ไบโพลาร์ อารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
ช่วงนี้เห็นจะไม่ละครเรื่องเป็นกระแสไปมากกว่าละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่ต่อยอดความนิยมจากเรื่องบุพเพสันนิวาส ถึงแม้เรื่องราวจะเป็นการข้ามภพ ข้ามเวลา แต่ก็มีตัวละครหนึ่งที่แอดว่าน่าสนใจมากๆ นั่นก็คือ แม่กลิ่น ตัวร้ายของเรื่องที่เที่ยวแว๊ดๆ เก่งเหลือเกิน แต่แอดดูแล้วชักอดสงสัยไม่ได้ว่า หรือแม่กลิ่น จะเป็นไบโพลาร์ หนอออเจ้า?
แอดขอเท้าความสักหน่อยถึงตัวละครแม่กลิ่น สำหรับคนที่ไม่ใช่คอละคร แม่กลิ่น เป็นหญิงสาวหลานของยายกุยเจ้าของที่ที่ให้แม่พุดตาน (นางเอกของเรื่อง) อาศัยอยู่ แม่กลิ่นอยู่ๆ ก็เกิดอาการเกลียดขี้หน้าแม่พุดตานแบบไม่มีปี่ ไม่มีขลุ่ย ร้ายใส่เขา ทำลายแปลงผัก และอีกสารพัด แล้วก็มานั่งร้องไห้ น้อยใจยายไม่รัก แต่ถึงอย่างนั้นรอมแพง ผู้แต่งนวนิยายก็ได้อธิบายที่มา ที่ไป เหตุผลอยู่นะ ว่าทำไมแม่กลิ่นถึงจงเกลียด จงชังนางเอก ใครอยากรู้ ป้ายแทบไฮไลต์เลย แอดมีสปอยไว้ให้
นั่นก็เพราะว่า ในอดีตชาติ แม่กลิ่นเคยถูกแม่พุดตาลคว่ำเรือ จนจมน้ำตายยังไงละ เลยเป็นที่มาของการเกลียดแต่แรกพบ และแม่กลิ่นก็คือเจ้ากรรมนายเวรของนางเอก
ตอนแรกแอดก็ว่าตามละคร แต่พอถึงตอนล่าสุด แม่กลิ่นให้การสารภาพในยามเหยียบย่ำแปลงผัก
“ข้าไม่รู้ตัวอันใดเจ้าค่ะ เหมือนมีคนมาจับมือข้าให้ดึง ให้ทึ้ง จับตีนข้าให้ย่ำเหยียบ ข้าพยายามหยุดแล้วนะเจ้าคะ แต่หยุดไม่ได้เจ้าค่ะ แรงบีบมากเกินกว่าที่ข้าจะขัดขืน”
“ข้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ กับอารมณ์เศร้าผิดปกติ บางทีข้าก็ร้องไห้ออกมาเฉยๆ เจ้าค่ะ”
ที่มา : ละคร พรหมลิขิต
ถึงแม้ในแม่กลิ่นสาวอยุธยาตอนปลายจะบอกว่าเป็นเรื่องของมนต์ดำ แต่แอดในฐานะสาวรัตนโกสินทร์ปี 66 กลับคิดว่าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองหนาออเจ้า แถมเป็น ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เพราะอะไรน่ะหรือ ไปดูกันเถิดหนา
ไบโพลาร์เหมือนซึมเศร้า?
ไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคที่หลายคนสับสนกับโรคซึมเศร้าอยู่มาก เพราะเหมือนจะมีอารมณ์ช่วงซึมเศร้าที่เหมือนๆ กัน แต่ความจริงแล้ว แตกต่างกันค่ะ เพราะอย่างที่ชื่อโรคบอกเลย ไบโพลาร์ มีอารมณ์ 2 ขั้วเกิดขึ้น ช่วงอารมณ์ดิ่ง กับช่วงอารมณ์ขึ้น แต่ทั้งสองโรคก็เกิดจากความผิดปกติของเคมีในสมองเหมือนกัน
ไบโพลาร์ นับเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่เกิดจากเคมีในสมองไม่สมดุลกัน มีความผิดปกติตรงที่ เดี๋ยวซึมเศร้า เดี๋ยวแอคทีฟ บางครั้งก็อาจจะก้าวร้าว ไม่ใช่อาการเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
อ่ะ แบบนี้ก็เข้าเค้าแม่กลิ่นอยู่นะ เพราะว่านางออกจะก้าวร้าว และมีช่วงเศร้าๆ และนางก็ไม่ใช่สายเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เพราะร้ายคงเส้น คงวาเลยล่ะ
ไบโพลาร์คือ
ไบโพลาร์ อย่างที่บอกว่าเป็นอาการที่เกิดสารเคมีในสมองไม่สมดุล นั่นก็คือสารสื่อประสาท 3 ตัว ได้แก่
- นอร์เอพิเนฟริน ทำให้ตื่นตัว ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า พบว่ามีนอร์เอพิเนฟรินต่ำกว่าปกติ แต่ในผู้ที่มีอาการคลุ้มคลั่ง จะพบสารตัวนี้สูงกว่าปกติ
- เซโรโทนิน ในสมองและระบบประสาท ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์สงบ และความสุข ระงับความก้าวร้าว ในผู้ที่มีอาการก้าวร้าวจะพบสารตัวนี้ต่ำกว่าปกติ
- โดพามีน เป็นสารแห่งความสุข ความดีใจ อารมณ์ในแง่บวก และในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านสภาวะอารมณ์อาจพบสารตัวต่ำกว่าปกติ
เมื่อสารเคมีสำคัญทั้ง 3 ตัวในสมองไม่สมดุลกัน ในบางจังหวะอาจมีบางตัวมากเกินไป หรือน้อยเกินไป จึงส่งผลให้เกิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้วนั่นเอง
ไปบอกแม่กลิ่นดีไหมนะ ว่าออเจ้าไม่ได้โดนมนต์ดำ แต่สารเคมีไม่สมดุลกัน
ทั้งนี้ แพทย์หญิงพรทิพย์ ศรีโสภิต ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่า เป็นโรคที่ยากจะคาดเดาได้ว่า จะออกมาในรูปแบบใด อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ จึงต้องอาศัยความเข้าใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก
นั่นไง! ยายกุยไม่เข้าใจแม่กลิ่น จับมาเฆี่ยน บางก็ว่า ด่า ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้ยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งนี้มีข้อมูลว่า แม้โรคไบโพลาร์จะเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่มาจากสิ่งแวดล้อม แรงกดดันต่างๆ แต่ก็มีงานวิจัยยืนยันว่า หากมีญาติที่เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 8เท่า!
อาการของไบโพลาร์
สำหรับอาการของไบโพลาร์จะแบ่งเป็น 2 ขั้วอารมณ์ คือช่วงอารมณ์ขึ้น (แสดงออกได้หลายแบบ บางคนอาจจะแอคทีฟมากกว่าปกติ บางคนอารมณ์ดี ส่วนบางคนอาจจะเป็นกริยาก้าวร้าว รุนแรง) กับช่วงอารมณ์ดิ่ง (หรืออารมณ์ซึมเศร้า) โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และบางครั้งอาจคงอยู่ได้นานเป็นเดือน หรือสัปดาห์จนไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ
อารมณ์ขึ้น (Manic Episode) มีการแสดงออกได้หลากหลายรูปแบบ คือ
- เชื่อมั่นในตนเองมาก
- ไม่หลับ ไม่นอน
- พูดมากกว่าปกติ
- คิดเร็ว ทำเร็ว
- ไม่มีสมาธิ
- กระสับกระส่าย สรรหากิจกรรมต่างๆ ทำ
อารมณ์ดิ่ง (Depressive Episode) มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า
- ความต้องการอาหารผิดปกติ อาจมากหรือน้อยลง
- การนอนหลับผิดปกติ อาจนอนมากหรือน้อยลง
- กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้ามากขึ้น
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- รู้สึกผิดที่มากผิดปกติ
- สมาธิแย่ลง หรือตัดสินใจอะไรได้ยากขึ้น
และเพราะในช่วงอารมณ์ดิ่งนี้เองที่มีลักษณะคล้ายโรคซึมเศร้า จึงทำให้โรคไบโพลาร์มีความน่ากลัวคือ เป็นโรคที่หากไม่สังเกต อาจไม่เห็นความผิดปกติ เพราะมีทั้งช่วงที่กระรือร้นเหมือนคนทั่วไป และช่วงที่ซึมเศร้า จึงทำให้อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยไม่มีสัญญาณบอกเหตุให้รู้ล่วงหน้า หรือแม้แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังป่วยอยู่!
การรักษาไบโพลาร์
นับเป็นข่าวดีอย่างหนึ่งคือ ในปัจจุบันมียาที่มีประสิทธิภาพสูง รักษาอาการได้ (ไม่ต้องแก้มนต์ดำอย่างที่แม่กลิ่นกังวล) แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้ป่วย และคนรอบข้างใกล้ชิด โดยยาจะเข้าไปปรับสมดุลเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ แต่ก็อาจมีบางรายที่อาจต้องเข้าทำจิตบำบัด เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการรักษานานประมาณ 6 เดือน – 2 ปี
สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามที่จิตแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุด หรือปรับลด เพิ่มยาเองโดยเด็ดขาด รวมถึงไปตามนัดทุกครั้งแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะไม่อย่างนั้นอาจทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ และอาจนำไปสู่การสูญเสีย
การดูแลผู้ที่เป็นไบโพลาร์ สำหรับญาติและคนรอบข้าง
โรคที่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์เช่นนี้ การดูแลใส่ใจจากคนรอบข้างมีความสำคัญอย่างมากเลยค่ะ โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำ 4 ข้อห้าม ที่ผู้ใกล้ชิดห้ามทำเด็ดขาด คือ
1.ใช้อารมณ์กับผู้ป่วย
2.ทะเลาะ ขัดแย้งกับผู้ป่วย
3.ควบคุม จัดการชีวิตผู้ป่วย
4.ไม่ยอมรับในตัวผู้ป่วย
ส่วนที่ต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้รักษาหายจากโรคไบโพลาร์ คือ
- ดูแล เอาใจใส่
- ทำความเข้าใจกับโรค
- ให้กำลังใจ
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อะเฟเซีย ภาวะสมองเสื่อม เสียการสื่อความ ของ บรูซ วิลลิส
10 สารอาหาร ห่างไกล โรคซึมเศร้า แค่กินเป็น ก็มีความสุข
ซึมเศร้า เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
ที่มาข้อมูล
- สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
- RAMA CHANNEAL
- กรมสุขภาพจิต
- โรงพยาบาลพระราม 9
- โรงพยาบาลเปาโล
ที่มารูป ละครพรหมลิขิต