อาหาร ผักชี

ผักชี ประโยชน์สูงกว่าตัว คุมน้ำตาล ป้องกันสมองเสื่อม

ผักชี ประโยชน์สูงกว่าตัว คุมน้ำตาล ป้องกันสมองเสื่อม

ผักชี เป็นผักที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นผักที่ใช้โรยหน้าเสริมสร้างความสวยงาม หรือช่วยสร้างกลิ่นหอม จนเป็นที่มาของสุภาษิตไทยโบราณ ที่ว่าผักชีโรยหน้า คือทำอะไรแต่พอกลบหน้า หรือแค่เฉพาะช่วงโอกาสสำคัญเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วผักชีมีประโยชน์มากกว่านั้นมากเลยนะคะ ประโยชน์สูงกว่าต้นของมันเสียอีก แต่จะมีอะไรบ้าง เราค่อยๆ มาดูกันนะคะ

สำหรับครัวไทยแล้ว เราใช้ผักชีในทุกส่วน ตั้งแต่รากจนถึงยอด โดยรากใช้เป็นเครื่องเทศในกลุ่มสามเกลอ ที่ประกอบด้วย รากผักชี กระเทียม และพริกไทย (ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ก็ล้วนเป็นเครื่องเทศที่อุดมประโยชน์จริงๆ ) นอกจากนั้นแล้วก็ใช้ใบในการโรยตกแต่ง เพิ่มกลิ่มหอมของอาหาร แต่เดี๋ยวนี้แอดก็เห็นว่าหลายร้านที่เสิร์ฟผักชีมาทั้งต้นก็ว่าได้ ส่วนผลก็ใช้ตำเป็นเม็ดผักชี ที่ช่วยส่งเสริมกลิ่นของอาหารให้หอมอร่อย

ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายฉบับทีไ่ด้ศึกษาส่วนใบ และลำต้นของผักชี พบว่ามีต้านอนุมูลอิสระ และช่วยปกป้องเซลล์สมองไม่ให้ถูกทำลาย รวมไปถึงว่า ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา นอกจากนั้นยังช่วยในระบบย่อยอาหารอีกด้วย

ส่วนในผลของผักชีเองก็มีการศึกษาพบว่าให้ผลที่คล้ายกันคือ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และมีเพิ่มเติมคือ ลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังช่วยลดน้ำตาล ความดัน และไขมันในเลือดได้ รวมถึงกำจัดโลหะหนัก ช่วยปกป้องตับและไต ส่วนอะโรมาที่ออกมาจากเมล็ดผักชีนั้นยังช่วยลดความวิตกกังวล

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าผักชีนอกจากจะกินได้ทุกส่วนแล้ว ก็ยังมีประโยชน์ทุกส่วนเช่นเดียวกัน

ผักชี มีประโยชน์ทุกส่วน

ใบ

ช่วยบำรุงร่างกาย แก้หวัด แก้ไอ แก้อาการวิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน เมารถ เมาเรือ รวมถึงลดน้ำตาลในเลือด

ผล 

ช่วยให้เจริญอาหาร ละลายเสมหะ ลดการปวดฟัน บำรุงระบบทางเดินอาหาร บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ต้น 

ขับเหงื่อ แก้ผื่นแดง และไข้ออกผื่น

ราก 

บรรเทาอาการไข้อีดำอีแดง

การกินเพื่อส่งเสริมยา 

ผักชีเป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย จึงช่วยเสริมฤทธิ์ยาได้มากมาย คือ

ช่วยเสริมยาลดน้ำตาลในเลือด ยาลดความดัน และยาที่ส่งผลต่อการกดประสาทส่วนกลาง

ที่มา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ว่าแล้วมาต่อกันที่เรื่องการกินผักชีอีกสักนิด

7 ข้อห้าม การกินผักชีในกระแส

ถาม

ปัจจุบัน หลังจากชาวญี่ปุ่นให้ความนิยมกับการกินผักชี บ้านเราก็เริ่มให้ความสำคัญกับการกินพืชผักสมุนไพรชนิดนี้มากยิ่งขึ้น จึงอยากรู้ว่า เราควรกินแค่ไหน อย่างไร

ตอบ

กระแสการกินผักชี เริ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยคนญี่ปุ่นนำผักชีไปใส่ในอาหารต่างๆนานา แถมยังแปรรูปเป็นผักชีอบ ชาผักชี รวมทั้งเพลงผักชี 555 โดยชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าผักชีช่วยชะลอวัยได้นั่นเอง

เมื่อกระแสแรงขนาดนั้น มีหรือพี่ไทยชอบทดลอง (ทำตามคนอื่น) หรือจะน้อยหน้า วันนี้บ.ก.ก็กินผักชีเยอะขึ้น ฮา ฮา ฮา (ก็บ้าเห่อเหมือนกันนะคะ) น้องในที่ทำงานก็เด็ดผักชี มาโรยหน้าอาหารทุกประเภทของเธอ แถมยังพูดถึงผักชี ราวกับคำว่า “ผักชี” คือมนตราสุขภาพ

เลยอดรนทนไม่ได้ ต้องหาข้อมูลให้รู้ว่า ใครพูดอะไรเกี่ยวกับ “ผักชี” บ้าง ซึ่งเมื่อทราบก็นำมาบอกแฟนเพจของเรา

เริ่มต้นจากการดูคุณค่าทางอาหารของ ผักชีราว 4 กรัมอย่างคร่าวๆ คือให้พลังงาน 1 แคลอรี่ ไขมัน 0 กรัม คาร์โบไฮเดต 0 กรัม โปรตีน 0 กรัม วิตามินซีร้อยละ 2 และวิตามินเอร้อยละ 5

อย่างไรก็ตาม ยังมีสารอาหารประเภทแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นอีกหลาปยประการ

เภสัชกรพินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น และรักษาการชมรมเภสัชกรสมุนไพร กล่าวถึงประโยชน์ของผักชีไว้ว่า ว่า “ผักชีมีคุณค่าทางยา และมีสรรพคุณมาก อย่างสมัยก่อนจะใช้เม็ดผักชีมาต้มกิน เพื่อช่วยระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลม ขณะเดียวกัน ยังนำมาดื่มเพื่อกระตุ้นน้ำนมด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในผักชีจะมีน้ำมันที่มีประโยชน์อย่างที่กล่าวมา แต่จะพบมากในเม็ดผักชีมากกว่าใบและราก”

โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสรรพคุณตามภูมิปัญญาของผักชี ดังนี้

  • ส่วนใบ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการกระหายน้ำ แก้อาการไอ แก้หวัด แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการอาหารเป็นพิษ ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • ส่วนผล ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น ช่วยละลายเสมหะ แก้อาการปวดฟัน ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร กระตุ้นต่อมในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพิ่มน้ำดีให้มากขึ้น ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ช่วยแก้อาการบิด ถ่ายเป็นเลือดช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก
  • ทั้งต้น ช่วยขับเหงื่อ ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร มีเลือดออก ช่วยแก้เด็กเป็นผื่นแดง ไฟลามทุ่ง ช่วยให้ผื่นหัดออกเร็วขึ้น
  • ส่วนราก ใช้เป็นน้ำกระสายยา ช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว ไข้อีดำอีแดง รักษาเหือดหิด อีสุกอีใส

และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำขนาดรับประทาน ดังนี้คือ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก รับประทานได้ในขนาดที่ใช้ประกอบอาหาร

จากบทความเรื่อง Cilantro (coriander): Health benefits, facts, research เขียนโดย คุณเมแกน แวร์ นักกำหนดอาหารและโภชนากร ประจำโรงพยาบาลฟอร์ลิดา โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผักชีช่วยป้องกันมะเร็ง โดยจากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Food Science อาหารประเภทเนื้อสัตว์ของคนเอเชีย พบว่ามีสารก่อมะเร็งสูง แต่เมื่อปรุงด้วยผักชี อาหารเมนูเดียวกันจะมีสารก่อมะเร็งลดลง

นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Plant Foods for Human Nutrition ผักชียังมีสารแคโรทีนอยด์ ประเภทเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ป้องกันมะเร็ง และช่วยสร้างเสริมระบบการทำงานของผิวหนัง

ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Journal of Medicinal Food พบว่าสารสกัดจากผักชี ช่วยลดการทำลายของรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากดวงอาทิตย์บนผิวหนังได้อีกด้วย

และจากคุณสมบัติเหล่านี้นี่เอง ที่ บ.ก. คิดว่า ทำให้เกิดกระแสการกินผักชี เพื่อชะลอวัยและเพื่อผิวสวย

อย่างไรก็ตาม จากทุกข้อมูลที่กล่าวถึงประโยชน์ ล้วนแล้วแต่กล่าวถึงข้อควรระวังของการกินผักชี ดังต่อไปนี้

ข้อควรระวังของการกินผักชี

  1. การกินน้ำผักชีมากเกินไป ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น นอกจากไม่ช่วยล้างไต (เพราะล้างไตคือการฟอกเลือด ที่จะต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์) ตามคำล่ำลือแล้ว ตรงกันข้าม การดื่มน้ำผักชีมากไป อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของไต เภสัชกรพินิต ชินสร้อยกล่าวว่า “กระแสข่าวลือที่บอกว่าน้ำผักชีช่วยการทำงานของไตนั้น เป็นน้ำผักชีฝรั่ง หรือเซเลอรี่ ซึ่งคนละประเภทกับผักชีที่ใช้ในบ้านเรา” โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า สัตว์ทดลองกินครั้งละ 10 กรัม ทำให้ไตทำงานมากเกินไป เนื่องจากผักชีมีสารที่ทำให้เกิดการตกผลึกในไต ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ประมาณโพแทสเซียมที่สูงเกินไป ก็มีผลต่อการขับของเสียของไต และการทำงานของระบบหลอดเลือดหัวใจด้วย
  2. ผู้หญิงมีครรภ์ควรบริโภคผักชีในอาหารเท่านั้น เพราะน้ำผักชี หรือผักชีในรูปแบบสารสกัด จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารจากผักชีมากเกินไป มีผลต่อการกลายพันธุ์ เกิดอันตรายต่อเด็กทารก
  3. ผักชีอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรือผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้การกินผักชีมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแพ้แสงอาทิตย์ได้
  4. การกินสารสกัดจากผักชี 200 มิลลิลิตร จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง โดยกินติดต่อกัน 7 วัน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการท้องเสีย ผิวไหม้ ประจำเดือนไม่มาตามปกติ และขาดน้ำ
  5. การกินผลผักชีทำให้เกิดการเสพติด และมีผลต่อเซลล์ตับ ทั้งนี้ผลผักชี เรียกอีกอย่างว่า ลูกผักชี
  6. ระวังเชื้อโรคท้องเสียที่อาจติดมากับผักชี เนื่องจากการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ในการเพาะปลูก

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ลีลาศบำบัด มะเร็งเต้านม

ชวนกิน 5 อาหารบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง ป้องกันโรค

6 โรคเสี่ยงจาก ฮอร์โมนเพศหญิงเกิน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.