ลูคีเมีย

คุณหมอชวนคุย ลูคีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ผู้คนทั่วโลกจะป่วยมากขึ้น

คุณหมอตอบครบ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย อาการและวิธีรักษาต้องทำอย่างไร

ในปี 2020 องค์การอนามัยโลกคาดกาณ์ว่าจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกประมาณ 7 คนต่อประชากร 1 แสนคน

เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทยที่มีประมาณ 60 – 70 ล้านคน หมายความว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเกือบห้าพันคนต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลย โดยมักพบในวัยกลางคนอายุประมาณ 40 -50 ปี และสำหรับประเทศไทย สถิติผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธนาวัฒก์ รัตนธรรมเมธี อาจารย์ประจำหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาอธิบายความรู้เรื่องมะเร็งเม็ดเลือดขาวค่ะ

Q : ลูคีเมีย คืออะไร

A : มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เกิดจากเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเพิ่มขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดที่ปกติ มีปริมาณลดลง ทำให้มีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เลือดออกผิดปกติ มีไข้สูง ติดเชื้อง่าย

Q : สาเหตุมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย

A : สาเหตุหลักเกิดจาก DNA ของเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในไขกระดูกกลายพันธุ์ ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการกลายพันธุ์ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เช่น การสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน

Q: เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

A : เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เลือดออกผิดปกติ มีไข้สูงโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งให้ตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count; CBC) ซึ่งสร้างมาจากไขกระดูก 3 ชนิด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผลตรวจเลือดจะพบ เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก สังเกตได้จากการติดเชื้อง่าย เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดลงมาก อาจทำให้มีภาวะโลหิตจาง เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ และเกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำเกินไป ส่งผลให้เลือดออกง่าย หยุดยาก อาจพบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามตัว ถ้าผลตรวจเลือดบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติของกลุ่มเม็ดเลือด แพทย์จะตรวจไขกระดูกเพื่อยืนยันโรคต่อไป

Q : การเจาะไขกระดูกมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

A : การเจาะไขกระดูกเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะถูกนำไปใช้ใน การวางแผนการรักษาต่อไป

การเจาะไขกระดูกมีขั้นตอนคือ ให้คนไข้นอนคว่ำ แพทย์จะฉีดยาชาแล้วใช้เข็มเจาะตรวจบริเวณกระดูกบั้นเอว ซึ่งจะมีอาการเจ็บบ้างเล็กน้อยขณะฉีดยาชา และมีอาการเจ็บเสียว ๆ ขณะแพทย์กำลังดูดไขกระดูก

ลูคีเมีย

Q : มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทรักษาอย่างไร

A : มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน มีวิธีรักษาที่แตกต่างกัน

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง มี 2 แบบ ได้แก่

  • รับประทานยาที่เรียกว่ายามุ่งเป้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ เจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไปรบกวนการส่งสัญญาณที่เกี่ยวกับ การเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  • การให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน

หากไม่รีบรักษามีโอกาสเสียชีวิตภายใน 3 – 6 เดือนหลังจากวินิจฉัย การรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 – 65 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัว จะให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง ซึ่งมีโอกาสทำให้โรคสงบได้สูงถึง 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ โดยต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 3 -4 สัปดาห์ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์และรอให้ไขกระดูกฟื้นตัว

สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 – 65 ปี หรือมีโรคประจำตัว หากให้ยาเคมีบำบัดจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เสี่ยงเสียชีวิตสูง จึงต้องรักษาแบบประดับประดอง ให้เลือดหรือเกล็ดเลือดตามที่แพทย์เห็นสมควร หลังการรักษาจะมีการเจาะไขกระดูกเพื่อตรวจประเมินว่าโรคเข้าสู่ภาวะสงบหรือไม่

Q : มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่

A : ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการทำให้โรคสงบลงก่อนระหว่างรอรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค ซึ่งอาจเป็นญาติ พี่น้องพ่อแม่สายเลือดเดียวกัน หรือเป็นบุคคลอื่นที่มาบริจาคไว้ที่สภากาชาดไทย เพราะการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์

Q : ผู้ป่วยควรดูแลตนเองอย่างไร

A : ผู้ป่วยต้องรักษาความสะอาดเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเป็นอาหารที่สุกและสะอาด เพื่อให้เม็ดเลือดฟื้นตัว ซึ่งช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด

โภชนาการต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย

แม้จะไม่มีอาหารที่รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้หายได้ แต่การกินอาหารที่หลากหลาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพจะช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงบางอย่างได้

  • ผู้ป่วยควรกินผักสด และผลไม้ให้มาก รวมทั้งข้าวที่ขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง
  • ควรกินอาหารที่ให้โปรตีน และกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ปลา เนื้อแดง และถั่วเมล็ดแห้ง
  • กินผัก และผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น คะน้า บร็อคเคอลี กะหล่ำดอก ส้ม มะนาว ฝรั่ง และมะขามป้อม จะช่วยลดการติดเชื้อของผู้ป่วยได้
  • ควรได้รับวิตามินบีชนิดต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายดูดซึมพลังงาน จากอาหารไปใช้ได้ อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี ได้แก่ ข้าวกล้อง จมูกข้าวสาลี ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง และเมล็ดพืช
  • เนื่องจากผู้ป่วยมีความต้านทานต่อการติดเชื้อน้อยลง จึงต้องระวังเรื่องความสะอาดของอาหารมากเป็นพิเศษ พึงหลีกเลี่ยงอาหารทะเล ไข่ดิบ ผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ และเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกๆดิบๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
  • ห้ามสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินในบุหรี่จะเข้าไปทำลายสารอาหารบางอย่างในร่างกาย
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะยาบางชนิดที่รักษามะเร็ง อาจมีผลกระทบต่อการเผาผลาญแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ยังทำให้ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายสะสมไว้ลดลงอีกด้วย

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 584

บทความอื่นที่น่าสนใจ

รวม ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ปีใหม่นี้ ต้องผอม+สตรอง!!

น้ำประปา ปลอดภัยจริงไหม

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ความดันและไขมันในเลือดสูง ปรับเปลี่ยน 3 อ (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) ไม่ง้อยา

ติดตามชีวจิตได้ที่

https://www.instagram.com/cheewajitmedia/

https://www.facebook.com/CheewajitMagazine

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.