกสูง เช่น วิ่ง กระโดดเชือก
สำหรับข้อดีที่มากกว่าความแข็งแรงของร่างกายก็คือ
ลดระดับน้ำตาลในเลือด
อีกทั้งทำให้ฮอร์โมนอินซูลินกลับสู่สมดุลอย่างช้าๆ กรณีที่เป็นผู้ป่วยเบาหวาน นายแพทย์ไทเลอร์แนะนำให้เพิ่มการออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิ่ง 20 – 30 นาที โดยจะทำก่อนหรือหลังการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ
อารมณ์ดี
เนื่องจากพบว่าช่วยกระตุ้นให้สมองส่วนฮิปโปแคมปัสทำงาน จึงส่งผลต่ออารมณ์และซะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ช่วยให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล แพนิค มีอาการดีขึ้น
หลับง่ายและหลับสนิท
หลังออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอต่อเนื่องตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร่างกายจะมีสมดุลสารเคมีในสมองดีขึ้น ผลคือการเข้าสู่ช่วงหลับลึกจะทำได้ง่ายและต่อเนื่อง ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆได้โดยเฉพาะเซลล์สมอง
สมองใสคิดงานได้ฉับไว
หลังการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอสมองในส่วนคอร์เท็กซ์ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดวิเคราะห์จะได้รับประโยชน์ไปเต็มที่ ความง่วงซึม อ่อนเพลีย คิดอะไรหรือติดขัดก็จะลดลง ถ้าทำต่อเนื่องก็จะส่งผลให้สมองในส่วนนั้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์
มีงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเป็นประจำลดเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ เพราะวิธีนี้ช่วยลดโอกาสเกิดโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่เพิ่มความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
ลดเสี่ยงโรคข้อเสื่อม
เนื่องจากการออกกำลังกายแบบนี้ช่วยลดการอักเสบของข้อต่อต่าง ๆ ได้ดี แต่ต้องเลือกการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่ลดแรงกระแทก เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เดินเร็ว ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมากควรงดวิ่ง
รู้แบบนี้ เรามาหาเวลาไปออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอกันดีกว่าค่ะ โดยอาจเริ่มในประเภทที่ใช้แรงกระแทกต่ำก่อนก็ได้
ข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, คอลัมน์ เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 541
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ฟังเพลง ตอนออกกำลังกาย ให้ประโยชน์กว่าเหงื่อท่วมแบบเงียบๆ
โม มนชนก ผู้หญิงตัวเล็กที่คลั่งการออกกำลังกาย
ชีวจิตแนะ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ช่วยร่างกายฟื้นไว