ปวดไมเกรน

ปวดไมเกรน รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?

ปวดไมเกรน ต้องอยู่กับอาการนี้ไปนานแค่ไหนกัน

ปวดไมเกรน แล้วจะหายได้ไหม หรือเป็นโรคเวร โรคกรรม ที่จะรักษาไม่หายไปตลอดชีวิต วันนี้แอดไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ อยากจะเชิญชาวไมเกรนหน้าเก่า หน้าใหม่ และมือสมัครเล่นฟังไปพร้อมกัน แต่บอกก่อนนะว่า คำตอบอาจต้องชวนกันกุมพระ กุมยา มาฟังเลยทีเดียว

รู้จักไมเกรน

สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าใช่ไมเกรนไหม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปวดไมเกรน อย่าแอดก็เล่าอาการให้ฟังค่ะ ไมเกรนแตกต่างจากปวดหัวทั่วๆ ไป อย่างสังเกตได้ง่ายที่สุดคือ ปวดหัวปกติ จะปวดไปทั้งหัว หรือทั่วบริเวณหน้าปาก แต่หากปวดไมเกรน จะปวดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง และลามลงมาที่ขมับ และต่างจากปวดหัวไซนัส ก็ตรงที่ปวดไซนัสจะปวดที่บริเวณกลางๆ หน้าผากลามลงมาที่บริเวณจมูก

คนที่ปวดศีรษะไมเกรนมักจะมีอาการปวดศีรษะแบบ ตุบ ๆ เป็นจังหวะ มักจะเกิดข้างเดียวของศีรษะ แต่ก็สามารถเป็นทั้งสองข้างได้ (ซึ่งน้อยมากๆ และต้องปวดมากๆ) โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมี ความรุนแรงเพียงเล็กน้อยและจะค่อย ๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง และไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นมากขึ้น

อยากห่างไกลไมเกรนต้องทำอย่างไร

คนที่เป็นโรคไมเกรนควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หมั่นออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือ สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มในกลุ่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดหัวกำเริบ

สำหรับการหลีกเลี่ยงสิ่งเร้า คนที่เพิ่งเป็นอาจอยากได้ลิสต์รายชื่อ สิ่งอันตรายมาเลย แต่แอดจะบอกว่า แต่ละคนมีสิ่งเร้าแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นจะต้องเกิดจากการสั่งเกตตัวเอง ว่าไปเจอ ไปโดน หรือไปกินอะไมา แล้วทำให้ปวดหัว ซึ่งสิ่งเร้ายอดนิยม ได้แก่

  • แสงวาบ แสงจ้า เช่น แสงฟ้าผ่า แสงจ้าจากภาพยนตร์ แสงจากรถฉุกเฉิน ไฟกระพริบจากรถยนต๋
  • เสียง เช่น เสียงดัง เสียงแหลมสูง เสียงรถฉุกเฉิน
  • กลิ่น เช่น กลิ่นฉุนของดอกไม้ กลิ่นเครื่องหอม กลิ่นฉุนรุนแรง
  • อาหาร เช่น อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารมัน ชีส
  • อากาศ เช่น อากาศร้อน อากาศไม่ถ่ายเท อากาศอึมครึมก่อนฝนตก
ปวดไมเกรน

ส่วนคนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการปวดไมเกรน ก็ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เพราะความเครียด ก็เป็นอีกปัญหาต้น ๆ ที่ทำให้เกิดไมเกรนด้วยเช่นกัน และหากพบว่าตนเองมีอาการปวดหัวข้างเดียวบ่อย ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคไมเกรนเสมอไป (เพราะก็ยังโรคไมเกรนเทียม ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากภาวะ ออฟฟิศซินโดรม ที่กล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ ตึงมาก จนทำให้เกิดอาการเหมือนปวดไมเกรนได้) ดังนั้นจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และแนวทางการรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวคุณเอง

“ปวดไมเกรน” รักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ?

คราวนี้ก็มาถึงประเด็นที่หลายคนรอคำตอบอย่างใจจดจ่อ และแอดขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ ทั้งต่อตัวเอง และเพื่อนร่วมโรคทุกท่าน เพราะอาการปวดหัวไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ให้การรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ ด้วยการกินยา หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญในการรักษาไมเกรนก็คือ การรับมือและ การป้องกันกับอาการปวด เพื่อให้ผู้ป่วยลดความทรมานจากการปวดหัว และสามารถ ดำเนินชีวิตประจำวันได้

การรักษาอาการไมเกรนถ้าเป็นทางการแพทย์ก็จะพิจารณาตามระดับ ความรุนแรงของอาการปวด โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นการให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หากกินยาบ่อยเกินไปก็อาจส่งผลให้อาการปวดรุนแรง และถี่ขึ้นได้ จึงต้องให้ยาป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย

ส่วนการรักษาไมเกรนด้วยวิธีอื่น ๆ ก็เช่น การฉีดยาระงับการทำงานของเส้นประสาทเฉพาะที่ การนวดกดจุด หรือการฉีดโบท็อกซ์ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาป้องกันหรือล้มเหลวจากวิธีการป้องกันการปวด ศีรษะอื่นๆ

ป้องกันไมเกรน ได้ด้วยวิธีนี้

วิธีที่ดีที่สุดในการลดอาการปวดหัวไมเกรนคือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดอาการ ดังนั้นนอกจากการลดไมเกรนด้วยวิธีทางการแพทย์แล้ว การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นตามที่เล่าให้ฟังข้างต้นก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ พร้อมกับนวดบรรเทาเมื่อมีอาการปวด ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และหมั่นสังเกตปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เป็นต้น

วิธีช่วยบรรเทาอาการ และป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน

ㆍ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
ㆍหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน
ㆍนอนพักในที่มืดและเงียบสงบ
ㆍประคบเย็นบริเวณศีรษะ
ㆍปรับพฤติกรรมการนอนและการรับประทานอาหาร
ㆍออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถบรรเทาและป้องกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา อย่างไรก็ดี การเริ่มรับประทานยาบรรเทาปวดทันทีหลังจาก ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน จะช่วยให้ผลของยามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้ยานั้นควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากปัจจัยที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อายุ โรคประจำตัว และความรุนแรงของโรค ส่งผลต่อ การเลือกใช้ยาและขนาดยาที่ควรได้รับนั่นเอง

ที่มา : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 543


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

8 สาเหตุใกล้ตัวที่ทำให้ ปวดหัวบ่อย

อาหารใดกินเข้าไปแล้ว เสี่ยงปวดไมเกรน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.