การฝั่งเข็ม

ทำความรู้จักกับศาสตร์ “การฝั่งเข็ม”

“การฝังเข็ม” (Acupuncture)  เป็นหัตถการทางการแพทย์ของการแพทย์แผนจีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานนับพันปีแล้ว โดยใช้เข็มปักตามตำแหน่งจุดเฉพาะต่างๆ ของร่างกาย เพื่อปรับสมดุลร่างกาย ให้อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายกลับทำงานได้เป็นปกติ  

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO)  รับรองว่าการฝังเข็มเป็นวิธีที่สามารถรักษาโรคและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

“การฝังเข็ม” มีมาตั้งแต่ยุคหิน

จากหลักฐานทางโบราณคดียุคหินใหม่ ซึ่งขุดพบเข็มที่ฝนมาจากแท่งหิน รูปร่างต่าง ๆ เช่น เข็มกลม เข็มสามเหลี่ยม และเข็มรูปร่างคล้ายมีดสั้น แสดงให้เห็นว่า มีการฝังเข็มมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า  4 พันปีมาแล้ว

สันนิษฐานว่า การนำเข็มมาใช้รักษาโรค คงจะเกิดจากการสังเกตว่า ในยามเจ็บป่วยนั้นเมื่อกดนวด หรือใช้วัตถุแข็ง เช่น หิน กระดูก กิ่งไม้ กดแทงลงบนอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่รู้สึกเจ็บปวด หรือไม่สบาย แล้วทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นทุเลาลงได้

หลักฐานอีกเรื่องที่ยืนยันว่าการฝังเข็มมีมานานหลายพันปี คือการค้นพบ “Otzi” ซากศพมนุษย์ยุคปลายหินอายุกว่า 5,000 ปี  ซึ่งกลายเป็นมัมมีตามธรรมชาติเนื่องจากถูกรักษาไว้อย่างสมบูรณ์โดยธารน้ำแข็ง  เรื่องที่น่าสนใจสำหรับการแพทย์คือ  Otzi มีรูปรอยสักตามรอยเส้นลมปราณ(Meridian)บนร่างกายหลายจุด ทั้งรูปกางเขนด้านในเข่าซ้าย หกเส้นคู่ขนานเรียงเป็นแถวสองแถวบนหลังยาวประมาณ 6 นิ้ว และเส้นขนานหลายข้อบนข้อเท้าของเขา

รอยสักที่ปรากฏบนร่างกายของ “ Otzi” สันนิษฐานว่าอาจเป็นการฝังเข็มบางประเภท โดยใช้สมุนไพรที่มีสีในการฝังเข็ม ทำให้มีลักษณะคล้ายรอยสัก เมื่อตอกเข็มลงบนร่างกายแต่ละจุดก็จะทิ้งรอยกากบาทที่มีความหนา การตอกซ้ำๆ ย้ำๆ ในที่เดิม ๆ จึงถือเป็นการรักษา เพราะรู้จัก “ตำแหน่ง” หรือ “จุด” ที่กดนวด กดแทงแล้ว ทำให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงได้ 

ภายหลังจึงมีการประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับใช้กดแทงจุดโดยเฉพาะ จากการขุดพบหลุมฝังศพหลิมเซิ่ง ที่มณฑลเหอเป่ย ประเทศจีน มีหลักฐานยืนยันว่า เมื่อ 2,000 ปี ก่อน มีการประดิษฐ์เข็มที่ทำจากเงินและทองคำเพื่อนำมาใช้ฝังเข็มรักษาโรคแล้ว

ต่อมาหลังการสถาปนาก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1949 เป็นต้นมา  ทางการจีนฟื้นฟูวิชาฝังเข็ม และสนับสนุนให้ค้นคว้าวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่อย่างกว้างขวาง มีบทความวิจัยเกี่ยวกับวิชาฝังเข็มตีพิมพ์เผยแพร่มากกว่า 8,000 ชิ้น มีการค้นคิดเทคนิค จุดใหม่ๆ เพิ่มเติม ตลอดจนการประดิษฐ์เครื่องมือไฟฟ้า เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการฝังเข็ม ทำให้การฝังเข็มเกิดการยอมรับมีการตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการฝังเข็มโดยเฉพาะ

ปี ค.ศ.1972 หนึ่งในนักข่าวของ The New York Times เป็นไส้ติ่งอักเสบที่จีน แพทย์ฝังเข็มเพื่อลดอาการปวดก่อนการผ่าตัด ซึ่งเป็นการบล็อคเส้นประสาทโดยไม่ต้องดมยาสลบ จนการผ่าตัดสำเร็จลุล่วงด้วยดี ต่อมาทีมแพทย์จากอเมริกาบินไปศึกษาขั้นตอนการฝังเข็มว่าหยุดอาการปวดโดยไม่ต้องใช้ยาสลบได้อย่างไร  วิธีนี้คนไข้จะรู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัดทุกอย่าง แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด  มักเลือกใช้กับคนไข้ที่แพ้ยาสลบ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กๆ ที่ไม่สามารถดมยาสลบเพราะอาจจะไม่ฟื้น

ฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง

องค์การอนามัยโลก (WHO)  รับรองและระบุโรคที่สามารถรักษาด้วยการฝังเข็มซึ่งได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษได้แก่   อาการปวดต้นคอเรื้อรัง หัวไหล่ ข้อศอก สันหลัง ปวดเอว ปวดหัวเข่า ปวดจากโรครูมาตอยด์ ปวดจากการเคล็ดขัดยอก ปวดประจำเดือน ปวดนิ่วในถุงน้ำดี ปวดศีรษะซึ่งมีสาเหตุมาจากความเครียด ปวดเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ ปวดเส้นประสาท หรือปวดเส้นประสาทบนใบหน้า ปวดหลัง การผ่าตัด ปวดไมเกรน อาการซึมเศร้า รวมถึงโรคทั่วไป ได้แก่ อัมพฤกษ์ และผลข้างเคียงหลังจากป่วยด้วยโรคทางสมอง ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ภูมิแพ้ หอบหืด นอนไม่หลับ

ที่มา : นิตยสารชีวจิต


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.