ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่าธรรมชาติและมนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรมชาติจะมีปี ฤดูกาล และเวลาที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับวัฎจักรการทำงานของร่างกายมนุษย์ ในร่างกายจะประกอบด้วยเส้นลมปราณหลัก 12 เส้น แต่ละเส้นเชื่อมโยงกับอวัยวะและการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่ตอยอยู่เวรยามในแต่ละช่วงเวลาของวัน เพื่อช่วยกันควบคุมการไหลเวียนของซี่และเลือดที่โดจรไปยังเส้นลมปราณเชื่อมถึงอวัยวะต่างๆ
เคล็ดลับของแพทย์แผนจีนในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็คือ การเข้าใจกฎเกณฑ์ “นาฬิกาชีวิต” รู้จักปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับโมงยามการทำงานอันเที่ยงตรงของอวัยวะทั่วร่างกายตามหลักหย่างเชิงจะแบ่งเวลาใน 1 วันออกเป็น 12 ชั่วโมง โดย 1 ชั่วยามจะเท่ากับ 2 ชั่วโมง
หมอจีนแนะนำให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตาม “นาฬิกาชีวิต” อันเป็นเคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
ยามจื่อ ช่วงเวลา 23.00 น. – 1.00 น.
คือเวลาเข้านอน นาทีทองของฤงน้ำดี เส้นลมปราณของถุงน้ำดีจะทำหน้าที่เก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก ช่วงเวลานี้ไขกระดูกจะเริ่มสร้างเลือดและซ่อมแซมร่างกาย จะนั้นจึงเป็นเวลาที่ควรพักผ่อนนอนหลับ หากนอนหลับเต็มที่ในยามจื่อจะช่วยให้เส้นลมปราณของถุงน้ำดีมีพลังตื่นนอนมากระปรี้กระเปรา ใครนอนดึกจนเลยยามจื่อมักปวดศีรษะ มึนงงง่าย คิดมาก ขี้กังวล และนอนไม่หลับ
ยามโฉ่ว ช่วงเวลา 1.00 น.- 3.00 น.
ต้องหลับให้สนิท เพิ่มพลังชี่ของตับ เส้นลมปราณของตับจะทำหน้าที่กำจัดสารพิษในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากนอนหลับได้สนิท เลือดจะไหลเวียนมาที่ตับช่วยเพิ่มพลังชี่ของตับให้กำจัดพิษอย่างมีประสิทธิภาพ ยามโฉ่วหากใครไม่เข้านอนจะเสี่ยงเป็นโรคตับ สีหน้าหมองคล้ำ เกิดกระจุดด่างดำ อารมณ์ร้อนและโกรธง่าย
ยามอิ่น ช่วงเวลา 3.00 น. – 5.00 น.
ปอดเปิดรับพลังบริสุทธิ์ ปอดเป็นศูนย์รวมหลอดเลือดนับร้อยและเป็นจุดแลกเปลี่ยนของออกซิเจน โดยจะส่งออกซิเจนไปเลี้ยงทั่วร่างกายและเซลล์ต่างๆ หากใครหลับลึกไม่ตื่นกลางดึกจะทำให้ใบหน้าสดใส มีเลือดฝาด และสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
ยามเหม่า ช่วงเวลา 5.00 น. – 7.00 น.
เวลาของลำไส้ใหญ่ ควรดื่มน้ำอุ่นช่วยชับถ่ายอุจจาระ เป็นช่วงเวลาที่ควรตื่นนอนเพื่อขับถ่ายของเสียให้หมด ไม่ปล่อยให้สารพิษสะสมในร่างกาย
ยามเฉิน ช่วงเวลา 7.00 น. -9.00 น.
เวลาของอาหารเช้า มื้อเช้าสำคัญที่สุด เพราะบำรุงและปกป้องพลังชี่ของกระเพาะอาหาร ช่วยเติมพลังงานให้สมองและหัวใจได้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย ป้องกันจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน คนไม่กินอาหารเช้าจะอ่อนเพลียและขี้หลงขี้ลืม
ยามซื่อ ช่วงเวลา 9.00 น. – 11.00 น.
ขยับตัวน้อยๆ ให้ม้ามทำหน้าที่กระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะต่างๆเป็นช่วงเวลาเหมาะแก่การทำงานทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ไม่ควรเคลื่อนไหวเยอะหรือออกกำลังกายหนัก
ยามอู่ ช่วงเวลา 11.00 น. – 13.00 น.
งีบกลางวันบำรุงหัวใจ ควรงีบกลางวัน 30 นาที เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พัก ตื่นมาพร้อมลุยต่อด้วยความสดชื่นกว่าเดิม
ยามเว่ย ช่วงเวลา 13.00 น. – 15.00 น.
เป็นเวลาย่อยและดูดซึมสารอาหารของลำไส้ จึงไม่ควรกินมื้อเที่ยงเกินบ่ายโมง
ยามเชิน ช่วงเวลา 15.00 น. – 17.00 น.
ดื่มน้ำเพิ่มพลังชี่ของกระเพาะปัสสาวะ ช่วงห้าโมงเย็นเป็นเวลาที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายแข็งแรงที่สุด จึงเหมาะแก่การออกกำลังกาย แต่ไม่ควรหักโหมเกินไป เพราะจะนอนไม่หลับตอนกลางคืน
ยามโหย่ว ช่วงเวลา 17.00 น. – 19.00 น.
เวลาทำงานของไต หลีกเสี่ยงอาหารเค็ม ช่วงเวลานี้สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตและความสามารถในการสืบพันธุ์
ยามซวี ช่วงเวลา 19.00 น. – 21.00 น.
ต้องอารมณ์ดี เอาใจเยื่อหุ้มหัวใจ เหมาะแก่การผ่อนคลาย ฟังเพลง และอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมตัวเข้านอน ช่วงเวลานี้เส้นลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นประสาทสมองจะทำงานได้ดีที่สุด
ยามไฮ่ ช่วงเวลา 21.00 น. – 23.00 น.
ทำร่างกายให้อบอุ่น เตรียมนอนพักผ่อน เปิดทางให้อวัยวะสำคัญๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร ม้าม ตับ กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก ได้ชาร์จแบตเพื่อเพิ่มพลังซี่และเลือดให้ไหลเวียนสะดวกทั่วร่างกาย แช่น้ำอุ่น 20 นาที รับรองหลับสบาย
ที่มา นิตยสารชีวจิต
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- ปรับนาฬิกาชีวิต พิชิตอ้วน
- ปรับสมดุลอย่างรื่นรมย์ กับชาธาตุเจ้าเรือน
- รู้หรือไม่ ฮอร์โมนไม่สมดุล ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
- รู้จัก 8 8 8 จัดชีวิตให้สมดุล